กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ขวัญข้าว ขวัญชีวิต

วันที่ 30 ต.ค. 2562
 
เรื่อง : ฮ. ศุภวุฒิ, ธีรภาพ โลหิตกุล
ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล, อภินันท์ บัวหภักดี, เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวง์
 
 
ขวัญข้าว ขวัญชีวิต
 
 
     แม่โพสพ ...องค์เทวีผู้เป็นที่เคารพบูชาทั่วถิ่นเอเชียอาคเนย์ และเทวีผู้มีนามเรียกขานมากมายอย่าง ย่าขวัญข้าว ของชาวไทลื้อ ภี่บือโหย่ ของชาวกะเหรี่ยง มะฮียัง ของชาวมลายู หรือ เทวีศรี ของชาวเกาะชวา แม้ว่า นามเรียกขานเหล่านั้นจะแตกต่างกัน แต่ทุกแคว้นแดนทั้งหลายนี้ต่างล้วนมี พิธีบูชาแม่โพสพ เป็นการทำขวัญให้การปลูกข้าวพืชเศรษฐกิจหลักที่ให้ทั้งเลือดเนื้อและชีวิตแก่ผองชนทั้งหลายให้สำเร็จผลเจริญงอกงามสมบูรณ์พูนสุข เช่นเดียวกัน
 
     กำเนิดอารยธรรมข้าว
     จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า แหล่งปลูกข้าวเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่บริเวณตอนใต้แม่น้ำแยงซีเกียง สาธารณรัฐประชาชนจีน พื้นที่ตรงนี้เรียกว่า เนินอี้ฉาน (คางคกหยก) ตั้งอยู่ที่มณฑลเหอหนาน ทั้งยังพบการใช้เครื่องปั้นดินเผา ในการประกอบอาหาร จากการศึกษาพบว่ามีความเก่าแก่ถึง ๑๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
 
     การปลูกข้าวได้แพร่หลายอย่างมากในจีนทางใต้ โดยเฉพาะทางแถบแม่น้ำจูกัง (จูเจียง) อันเป็นสายน้ำแตกแขนงจากมณฑลยูนนาน เข้าสู่มณฑลกวางสี กวางตุ้ง และประเทศเวียดนาม ชนเผ่าสองกลุ่มที่อยู่ในดินแดนแถบนี้ในยุคโบราณ คือ เผ่าจ้วง และเผ่าไท มีคติความเชื่อคล้ายกันว่า กบ คือ ตัวแทนความชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์ ดังชาวจ้วงมีเทศกาลมะก่วย (ชื่อเรียกกบในภาษาจ้วง) ผู้คนจะแต่งกายเป็นกบร่วมเต้นระบำกบ เพื่อให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล แม้แต่ ชาวจีนแถบมณฑลฮกเกี้ยนเอง ปัจจุบันก็ยังคงมี เทศกาลกบเขียว นำกบมาบูชาในฤดูฝน
 
     ความเชื่อเรื่องสัตว์จำพวกกบนี้เองที่มาแพร่หลายในแผ่นดินไทยด้วย ดังปรากฏในตำนานพญาคันคากขอฝนของทางภาคอีสาน หรือภาพวาดกบกระโดดข้างๆ ผู้คนในถ้ำประทุน เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น ถ้ำประทุน เขาปลาร้านี้ ยังมีภาพวาดสุนัขกับคน สุนัข ก็เป็นสัตว์ที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับข้าว ดังปรากฏตำนานหมาเก้าหางนำข้าวมาสู่มวลมนุษย์ งานวิจัยของซัตเตอร์และออสทรานเดอร์ (ปี ๒๐๐๔) ระบุว่า สุนัขบ้านเป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์นำไปด้วยเมื่อมีการเดินทางหรือย้ายถิ่นฐาน จึงสันนิษฐานว่า มนุษย์ในอดีตน่าจะเริ่มใช้สุนัขมาช่วยในสังคมปศุสัตว์
 
     แล้วบทบาทของสุนัขก็เปลี่ยนแปลงไป จากสัตว์ใช้งานกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถือแม่โพสพ เมื่อความอุดมสมบูรณ์หรือแห้งแล้งเป็นสิ่งที่เกินกว่าอำนาจสัตว์สี่เท้าที่คนควบคุมสั่งการได้ จึงเกิดผีเจ้าถิ่นเพศหญิงมารับหน้าที่แทน ด้วยเห็นว่าข้าวพร้อมพูน ออกรวงอร่าม ละม้ายผู้หญิงที่มีพลังแห่งการถือกำเนิด พลังนี้มีอำนาจมากในสังคมเกษตรกรรม เพราะเป็นพลังที่จำเป็นต่อความอยู่รอดในธรรมชาติที่ไม่อาจคาดหมาย
 
     จากผีเจ้าถิ่น สู่เทพเจ้าแห่งข้าว
     ก่อนที่ชาวภูมิภาคอาเซียนจะหันมานับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธ พวกเขานับถือผีมาก่อน การนับถือผีทำให้เกิดความเชื่อว่า ทุกถิ่นที่มีผีศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่น หรือมีเจ้าที่เจ้าทาง ดังนั้นจึงต้องมีพิธีบูชาผีผู้ดูแลที่ทางเหล่านั้น ผีนา เรียกว่า ผีเสื้อนา และผีน้ำ ก็เรียกกันว่า ผีเสื้อน้ำ เมื่อศาสนาพราหมณ์เผยแพร่มาสู่ภูมิภาคอาคเนย์ จึงได้ผนวกเอาความเชื่อของตนผนวกเข้ากับความเชื่อชาวพื้นเมือง โดยจัดผีเจ้าถิ่นอย่างผีเสื้อน้ำเป็นรากษสจำพวกหนึ่ง
 
     ชาวไทยรู้จักคำว่า อสูร และยักษ์ จำแนกเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเทวดา แต่ยากจะจำแนกออกระหว่างอสูรและยักษ์ ชาวอินเดียจำแนกอสูรและยักษ์ออกเป็นคนละพวกกันเนื่องจากมีบรรพบุรุษต่างสายกัน อสูรนั้นเดิมเป็นเทวดาปกครองสวรรค์เป็นพวกแรก มี ๒ กลุ่มคือ แทตย์ (दैत्‍य) กับ ทานพ (दानव) โดยกำเนิดมาจากพระกัศยปประชาบดีองค์เดียวกัน แต่แทตย์มีแม่คือ นางทิติ ส่วนทานพมีแม่คือ นางทนุ
 
     ส่วนพวกยักษ์ ก็มี ๒ พวกเช่นกันคือ ยักษ์ (दानव) กับ รากษส (อ่านว่า ราก-สด) หรือ รักษะสะ (राक्षस) เกิดจากพ่อเดียวกันคือ เทพฤษีวิศราวัส โดยยักษ์มีแม่คือนางวรรณี ส่วนรากษสมีแม่คือ นางรัชฏา
 
     พวกรากษส นี้ตอนเกิดมาร้องว่า กระหาย เหตุนี้พระพรหมจึงให้ปกครองถิ่นน้ำและที่ชื้น เลยเป็นที่มาของคำว่า "รักษา” ดังนั้นการใช้คำว่า "รักษ์น้ำ” จึงนับว่าเป็นการใช้คำที่ถูกกับความอย่างยิ่ง
 
     ขณะที่ผีเสื้อน้ำถูกจัดเป็นรากษส ผีเสื้อนากลับได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทพดังได้เป็น เจ้าแม่โพสพ อันเป็นปางหนึ่งของพระนางลักษมี ชายาขององค์พระวิษณุ
 
     มีตำนานเกี่ยวกับที่มาของขวัญข้าวหลายเรื่อง แต่มีสารัตถะคล้ายกันคือ แต่ก่อนข้าวมีชีวิตเหมือนคน บินไปมาได้ เมล็ดโตเป็นร้อยเท่าของปัจจุบัน เมื่อมนุษย์ทำดี ข้าวจะบินเข้าเล้าเข้ายุ้งเอง คนไม่ต้องปลูก แค่ใช้มีดผ่าเอาเมล็ดข้าวมาหุงกินเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่งมนุษย์ทำยุ้งไม่เสร็จ ข้าวก็บินเข้ายุ้ง ทำให้มนุษย์โมโหหยิบไม้มาตีข้าวแตกกระจาย ข้าวตกใจและโกรธมากจึงพากันบินเข้าป่าขึ้นเขาไป เหล่ามนุษย์ไม่มีข้าวกิน จึงอยากขอขมาข้าว ลำบาก เทวดา และฤาษี ต้องไปช่วยอ้อนวอนแม่โพสพจนใจอ่อน จึงสอนการปลูกข้าวและวิธีดูแลต่างๆ แก่มนุษย์ ในกาลต่อมาจึงมีการทำขวัญข้าวสืบมานับแต่นั้น
 
 
     ขวัญศรีแม่โพสพ วัฏจักรแห่งชีวิต
     จากการนับถือผีของชาวสุวรรณภูมิ จึงเกิดความเชื่อเรื่อง "ขวัญ” ขึ้น ขวัญ เป็นความเชื่อร่วมกันในหมู่ชาวไทยทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงชนชาติอื่นในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย แต่เดิมนั้นเชื่อว่า ขวัญ คือ องคาพยพหนึ่งของร่างกาย ดำรงอยู่ในแต่ละคนตั้งแต่ถือกำเนิด ขวัญ มีรูปร่างแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ขวัญ จะคงอยู่ แม้คนตายไปแล้ว โดยจะล่องลอยอยู่ในเรือนคอยปกปักษ์ลูกหลาน และขวัญ ก็หลุดออกจากร่างได้หากมีแรงกระทบที่เพียงพอ จากความเชื่อดังกล่าวจึงเกิดพิธีทำขวัญขึ้น
 
     ขวัญไม่เพียงดำรงอยู่ในตัวคน แต่ยังดำรงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เมื่อแม่โพสพเป็นองค์เทวีผู้มีพลังแห่งการถือกำเนิดการทำขวัญ จึงถอดแบบจากพิธีทำขวัญมนุษย์
 
     การทำขวัญข้าวนี้ จัดขึ้นแม้ในระดับพระราชพิธี ดังเห็นได้จากพระราชพิธีแรกนาขวัญที่นับว่าเป็น "การทำขวัญชาวนา” อย่างหนึ่ง เป็นประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมอบขวัญกำลังใจแก่ชาวนาในทุกปี และเมล็ดข้าวที่เปรียบได้ดั่งบุตรแม่โพสพจากวังหลวง จึงเป็นสิ่งที่ชาวนาคาดหวังว่าจะนำมาเป็นของสูงแห่งผืนนา ชาวนาจึงนับว่ามีภาระหน้าที่อันทรงเกียรติ คือ เป็นผู้นำเมล็ดข้าวหลวงจากพระราชวังออกไปเจริญเติบโตในแปลงนาของตน ข้าวต้องอาศัยน้ำฝนจึงเติบโต หากบางปีที่ฝนแล้ง ราชสำนักในสมัยก่อนจะจัดพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อขอฝน เรียกขวัญให้แก่ชาวนาอีกอย่างหนึ่ง ถือน้ำฝนต่างน้ำนมจากฟากฟ้าหล่อเลี้ยงข้าวให้เติบโต จะเห็นได้ว่า การทำขวัญข้าวแม้มีตำนานที่มาเป็นการขอขมาแม่โพสพ แต่พิธีทำขวัญข้าวของชาวนากลับกำหนดวาระด้วยช่วงเวลาการเจริญเติบโตของข้าว และมีความหมายลึกซึ้งกว่าการขอขมาเพียงอย่างเดียวนั่นคือ การทำขวัญข้าวนั้นเป็นกระบวนการดูแลตั้งแต่ข้าวเป็นเด็กกระทั่งเติบใหญ่ไปเลยทีเดียว
 
     วิวาห์ชูชื่นแม่โพสพ
     เมล็ดข้าวเสมือนทารกที่ชาวนาจะประคบประหงมจนเป็นต้นกล้า เมื่อต้นกล้าโต จึงนำมาดำนา ในตอนที่ดำนานี้ ถือว่าข้าวเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ชาวไทดำเรียกข้าวในช่วงนี้ว่า "ข้าวขึ้นสาว” ตรงนี้เปรียบแล้วก็เหมือนพิธีโกนจุกของชาวไทยที่จัดขึ้นเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
 
     ช่วงปักดำทำนาจึงมีการทำขวัญ เปรียบเสมือนการจัดงานสมรสให้ต้นกล้าที่โตเป็นสาว พร้อมเป็นแม่คลอดรวงทองอร่ามทั่วท้องทุ่ง การทำขวัญช่วงแรกนานี้มักเป็นที่นิยมมากในชาวนาทางภาคเหนือ ชาวนาอย่างกลุ่มไทดำเมื่อดำนาได้ ๑๐ วัน เมื่อข้าวขึ้นสาว จะนำพืชเรียกว่า ต้นชู้ข้าว มาปลูกที่คันนา ต้นนี้มีสีดอกชมพู ชาวไทเรียกสีนี้ว่า สีติ๋ม และถือว่าต้นชู้ข้าวเป็นคู่รักของข้าว เมื่อปลูกต้นข้าวจะดีใจให้ผลมาก
 
     ชาวเหนือมีการฮ้องขวัญหรือเฮียกขวัญ ซึ่งก็คือพิธีเรียกขวัญ สำหรับการสู่ขวัญข้าวเรียกกันว่า "ฮ้องขวัญนา” อาจทำในช่วงเริ่มปักดำทำนา ดังที่เรียกกันว่า แฮกนา กับการหาบข้าวขึ้นหลอง (ยุ้งข้าว)
 
     ก่อนการแฮกนา อาจมีการแห่นางแมว แห่ปลา โดยเป็นปลาตะเพียนแกะสลักสองตัว โดยจะแห่ไปลานวัดเพื่อนิมนต์พระสงฆ์และฟังธรรมปลาจ้อน (ปลาช่อน) เมื่อแฮกนาจึงจัดปะรำพิธีกลางนา นำกระทงเครื่องคาวหวาน ปักตาเหลว สักการะเทวาอารักษ์ ผีทุ่ง ผีท่า ผีนา แม่โพสพ โดยมีคนอ่านโองการฮ้องขวัญนาและถวายเครื่องบวงสรวง เป็นต้น
 
 
     ปักเฉลว ผดุงครรภ์
     เมื่อข้าวขึ้นสาว ได้ปักดำทำนาจนข้าวเริ่มออกรวง ช่วงนี้คือ ช่วงข้าวตั้งท้อง เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ในช่วงนี้แกนโลกซีกใต้หันเข้าหาพระอาทิตย์ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์จากทางใต้ ผิดจากตะวันช่วงอื่นในรอบปี คนโบราณเชื่อว่า พระอาทิตย์โคจรอ้อมเพื่อเป็นการไม่รบกวนข้ามศีรษะแม่โพสพที่กำลังตั้งท้อง จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ตะวันอ้อมข้าว”
 
     ช่วงข้าวตั้งท้องนี้ ชาวนาทางภาคกลางจะนิยมจัดพิธีขวัญข้าวมากกว่าภาคอื่นๆ การทำขวัญข้าวชาวภาคกลางในช่วงข้าวตั้งท้อง ไม่ได้มีเพียงการกล่าวบททำขวัญ แต่ยังมีของถวายที่น่าสนใจอีกด้วย ด้วยเหตุที่คนภาคกลางเชื่อว่า เมื่อแม่โพสพตั้งท้อง จึงต้องจัดพิธีเป็นการเอาอกเอาใจประคบประหงมดั่งหญิงสาวที่ตั้งท้อง ตั้งแต่จัดแจงหาข้าวปลาอาหารของบำรุงมาถวาย จนกระทั่งการหาน้ำอบ น้ำหอมมาประพรมให้ รวมถึงหาเสื้อผ้ามาแต่งตัว หาหวี กระจก เครื่องประทินโฉมต่างๆ โดยชาวนาจะปักเสาไม้สะแกแล้วเอาของถวายนี้ใส่ในชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้แม่โพสพแต่งตัว ทั้งยังปักสิ่งที่เรียกว่า "เฉลว หรือ ตาเหลว” เป็นก้านไม้ไผ่ตอกจักสานเป็นแฉกๆ โดยใช้เป็นเครื่องบ่งบอกเขตแดน บอกให้รู้ว่า เขตแดนแห่งนี้เป็นที่นาของใคร ในอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงการปักบอกให้รู้ว่าเขตนี้กำลังบำรุงครรภ์แม่โพสพ การทำขวัญในช่วงนี้เพื่อให้แม่โพสพมีขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวไม่ตื่นตระหนก ข้าวที่ออกรวงจะได้อุดมสมบูรณ์
 
     คมเคียวเกี่ยวสายรกแห่งธรณี
     เมื่อข้าวออกรวงก็ถึงคราวเก็บเกี่ยว รวงข้าวเสมือนแม่โพสพที่ท้องแก่มากแล้ว ถึงเวลาต้องคลอด ในตอนนี้จะมีการทำขวัญเกี่ยวข้าวซึ่งทางภาคใต้มีความโดดเด่นอย่างมาก เปรียบได้กับการทำขวัญวัน หรือขวัญแรกเกิด ที่จัดขึ้นเพื่อให้ทารกคลอดออกมาปลอดภัย
 
     วันที่เก็บเกี่ยว ชาวนาทางใต้จะให้หมอขวัญเลือกวันมงคลเพื่อทำพิธีผูกข้าวหรือรวบขวัญข้าว พิธีนี้มีจุดเด่นคือ การรวบต้นข้าวมาผูก และสวดแหล่เพื่อเชิญแม่โพสพมา "ปังหรัง” ซึ่งหมายถึงการผูกขวัญแม่โพสพ ไม่ให้ไปไหน คอยอยู่คุ้มครองข้าวและเจ้าของนาให้ปลอดภัย จากนั้นจึงเกี่ยวข้าว โดยจะเก็บข้าวที่ผูกไว้ตอนรวบขวัญให้ได้ ๓ เลียง จากนั้นจะเริ่มเก็บเกี่ยวกันจริงๆ โดยข้าวจะผูกเป็นเลียงเพื่อจะได้ใส่ "แสก” (สาแหรก) หาบกลับบ้าน ชาวใต้จะเก็บข้าวเปลือกที่เกี่ยวไว้เป็นเลียง ไม่นวดจนกว่าจะนำมากินหรือขาย เปรียบกับหมอตำแยใช้มีดตัดสายรก ชาวนาก็ใช้เคียวต่างมีด รวบลำต้นต่างสายรก คมกรีดรวงทองกองเลียงนั้นคือ เหล่าลูกน้อยของแม่โพสพ
 
      พิธีขวัญข้าวของชาวใต้ มีเอกลักษณ์ที่การเกี่ยวข้าว เห็นได้จากอุปกรณ์เกี่ยวข้าวที่มีรูปร่างโดดเด่นเฉพาะตัว อย่าง แกะ (แกระ) และกรูด (เคียวหางไหล) นั้นเอง
 
     แกระ หรือ แกะ คือเครื่องมือตัดเล็กๆ ข้าวในนาภาคใต้มักขึ้นปนกับพืชชนิดอื่นๆ จึงคิดค้น แกระ ขึ้นแทนการใช้เคียว ชาวนาทางใต้ใช้แกระเกี่ยวข้าวทีละรวง แล้วนำรวงมามัดเป็นกำๆ รวมกันเรียกว่า เลียง
 
     กรูด - มีรูปร่างคล้ายม้าน้ำ สาเหตุที่รูปร่างเป็นเช่นนี้เพราะข้าวทางใต้ มีลำต้นสูงถึงอก จึงต้องใช้กรูดเกี่ยว โดยปลายหนึ่งมีคม อีกปลายโค้งงอ เวลาใช้จะต้องจับตรงกลาง หันคมเข้าตัว และให้ส่วนงอรวบข้าว อีกมือหนึ่งกำรวบข้าวเอาไว้ จากนั้นพลิกฝ่ามือขึ้น กรูดจะเกี่ยวข้าวขาดเป็นฟ่อนๆ
 
     บุญคูณลาน สู่บ้านแห่งชีวิตใหม่
     พิธีกรรมช่วงหลังเกี่ยวข้าว เป็นการทำขวัญที่นิยมกันในภาคอีสาน เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวแล้ว จะมัดข้าวเป็นฟ่อน แล้วนำมารวมกันที่ลานเพื่อนวดข้าว ณ ที่นั้น กองข้าวที่นวดแล้วนำมาสุมรวมกันเรียกว่า คูณลาน ซึ่งชาวอีสานได้จัดพิธีกรรมสู่ขวัญลานข้าวนี้ว่า "บุญคูณลาน" เป็นหนึ่งใน ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ จารีตประเพณีสำคัญของอีสานบ้านเฮา
 
     การนวดข้าวนั้นทำเพื่อเอาเมล็ดข้าวออกจากรวง และทำความสะอาดแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางข้าวออกไป เหลือไว้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือกที่สามารถนำมากินได้ ขายได้ รวมถึงเป็นเมล็ดพันธุ์ดีได้ ซึ่งละม้ายกับการทำขวัญเดือน หรือโกนผมไฟของเด็กที่ทำเพื่อทำให้ผมเด็กสะอาด และรักษาขวัญผมให้แข็งแรงจนเติบใหญ่
 
 
     นอกจากจัดพิธีบุญคูณลาน เมื่อนำข้าวจากลานมาใส่ยุ้ง ชาวอีสานบางหมู่บ้านยังนิยมทำพิธีสู่ขวัญเล้า (ยุ้งข้าว) เพื่อให้ข้าวในยุ้งอยู่ครบถ้วน เนื่องจากโจรสมัยก่อนออกมาปล้นช่วงข้าวเข้ายุ้งฉางนี้ ชาวบ้านจึงสังเกตดวงดาวเอา เมื่อมีดาวซิริอุส ปรากฏขึ้น จะเป็นสัญญาณบอกว่าหมดฤดูเก็บเกี่ยวนำข้าวเข้ายุ้ง ดาวดวงนี้จะขึ้นใกล้ช่วงโจรปล้นยุ้งเสมอ จึงถูกเรียกว่า ดาวโจร ไปในที่สุด
 
     จากเรื่องราวการทำขวัญข้าว ที่เล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ ก็จะช่วยให้เห็นได้ว่า พิธีทำขวัญข้าว ได้รับการจัดขึ้นทั่วทั้งประเทศไทยในช่วงเวลา ความเชื่อ และความนิยมที่แตกต่างกันไป นัยยะหนึ่ง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทำนา หรือผู้ลงมือลงแรงผลิตข้าว เพื่อก้าวข้ามความไม่ไว้วางใจในธรรมชาติที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกขณะ และอีกนัยยะหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือ เป็นพิธีกรรมซึ่งจะบอกให้คนเรารู้จักเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการทั้งหลายให้พร้อม สำหรับการก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญของช่วงชีวิต คนไทยเราเชื่อในอุบายว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีขวัญ คือ จิตวิญญาณ ใครปฏิบัติดีย่อมได้รับผลกรรมดี ส่วนใครปฏิบัติไม่ดี ผลร้ายก็จะบังเกิด ดังสำนวนว่า เซ่นดี พลีถูก การเพาะปลูกก็จะบริบูรณ์ เพิ่มพูนความสุข นั้นแล
 
     สู่ขวัญข้าวอาเซียน
     อันที่จริง ข้าว มิใช่เป็นเพียงอาหารหลักของเราชาวไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นอาหารหลักของชาวอุษาคเนย์ และกว้างกว่านั้นไปจนถึงชาวภูมิภาคอาเซียนด้วย และสิ่งที่คล้ายคลึงกันอีกสิ่งหนึ่งของชาวอาเซียนก็คือ เราต่างเชื่อว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ณ ทุ่งข้าว ซี่งจะต้องให้การเซ่นสรวงบูชาอย่างเคารพนบนอบ จากนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงจะช่วยประทานหรือดลบันดาลให้เหล่าข้าวในท้องนาเกิดความอุดมสมบูรณ์
 
     ใครไปเยือนบาหลี แดนสวรรค์ทะเลใต้ของอินโดนีเซีย ต่างล้วนตื่นตาตื่นใจกับภูมิทัศน์ตระการตาของนาขั้นบันได ที่กระจายอยู่หลายจุดบนเกาะแห่งศรัทธาในศาสนาฮินดู เกาะนี้ ชาวบาหลีเชื่อว่านี่คือรอยบาทแห่งพระศิวะ มหาเทพผู้เสด็จลงมาประทานภูมิปัญญาการทำนาขั้นบันไดอันเลอเลิศ ไว้ให้บรรพชนของพวกเขา
 
     ชาวบาหลีจึงมีธรรมเนียมเซ่นสรวงบูชาพระศิวะและเทพฮินดูองค์อื่นๆ ด้วยการจัด "ตูกันเปินตัว” หรือเครื่องบวงสรวงบูชาเทพเจ้าอย่างเอิกเกริก และยังถือเป็นงานศิลปะที่มีความหมายแทนจักรวาลในคติฮินดูอีกด้วย โดยชั้นล่างสุดประดับด้วยขนม ประเภทขนมถ้วยฟู ข้าวพอง ผลไม้นานาชนิด และบางทีก็เห็นมีไก่ย่างหรือ "อายัมโกแรง” ทั้งตัวมาประดับไว้ด้วย ซึ่งมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของคน สัตว์และพืชพันธุ์ต่างๆ บนพื้นโลก ส่วนชั้นบน ประดับด้วยดอกไม้สีสันสวยงาม เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และภูเขา ซึ่งเป็นที่ประทับหรือทิพยวิมานของเทพเจ้า
 
     ตูกันเปินตัว ยิ่งสูงเท่าไร ยิ่งประดับด้วยผลไม้หรือขนมราคาแพงเท่าไร ก็ยิ่งแสดงถึงศรัทธาและฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านนั้นๆ ตูกันเปินตัว แต่ละสำรับจึงมีน้ำหนัก ตั้งแต่ราว ๘–๒๐ กิโลกรัม แต่สตรีชาวบาหลีก็มีความสามารถทูนสำรับขึ้นศีรษะ เดินจากบ้านไปถวายเทพเจ้าที่เทวสถานได้ด้วยใบหน้าอิ่มบุญ
 
     นอกจากนี้ ชาวบาหลีและชาวอินโดนีเซียบนเกาะใหญ่อย่างเกาะชวา เกาะซุนดา ฯลฯ ยังมีพิธีบูชา "เทวีซรี” หรือ "พระศรีเทวี” ซึ่งหมายถึงพระนางลักษมี ชายาของพระวิษณุเทพ ในฐานะเทวีแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เฉกเช่นเดียวกับพระแม่โพสพ ที่คนไทยเชื่อว่าเป็นองค์อวตาร หรือการแบ่งภาคมาเกิดของพระลักษมี
 
     "เทวีซรี” หรือ "ไญ โปฮาจี ซังฮ์ยัง อัสรี" เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวชวา ซุนดา และบาหลี จวบจนวันนี้ แม้ว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะหันมานับถืออิสลาม ทว่าความศรัทธาในเทวะนารีของศาสนาฮินดูนี้ ก็ฝังรากลึกมานานก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามา อีกทั้งยังมีตำนานเล่าขานว่าชื่อเกาะชวา และเกาะสุมาตรา มาจากคำว่า "ดจาวา" หรือ "ดจาวา ทิพา" ซึ่งมีความหมายว่า "เกาะข้าว"
 
     ส่วนชาวมาเลเซีย ก็มีการร่ายรำที่เรียกว่า "มะโย่ง" หรือ "เมาะโย่ง" เพื่อเซ่นสรวงบูชา "มักฮียัง" หรือเทวีแห่งข้าว โดยจะมีหมอทำพิธีเข้าทรงวิญญาณ "มักฮียัง” เพื่อให้ชาวบ้านแสดงความกตัญญูต่อความเมตตาที่ท่านประทานน้ำนมมาเป็นเมล็ดข้าว ผ่านการร่ายรำประกอบดนตรี สันนิษฐานว่า "มะโย่ง” เป็นคำเรียกที่พ้องเสียงกับพระนามของเทวีแห่งข้าวนั่นเอง
 
     ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ประกาศขึ้นทะเบียน "มะโย่ง” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible World Heritage) ที่ชาวมาเลเซียภาคภูมิใจ
 
     สำหรับฟิลิปปินส์ แม้จะรับวัฒนธรรมตะวันตกจากเจ้าอาณานิคมสเปนและสหรัฐอเมริกามามากกว่าใครในอาเซียน แต่ข้าวยังเป็นอาหารหลักของชาวตากาล็อก โดยเฉพาะนาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาในจังหวัดอิฟูเกา ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ถือเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรม "การทำนาขั้นบันได" ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘
 
     ทั้งยังเป็นที่เลื่องลือว่า ไม่มีเทศกาลฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวที่ใดในโลก จะเอิกเกริกและมีสีสันดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เท่าเทศกาลข้าวของชาวอิฟูเกาอีกแล้ว
 
     แต่ข้าวสำหรับชาวเวียดนาม มีตำนานเล่าขานที่พิสดารกว่าที่ใด โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมข้าวเป็นอาหารที่พระเจ้าประทานให้ มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านจัดเครื่องเซ่นสรวงบูชา ก้อนข้าวก็จะไปปรากฏในบ้าน ให้ชาวเวียดนามนำไปหุงต้มทำเป็นอาหาร
 
     ทว่า มีครอบครัวหนึ่ง ฝ่ายสามีบอกให้ภรรยาทำความสะอาดบ้านเพื่อต้อนรับก้อนข้าว ส่วนตัวเขาไปจุดธูปเทียนอัญเชิญก้อนข้าว แต่ภรรยามีนิสัยเกียจคร้านจึงกวาดบ้านไม่เสร็จ พอสามีไหว้จบ ก้อนข้าวก็ปรากฏขึ้นและถูกไม้กวาดในมือของหญิงสาวปัดกวาดจนแตกละเอียด กลายเป็นเมล็ดเล็กๆ นับตั้งแต่นั้น มนุษย์จึงต้องปลูกข้าวด้วยตัวเอง
 
     ทั้งนี้ เทศกาลบูชากษัตริย์หุ่ง (Le hoi den Hung) เป็น ๑ ในเทศกาลสำคัญของชาวเวียดนาม จัดในช่วงเดือนเมษายน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์หุ่ง ชื่อสามานยนามแทนองค์กษัตริย์หลากหลายองค์ แห่งราชวงศ์แรกของเวียดนาม ซึ่งได้ริเริ่มสอนให้ชาวเวียดนามปลูกข้าว การเฉลิมฉลองจัดที่พระอารามหลวงของกษัตริย์หุ่ง บนเขาเหงียหลิง มีการประดับธงทิว และลอยโคมไฟในคืนก่อนวันพิธีหลัก ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ เดือน ๓ ตามจันทรคติ ผู้แสวงบุญจากทั่วทุกทิศมารวมตัวกัน นอกจากจะมีพิธีบูชาวิญญาณของบูรพกษัตริย์แล้ว ยังมีขบวนแห่ช้าง และการเชิดมังกร อย่างเอิกเกริกด้วย
 
     ที่น่าสนใจคือ มีคติความเชื่อว่า พ่อแม่ชาวเวียดนามจะไม่ทำโทษลูกๆ ขณะกินข้าว เพราะจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับข้าวเลวร้าย และสุภาษิตเวียดนามบทหนึ่งยังกล่าวว่า ปัญญาชนเดินนำหน้าชาวบ้านในชนบท แต่เมื่อข้าวหมด ชาวนาคือผู้นำทาง
 
 
     ส่วนชาวกัมพูชาในส่วนของชุมชนจาม ซึ่งเป็นชาวชาติพันธุ์ส่วนน้อย นับถือ "โปอีโน นอการ์" เป็นเทวีแห่งการเพาะปลูก ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนปกป้องท้องทุ่ง หากแต่สำหรับชาวเขมรทั่วไป เรื่องของ ปรอลึง หรือ ขวัญ กลับใกล้เคียงกับของคนไทยเรา โดยเรียกพิธีทำขวัญข้าวว่า "ปรอลึง ซเรา” เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลปลูกข้าว จะมีการจัดพิธี "แซน” (คือ เซ่นไหว้) ปรอลึงซเรา เหมือนพิธีสู่ขวัญข้าวของไทย ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อได้ข้าวเปลือกมาแล้ว ทุกบ้านต้องกระเดียดกระบุงข้าวเปลือกไปทำบุญที่วัด เรียกพิธี "ปูน พนม ซเรา” คือเอาข้าวเปลือกไปกองพูนเป็นภูเขา ทำบุญให้วัด หรือเพื่อเป็นทุนให้วัด นำไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับงาน "บุญกุ้มข้าว หรือ บุญกองข้าว” ของชาวอีสานและชาวลาวทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง
 
     นอกจากนั้น ราชสำนักกัมพูชาแต่อดีต จะมีพระราชพิธี จรด เปรียะ เนียง คัล หรือการลงไถแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดิน ซึ่งต่อมา ราชสำนักสยามนับเนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับวัฒนธรรมนี้มาปฏิบัติตราบจนปัจจุบัน คือ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” นั่นเอง
 
     สำหรับชาวมอญ และพม่า จะมีพิธีป่าวเจี่ยตะละทาน หรือพิธีบูชาเจ้าที่เจ้าทาง พร้อมกับการเซ่นสรวงพระแม่โพสพ ในฤดูข้าวตั้งท้อง โดยประดับธงตะขาบ เครื่องเซ่นไหว้บายศรี บัดพลีบูชาเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษาผืนนา และให้แม่โพสพบันดาลเมล็ดข้าวกองโตเท่าภูเขาเช่นกัน
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)