กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> ICH
“ขุนช้าง ขุนแผน” อมตะตำนานรักสามเส้าจากกรุงเก่า สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

วันที่ 25 ต.ค. 2562
 

 
     ในบรรดานิทานพื้นบ้านของไทยมีหลายเรื่องเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย "ขุนช้างขุนแผน” เป็นนิทานพื้นบ้านยอดนิยมเรื่องหนึ่ง ที่ถูกหยิบยกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แนวแอ๊คชันคอมมาดี ในชื่อ ขุนแผน "ฟ้าฟื้น” ที่เต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษและสอดแทรกด้วยมุขตลกขบขัน ดูแล้วสนุกสนานถูกกับรสนิยมของคนไทย แม้เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่นี้ (พ.ศ. ๒๕๖๒) มีการนำเสนอและดัดแปลงบุคลิกของตัวละครนำทั้งสาม คือ ขุนแผน ขุนช้าง และพิมพิลาไลย ที่ออกมาในแนวร่วมสมัย ไม่ตรงกับเนื้อหาที่ได้รับรู้มาแต่เดิม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการและมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์ยุค ๒๐๑๙
 
     ด้วยความสำคัญของวรรณกรรม "นิทานขุนช้างขุนแผน” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงได้ดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ประเภท นิทานพื้นบ้าน เพื่อให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการศึกษาและอนุรักษ์ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืนสืบไป
 
     "ขุนช้างขุนแผน” เป็นวรรณคดีที่มีเค้าจากเรื่องจริงในสมัยอยุธยา ได้พัฒนาจากนิทานประกอบกลอนเป็นตอนๆ มาเป็นนิทานคำกลอนที่ใช้ขับร้อง และพัฒนาจากนิ ทานพื้นบ้านมาเป็นวรรณคดีราชสำนักตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยโรงพิมพ์หมอสมิท ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระวรรณคดีเรื่องนี้ โดยมีการตัด เติม และแต่งใหม่บางส่วน และจัดพิมพ์รวม ๔๓ ตอน เรียกว่าเป็นเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นฉบับแบบแผนมาจนทุกวันนี้
 
     เนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนแปลกกว่านิทานพื้นบ้านทั่วไป เนื่องจากเป็นเรื่องรักสามเส้าแบบสมจริงของคนธรรมดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องของคนที่มีชีวิตอยู่จริงในราวสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่มีผู้นำมาเล่าสืบต่อกันมาอย่างนิยายและเป็นที่นิยมกันแพร่หลายจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้กวีหลายท่านช่วยกันแต่งต่อเติมขึ้นเป็นฉบับหลวง และทรงพระราชนิพนธ์เองบางตอน เช่น ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิมถึงตอนแต่งงาน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างถึงเข้าห้องนางแก้วกิริยา นางวันทองทะเลาะกับลาวทอง และเท่าที่รู้จากตำนานหรือสันนิษฐานได้จากสำนวน บางตอนโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่นแต่ง เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิม และขุนแผนพานางวันทองหนี ส่วนสุนทรภู่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม เป็นต้น ในระยะเดียวกันนั้นกวีเชลยศักดิ์ก็แต่งและขับเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นมหรสพชาวบ้านกันทั่วไป แต่มักมิได้จดฉบับลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างฉบับหลวง
 
ภาพประกอบจาก https://th.readme.me/p/8612
 
     สาระสำคัญ... ในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
     นิทานขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานชีวิตรักสามเส้าที่ชาวกรุงศรีอยุธยานำมาเล่าขานในรูปของลำนำปากเปล่าประกอบการขยับกรับที่เรียกว่า "การขับเสภา” มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา นักขับเสภาจะร้องเฉพาะตอนสำคัญๆ ไม่บันทึกเป็นลายลักษณ์ เพิ่งจะมารวบรวมเรียบเรียงเป็นเรื่องเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ปี พ.ศ.๒๔๑๕ โดยโรงพิมพ์หมอสมิท ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงได้มีการชำระต้นฉบับของหลวงและของชาวบ้าน จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นต้นแบบของเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่รู้จักกันทั่วไป
 
     ขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องราวการชิงรักหักสวาทของหนุ่มสาวสองรุ่น รุ่นพ่อและรุ่นลูก โครงเรื่องรุ่นพ่อเป็นเรื่องของชายสองแย่งหญิงหนึ่ง คือเรื่องชิงรักหักสวาทของขุนแผน ขุนช้างและนางพิมพิลาไลย ชาวบ้านสุพรรณบุรี ส่วนโครงเรื่องรุ่นลูกของขุนแผน เป็นเรื่องของหญิงสองแย่งชายหนึ่ง คือ เรื่องหึงหวงระหว่างเมียทั้งสองของพระไวยวรนาถ ขุนนางหนุ่มชาวกรุงศรีอยุธยา จนถึงขั้นเมียที่ชื่อนางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์เพื่อให้สามีรักตนเพียงคนเดียว โครงเรื่องของนิทานเรื่องนี้ มีลักษณะเด่นคือ มีความคล้ายคลึงกับเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงโต้ตอบของหนุ่มสาวโครงเรื่องแบบชายสองแย่งหญิงหนึ่งตรงกับกลอนตับชิงชู้ และโครงเรื่องแบบเมียน้อยเมียหลวงตรงกับ กลอนตับตีหมากผัวของเพลงพื้นบ้าน
 
     โครงเรื่องดังกล่าวเป็นแบบที่ชาวบ้านนิยมมาก ดังพบในละครชาวบ้านหลายเรื่อง นอกจากนี้ นิทานเรื่องนี้ยังมีครบทุกรสชาติ ทั้งรัก รบ ตลก เศร้าโศก บุคลิกของตัวละครหลายตัวในเรื่องมีความโดดเด่น ขุนแผนเป็นผู้ชายในฝันของสาวไทย คือเป็นชายชาตรี รูปงาม วาจาอ่อนหวาน เก่งทั้งวิชาอาวุธและวิชาไสยศาสตร์ และเป็นแบบอย่างของนักรบผู้ภักดีต่อเจ้านาย ขุนช้าง เป็นแบบของชายที่สังคมไม่ชื่นชอบ นอกจากจะมีรูปอัปลักษณ์ หัวล้าน อกขน ยังมีกิริยามารยาททราม ใจคอโหดเหี้ยมและเป็นตัวแทนของเพื่อนที่ทรยศเพื่อน นางวันทอง หรือพิมพิลาไลยเป็นแบบของหญิงไทยที่ไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตด้วยตัวเอง การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้อื่น
 
     ขุนช้างขุนแผน ยังเป็นเรื่องตัวอย่างแสดงวิถีชีวิตของลูกผู้ชายไทยในอดีต ตั้งแต่เด็กจนโต เริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาเล่าเรียน การแสวงหาเครื่องรางของขลัง การแสวงหาของวิเศษเพื่อนำมาเป็นอาวุธคู่กาย จนเข้ารับราชการ ทำศึกสงครามได้รับความดีความชอบ ตลอดจนถึงต้องโทษจำคุก ชีวิตของขุนแผนจับใจคนไทยจนนำไปตั้งเป็นชื่อพระพุทธรูป เช่น ขุนช้างขุนแผน ที่วัดพลายชุมพล จ.สุพรรณบุรี เรียกพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่นั่นว่า เณรแก้ว ที่วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี เรียกพระเครื่องดินเผาบางรุ่นว่า พระขุนแผนไข่ผ่า ขุนแผนแตงกวา เป็นต้น
 
     นิทานขุนช้างขุนแผน มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยภาคกลางมาโดยตลอด เพราะเกี่ยวข้องกับการแสดงหลายประเภทตั้งแต่แรกเริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ใช้เล่าเรื่องประกอบทำนองเรียกว่า ขับเสภา ต่อมามีการนำปี่พาทย์เข้ามารับ ทำให้เกิดการขับเสภาพร้อมปี่พาทย์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ชนชั้นสูงนำละครรำมาผสมจนเกิดเสภารำ ละครเสภา ละครพันทาง ส่วนชาวบ้านนำเพลงพื้นบ้านมาผสมจนเกิดเพลงทรงเครื่อง และนิยมนำไปแสดงลิเก
 
     ปัจจุบัน นิทานขุนช้างขุนแผนได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทยหลายครั้งหลายหน เช่น เรื่องขุนแผนผจญภัย ขุนแผนแสนสะท้าน นอกจากนี้ยังนำไปสร้างเป็นหนังสือการ์ตูน หนังสือนิทานและนำบางตอน เช่นตอนกำเนิดพลายงาม ไปเป็นแบบเรียนหลักสูตรวิชาภาษาไทยในการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการด้วย นับเป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยทุกภูมิภาครู้จักดี
 
ภาพประกอบจาก https://th.readme.me/p/8612
 
    เนื้อเรื่องย่อ…
     ขุนแผน บุตรชายของขุนไกร พลพ่าย ผู้เก่งกล้าอาศัยอยู่ที่บ้านย่านวัดตระไกร มีเพื่อนในวัยเด็กที่มาเล่นด้วยกันเสมอ คือ ขุนช้างและนางพิมพิลาไลย จนกระทั่งขุนไกรถูกพระพันวษาประหารชีวิต เพราะไม่สามารถสกัดควายป่าไว้ได้ นางทองประศรีผู้มารดาจึงพาขุนแผนไปอยู่เมืองกาญจนบุรี และได้บวชเป็นสามเณรที่วัดส้มใหญ่ เล่าเรียนวิชาจนหมดความรู้ของพระอาจารย์ นางทองประศรีจึงนำมาฝากกับสมภารมีที่วัดป่าเลไลยก์ เมืองสุพรรณ ขุนแผนมีความสามารถในการเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีได้ไพเราะจับใจ ในวันออกพรรษาสามเณรพลายแก้วได้ขึ้นเทศน์และเทศน์ได้ไพเราะนัก นางพิมก็เกิดศัทธา เปลื้องผ้าห่มสไบออกแทนเครื่องบูชากัณฑ์ ขุนช้างเห็นก็เปลื้องผ้าห่มของตน วางทับผ้านางพิม แล้วอธิษฐานให้ได้เจ้าของผ้าห่มสไบ ค่ำวันนั้นหัวใจของพลายแก้วและขุนช้างต่างก็ร้อนรุ่มด้วยความรักที่มีต่อนางพิม ฝ่ายขุนช้างแม้รูปชั่วหัวล้าน แต่ร่ำรวยได้ไปขอนางพิม นางสายทองเห็นดังนั้นจึงนำความไปบอกสามเณรพลายแก้วที่วัดป่า สามเณรยามอยู่ลำพังกับนางสายทองก็อดพูดจาหยอกเอินกับนางไม่ได้ ความทราบถึงสมภารมี จึงได้ไล่พรายแก้วออกจากวัด สามเณรจึงไปอาศัยอยู่กับสมภารคงที่วัดแค และได้เล่าเรียนวิชาคาถาอาคม เสกใบมะขามเป็นตัวต่อ สะเดาะโซ่ตรวนกุญแจ ล่องหนหายตัว อยู่ยงคงกระพัน และได้แอบเข้าไปลักลอบได้เสียกับนางพิม ต่อมาพลายแก้วได้ไปเป็นทหาร และกลับมาพร้อมเมียใหม่ ทำให้นางพิมโกรธและเสียใจ ในขณะที่ขุนช้างก็ยังใช้เล่ห์เพื่อที่จะได้นางพิมมาเป็นเมีย จนในที่สุดนางพิมก็ตกเป็นเมียขุนช้าง ขุนแผนจึงนำเรื่องไปให้พระพันวษาตัดสินความ เมื่อสมเด็จพระพันวษา ตรัสถามว่าจะอยู่กับใคร นางก็ไม่อาจตัดสินใจได้ ขุนแผนนั้นแม้จะรักมาก แต่ก็ทำให้นางทุกข์ยากด้วยรักมานักหนา ขุนช้างนั้นน่าเบื่อระอา แต่ก็รักนางอย่างจริงใจ นางจึงตอบไปว่า แล้วแต่ทรงพระกรุณา สมเด็จพรพพันวษาทรงกริ้ว ให้นำนางพิมพิลาไลยไปประหารชีวิต (นิทานย่านสุพรรณ เว็บไซต์จังหวัดสุพรรณบุรี)
 
 
     แหล่งที่มา :
๑) เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/folk-literature/252-folk/80-2012-01-31-09-46-51
๒) กรมศิลปากร, ขุนช้างขุนแผน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของครุสภา, ๒๕๓๒
๓) เว็บไซต์ จังหวัดสุพรรณบุรี http://www.suphan.biz/kunchangkunpan.htm
๔) ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, สืบสานสร้างสรรค์วรรณศิลป์. พ.ศ. ๒๕๕๓
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)