เรื่อง/ภาพ : ดร.สิทธิชัย สมานชาติ, กองบรรณาธิการ
ผ้าทอกลุ่มไท-ครั่ง
อัตลักษณ์ลวดลายและสีสัน
การค้นคว้าเรื่องสิ่งทอของประเทศไทยนั้น ค่อยๆมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับด้วยความใส่ใจค้นคว้าของนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีองค์ความรู้หลายเรื่องที่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น ผ้าทอของกลุ่มไท-ครั่ง ยังมีคำถามว่า กลุ่มชนนี้คือใคร อยู่ที่ไหน แยกกลุ่มย่อยอย่างไร และมีอัตลักษณ์ของลวดลายและสีสันของผ้าทออย่างไรบ้าง
"กลุ่มไท-ครั่ง” เป็นกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าไท ที่ใช้ภาษาไท-ลาว เดิมกลุ่มนี้มีถิ่นฐานเก่าก่อนอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ได้พลัดถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเหตุผลจากการสงครามในช่วงเวลาต่างๆ กัน โดยในปัจจุบันได้อาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ในจังหวัดต่างๆ เช่น ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก และกำแพงเพชร เป็นต้น การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของกลุ่มไท-ครั่งนั้น นักมานุษยวิทยาหลายท่านสรุปเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า ได้อพยพมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี
ด้วยสาเหตุที่เมืองเวียงจันทน์ละเมิดพระราชอำนาจและเขตแดน ไล่ล่าเข้ามาประหารพระวอปิตา หรือ พระวรปิตา หรือ พระวอพระตา ซึ่งถวายตัวเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี อีกทั้งเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางก็ฟ้องต่อไทยว่าพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์เป็นใจกับพม่า กองทัพไทยนำโดยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระยาสุรสีห์ จึงได้เข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ของเจ้าไชยกุมารในปี พ.ศ. ๒๓๒๑ (ค.ศ. ๑๗๗๘) และได้ขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์ โดยกองทัพหลวงพระบางอาสาเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ช่วยทางด้านเหนือ กองทัพไทยตีเมืองเวียงจันทน์แตกในวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีกุน (ปี พ.ศ. ๒๓๒๒) และได้กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์เช่น เจ้านันทเสน เจ้าอุปราช นางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีศรีกษัตริย์ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาข้าราชการผู้ใหญ่ สาวสนมนอกในทั้งปวงและประชาราษฎรครัวเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังกรุงธนบุรี
กล่าวกันว่าในครั้งนั้น ครัวเวียงจันทน์ ที่ต้องอพยพลงมามีจำนวนหลายหมื่นคน พร้อมด้วยพระแก้วมรกตและพระบาง จึงมีพระบรมราชโองการให้ครัวลาวหลายหมื่นไปตั้งบ้านเรือนที่จังหวัดสระบุรี เอาลงไปกรุงเทพฯ เฉพาะพวกที่เป็นเชื้อกษัตริย์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (สิลา วีระวงส์, ๒๕๔๐ : ๑๔๗-๑๕๑) คงให้ท้าวสุโพ ซึ่งเป็นขุนนางลาวเป็นผู้ดูแลบ้านเมืองต่อไป ตั้งแต่เมืองเวียงจันทน์และเมืองจำปาศักดิ์ตกเป็นของไทย เมืองหลวงพระบางก็ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ อาณาจักรล้านช้างจึงตกเป็นประเทศราชของไทยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น (สุวิมล วัลย์เครือ และชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล, ๒๕๓๖ : ๑๑-๑๒)
ต่อมาครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏหลักฐานการอพยพโยกย้ายของกลุ่มไท-ครั่ง อีกในสมัยรัชกาลที่ ๒ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๘ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งครัวลาวเมืองภูคัง หรือ เมืองพุกรางลงมาถวาย (บังอร ปิยะพันธ์, ๒๕๓๙: ๔๗-๔๘) และการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มไท-ครั่ง ครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ก่อการกบฏขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ การปราบกบฏเมืองเวียงจันทน์ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การอพยพครั้งยิ่งใหญ่ของชาวเวียงจันทน์และหัวเมืองใกล้เคียงมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประมาณว่ามีจำนวน ๘๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ กว่าคนเลยทีเดียว (สุวิมล วัลย์เครือและ ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล, ๒๕๓๖: ๑๔-๑๖)

จากการลงพื้นที่วิจัยพบว่า กลุ่มชุมชนไท-ครั่งปัจจุบันได้สืบเชื้อสายมาเป็นรุ่นที่ ๓-๔ แล้ว อีกทั้งหลายหมู่บ้านได้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่ทำกินใหม่หรือโยกย้ายเมื่อมีประชากรมากขึ้น จึงอาจเป็นการยากที่จะย้อนกลับไปหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าบรรพบุรุษของแต่ละหมู่บ้านได้อพยพมาจากที่ใด และ เมื่อไร เอกสารโบราณในชุมชนที่หลงเหลือ มีเพียงตำรายา ตำรากฎหมาย เท่านั้น
หากเคยมีการศึกษาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พอจะสรุปได้ว่ากลุ่มไท-ครั่ง มีการเรียกขานกลุ่มตัวเองเป็น "ลาว” คำว่า "ลาว” นั้นคงเป็นการเรียกขานที่แสดงถึงการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมออกจากชาวสยาม ชาวจีน ชาวมอญ และคงด้วยชาวไทยกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรลาว โดยมีคำเรียกขานที่แตกต่างกันออกไปเป็น ๔ กลุ่มใหญ่คือ ๑) ลาวครั่ง ๒) ลาวเวียง ๓) ลาวกา ๔) ลาวซี เฉพาะคำว่า "ลาวครั่ง” มีการตั้งข้อสันนิษฐานกันไว้ ๒ ประการคือ ประการแรก สันนิษฐานว่าเป็นการเรียกตามชื่อถิ่นฐานเดิมที่อยู่ในเขตเทือกเขาภูคัง จึงเรียกว่า "ลาวคัง ลาวคั่ง หรือ ลาวครั่ง” โดยคาดกันว่าคำว่า "คัง” มาจาก "ภูคัง” และต่อมาคำว่า "คัง” ก็เพี้ยนมาเป็น "คั่ง” หรือ "ครั่ง” ในที่สุด
ประการต่อมา สันนิษฐานว่าในสมัยที่พลัดถิ่นมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องประสพกับสภาวะขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งเครื่องมือหากิน จึงต้องเลี้ยงครั่งสำหรับย้อมผ้า เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร จึงทำให้ถูกเรียกว่า "ลาวขี้ครั่ง” หรือ "ลาวครั่ง” (ชนัญ วงศ์วิภาค, ๒๕๓๒: ๓)
สำหรับสำเนียงภาษาพูดของกลุ่มที่เรียกว่า "ลาวครั่ง” นั้น สุวิมล วัลย์เครือและชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล ได้เสนอไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่า…ลาวครั่งมักจะมีคำว่า "ก้อลา” (บางครั้งออกสำเนียงเป็น "ก๊ะ ล่ะ”) ต่อท้ายประโยคในภาษาพูด หมู่บ้านที่เรียกตัวเองว่า "ลาวครั่ง” ได้แก่ หมู่บ้านกุดจอก กิ่งอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท และหมู่บ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น โดยชุมชนเหล่านี้มีเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษรุ่นปู่ รุ่นทวดว่ากลุ่มของตนย้ายมาจากเมืองหลวงพระบาง
ส่วนคำว่า "ลาวเวียง” นั้นเป็นคำเรียกตัวเองที่ทุกหมู่บ้านในกลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า คำว่า "ลาวเวียง” นั้นเป็นคำย่อที่มาจากชื่อถิ่นฐานเดิมคือ เมือง "เวียงจันทน์” แห่งลุ่มแม่น้ำโขง บางหมู่บ้านเล่าว่าคนรุ่นปู่รุ่นทวดเคยบอกว่า ได้อพยพกันมาพร้อมกับพระแก้วมรกตและพระบาง สมัยเขารบกันด้วยดาบด้วยช้างด้วยม้า
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ลาวเวียง” ได้แก่ ชุมชนในหลายหมู่บ้านในเขตของ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยกรุงธนบุรี เพราะมาพร้อมกับพระแก้วและพระบาง
คำว่า "ลาวกา” นั้นเป็นการเรียกขาน กลุ่มที่ชอบพูดสำเนียงเสียงดัง คล้าย "กา” และมักใช้คำลงท้ายประโยคว่า "ละกา” ทั้งนี้กลุ่มชนนั้นจะไม่เรียกตัวเองว่า "ลาวกา” แต่เรียกตัวเองว่า "ลาวเวียง” การที่กลุ่มนี้ถูกเรียกว่าอย่างนี้นั้น เป็นการดูถูกจากหมู่บ้านข้างเคียงที่เป็น "ลาวเวียง” เหมือนกันแต่ใช้สำเนียงพูดนุ่มนวลกว่า หมู่บ้านที่ถูกเรียกว่า "ลาวกา” ได้แก่ หมู่บ้านทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น
และคำว่า "ลาวซี” หรือ "ลาวขี้ซี” นั้นเป็นคำกล่าวเรียกที่มีที่มาจากคำว่า "ขี้ซี” หมายถึง "ขี้ชัน” เนื่องจากในอดีตกลุ่มนี้นิยมประกอบอาชีพหาขี้ชันที่ใช้ยาอุดท้องเรือ ซึ่งเป็นยางไม้ที่ได้จาก "ต้นรัง” เพื่อนำไปขายเลี้ยงชีพ จึงถูกเรียกขานว่า "ลาวซี” โดยบรรพบุรุษเล่าสืบต่อกันมาว่าสืบเชื้อสายจากหลวงพระบาง (สมจิตร ภาเรือง, นาง, สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ และ พ.ศ. ๒๕๕๑) หมู่บ้านที่ถูกเรียกว่า "ลาวซี” ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งก้านเหลือง ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์นี้ในประเทศลาวเพิ่มเติมจากหนังสือวิชาการเรื่อง "Lao-Tai Textiles : The Textiles of Xam Nuea and Muang Phuan” ของ Patricia Cheesman ว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้ เป็นชนกลุ่มหนึ่งในเมืองพวนโดยมีถิ่นฐานอยู่ที่เทือกเขา "ภูคัง” ซึ่งอ้างหลักฐานซากปรักหักพังของเจดีย์ ๓ องค์ในพื้นที่ ที่สร้างไว้ประมาณปี ค.ศ. ๑๓๔๕ (ค.ศ. ๑๘๘๘) กลุ่มนี้ถูกเรียกในลาวว่า "ไท-คั่ง” (Tai-Khang) และถูกเรียกขานในไทยว่า "ลาว-ครั่ง” (Lao Khrang) (Cheesman, Patricia, ๒๐๐๔: ๒๘๓)
จากการศึกษาข้อมูลของด้านภาษาศาสตร์ของประเทศลาวพบว่า คำว่า "คั่ง” ในภาษาลาวจะไม่มีอักษรตัว "ร” แต่มีความหมายตรงกับคำว่า "ครั่ง” ในภาษาไทยกลาง
กลุ่มชนย่อยของชาวไท-ครั่งทั้งหมดนี้ แม้จะมีสำเนียงของภาษาพูดจะเพี้ยนกันไปบ้าง และอพยพจากลุ่มแม่น้ำโขง ลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มล้วนมี "ภาษาเขียน” มี "วัฒนธรรมประเพณี” และโดยเฉพาะ "รูปแบบสิ่งทอ” ที่คล้ายคลึงกันมาก
ลักษณะสังคมของกลุ่มไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) นั้นดั้งเดิมเป็น "สังคมเกษตรกรรม” ที่ต้องพึ่งพาตัวเองในการจัดหาปัจจัยสี่ ในการดำรงชีวิตของครอบครัว โดยมีการจัดแบ่งหน้าที่ในวิถีชีวิตระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เป็นวัฒนธรรมแบบ "หญิงทอผ้า ชายจักสาน” ช่วยกันทำมาหากิน โดยในอดีตหญิงสาวทุกคนจะต้องมีความสามารถในการทอผ้า เนื่องจากเป็นคุณสมบัติของกุลสตรีที่ดีงามและมีความพร้อมในการออกเรือน ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ให้ข้อมูลในการวิจัยว่า..ในสมัยก่อนที่ตนเป็นหนุ่มเป็นสาว มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายไว้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้า เพื่อทอเป็นเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนฝ่ายชายจะต้องมีความสามารถในการจักสาน เพื่อทำเครื่องมือในการทำมาหากิน และจะต้องผ่านการบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจึงจะถือว่ามีความพร้อมในการออกเรือนเช่นเดียวกัน (สิทธิชัย สมานชาติ, ๒๕๔๑: ๕๗)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือในพิธีการกินดอง (แต่งงาน) ของกลุ่มไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) จะมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะคือ…การใช้ไม้กำพัน (Cloth Beam) ซึ่งเป็นไม้สำหรับม้วนเก็บผ้า ที่ทอเสร็จจากเครือเส้นยืน ซึ่งจะอยู่ด้านผู้นั่งทอของเครื่องทอผ้า นำมาใช้เป็นคานหาบพานขวัญ (บายศรี) ของฝ่ายเจ้าบ่าวที่นำมาเพื่อประกอบพิธีสู่ขวัญบ่าวสาว… โดยมีความเชื่อว่า คู่บ่าวสาวจะรักใคร่กันกลมเกลียว แนบแน่น ดั่งเส้นด้ายที่สานทอเป็นผืนผ้าม้วนอยู่ในไม้กำพัน
การแต่งกายในโอกาสงานกินดอง (แต่งงาน) นั้น เจ้าบ่าวจะนุ่ง "ผ้าเขย” เป็นผ้ามัดหมี่โจงกระเบน ที่ใช้ "สีแดงครั่ง” เป็นสีหลัก มีลาย "แถบสีเขียว” เป็นแนวยาวขนานขอบผ้า ซึ่งสันนิษฐานว่าแถบสีเขียวนี้เป็นส่วนที่น่าจะได้รับแบบอย่างมาจากผ้ามัดหมี่ปะโตลา (Patola) ของอินเดีย โดยอาจถ่ายรับผ่านแบบผ้ามัดหมี่ของเขมรมาอีกทอดหนึ่ง ส่วนลวดลายมัดหมี่ของไท-ครั่งที่สำรวจพบในผ้าเขยได้แก่ "ลายขอนาค” "ลายโคม” และ "ลายย่อมุมสิบสอง” เป็นต้น
ด้วยกระแสแฟชั่นตะวันตก ทำให้ในปัจจุบันผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ "ผ้าเขย” ไม่ได้ใช้กันนานมากแล้ว บางหมู่บ้านยังมีผ้าโบราณให้ศึกษา หลายหมู่บ้านคนรุ่นหนุ่มสาวก็ไม่เคยมีโอกาสได้เห็น เหลือไว้เพียงคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น
ส่วนอัตลักษณ์ลวดลายและสีสันผ้าและเครื่องแต่งกายของฝ่ายหญิงนั้น จะสังเกตได้จาก "ผ้าซิ่น” ที่ใช้นุ่ง ในวิถีชีวิตและพิธีกรรมของผู้หญิงกลุ่มไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) โดยเกือบทั้งหมดจะเป็นผ้าซิ่นที่ส่วนเชิงผ้าซิ่น (ตีนซิ่น) จะทอตกแต่งด้วยเทคนิค "จก” ซึ่งในกลุ่มวัฒนธรรมไท-ยวนในภาคเหนือนั้นจะเรียกผ้าซิ่นลักษณะนี้ว่า "ผ้าซิ่นตีนจก” แต่สำหรับกลุ่มไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) จะไม่เรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก แต่จะเรียกขานแยกชนิดตามลักษณะของส่วน "ตัวซิ่น” เป็นสำคัญ เพราะทุกผืนจะต่อตีนจก แต่ลวดลายตัวซิ่นจะแตกต่างกัน โดยมีชื่อเรียกขานหลากหลายแตกต่างกันเช่น "ผ้าซิ่นมูก” "ผ้าซิ่นดอก” "ผ้าซิ่นดอกดาว” "ผ้าซิ่นก่าน” "ผ้าซิ่นสิบสิ้ว” "ผ้าซิ่นหมี่โลด” "ผ้าซิ่นหมี่ตา” "ผ้าซิ่นหมี่น้อย” เป็นต้น โดยสีสันผ้าซิ่นส่วนใหญ่ก็จะเน้น "สีแดงครั่ง” เป็นสีหลักโดยเฉพาะผ้าที่สร้างลวดลายด้วยเทคนิคการ "มัดหมี่” ส่วนผ้าที่ทอลวดลายด้วยเทคนิค "จก” หรือ "ขิด” จะนิยมใช้สีตัดกันร้อนแรง ไม่นิยมสีเอกรงค์
สำหรับ "สีสัน” ส่วนเชิงผ้าซิ่น (ตีนซิ่น) นั้นสามารถเป็น "อวัจนภาษา” ในการบ่งบอกสถานภาพ "ช่วงวัยหรืออายุ” ของผู้นุ่งผ้าซิ่น ดังงานวิจัยของ กมลา กองสุขและคณะ ปี พ.ศ.๒๕๓๖ เรื่อง "ผ้าจก กรณีศึกษาหมู่บ้านกุดจอก” ได้สรุปว่า คนวัยสาวจะใช้ "ผ้าตีนจกพื้นสีแดง” คนวัยสูงอายุจะใช้ "ผ้าตีนจกพื้นสีดำ” (กมลา กองสุขและคณะ, 2536) โดยได้ข้อสังเกตจากการลงพื้นที่สำรวจระบบการทอผ้าด้วยเทคนิค "จก” (ทอเสริมเส้นพุ่งพิเศษแบบไม่ต่อเนื่อง) ของผ้าทอไท-ครั่ง พบว่าทุกชุมชนจะมีระบบการทอแบบเดียวกันคือ จะทอตีนซิ่นแบบสองตะเข็บ ซึ่งทอเป็นผ้าหน้ากว้างเท่ากับขนาดความกว้างของตัวซิ่น โดยทอใช้การผูกปมเส้นพุ่งพิเศษด้านบน ต้องใช้กระจกส่องดูด้านหน้าผ้าที่อยู่ด้านล่าง (ระบบกลับหัวกลับหาง/ upside down) ซึ่งทอเป็นผ้าหน้ากว้างเท่ากับขนาดความกว้างของตัวซิ่น โดยทอให้เหมือนกันสองผืนแล้วนำมาเย็บต่อข้างเป็นสองตะเข็บ ซึ่งเป็นจุดแตกต่างจากการทอตีนจกไท-ยวน
กลุ่มไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) ทุกครัวเรือนนับถือศาสนาพุทธ จะจัดแบ่งการดำเนินชีวิตออกเป็น ๒ ส่วนคือ "ส่วนเฮ็ดกิ๋น” และ "ส่วนเฮ็ดทาน” ไว้อย่างประสานกลมกลืน นอกจากจะทอผ้าเพื่อประโยชน์ในชีวิตตนเองและครอบครัวแล้ว ยังมีการทอผ้าเพื่อสร้าง "สิ่งทอในพระพุทธศาสนา” ถวายเป็นพุทธบูชาอันได้แก่ ธง (ตุง) ผ้าอาสนะ ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าม่านกั้นผนัง ผ้าม่านติดธรรมาสน์ หมอนเท้า หมอนน้อย เป็นต้น (สิทธิชัย สมานชาติ, ๒๕๔๑: ๕๗-๕๘) จากการศึกษาตัวอย่างผ้าเหล่านี้ พบว่ามีการจัดองค์ประกอบสีสันและลวดลาย คล้ายคลึงกับสีสันและลวดลายเครื่องแต่งกาย เน้นสีตัดกันรุนแรง สีแดง-สีเขียว สีดำ-สีขาว โดยมีสีเหลืองเป็นส่วนประกอบ

สำหรับลวดลายที่โดดเด่นและพบมากคือ "ลายนาค” มีทั้ง พญานาคขนาดใหญ่ นาคขนาดกลาง และนาคขนาดเล็ก ทั้งยังมีการสร้างสรรค์ลายละเอียดลวดลายส่วนหัวนาคต่างๆกันอย่างงดงาม เราสามารถสันนิษฐานได้ว่าลวดลาย "นาค” นี้มีความเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา และอาจสื่อถึงแม่น้ำโขงที่ทอดตัวยาวดั่งพญานาค ที่แทนสัญลักษณ์ลุ่มแม่น้ำโขงอันเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวไท-ครั่ง (ลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, ลาวซี) ก่อนที่จะเลื่อนไหลมาอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับลวดลาย "ผ้าตีนจก” ของผ้าทอไท-ครั่ง นั้นสามารถแบ่งโครงสร้างลวดลายออกได้เป็น ๒ หมวดใหญ่ๆ คือ (๑) โครงสร้างลายแบบ "หน่วย” เป็นการทอผ้าลายจกที่จัดองค์ประกอบที่ประกบกันสองด้านให้เป็นหน่วย (ทางไท-ยวนในล้านนาจะเรียกว่า "ลายโคม”) ซึ่งสามารถทอซ้อนชั้นลวดลายต่างๆ เป็นหลายชั้นได้ ภายใต้โครงสร้างหน่วย ซึ่งการเก็บตะกอลายจะเก็บเพียงครึ่งดอกแล้วใช้ตะกอเดิมทอไล่ย้อนไป (๒) โครงสร้างลายแบบ "เอี้ย” เป็นการทอผ้าลายจกที่จัดองค์ประกอบในโครงสร้างหยักฟันปลา มองไกลๆ คล้ายลายการขดไปมาของพญานาค ซึ่งการเก็บตะกอลายจะเก็บเต็มลาย โดยสามารถทอซ้อนชั้นลวดลายต่างๆ ได้มากชั้นกว่าแบบแรก สำหรับการเรียกชื่อลวดลายจะเรียกลายหลักต่อด้วยลายประกอบ เช่น ลายขอขื่อซ้อนขอกำ ลายขอกำซ้อนปีกไก่ ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ ลายจบท้ายนั้นมักนิยมทอประกบทั้งด้านบนและด้านล่างด้วย "ลายขอระฆัง” หรือบางชุมชนเรียกว่า "ลายสร้อยสา” เป็นต้น
จากการศึกษาและสำรวจผ้าโบราณในทุกกลุ่ม ทั้งลาวครั่ง, ลาวเวียง, ลาวกา, และลาวซี พบว่าในทุกกลุ่มจะใช้ผ้าที่ย้อมจาก "สีแดงครั่ง” เป็นสีหลักเหมือนกัน มีแนวการจัดองค์ประกอบลวดลายและสีเหมือนกัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานใหม่ขึ้นมาในใจว่า ลักษณะสีสันของผ้าอาจเป็นที่มาของการเรียกขานกลุ่มนี้ทั้งหมดว่า "ไท-ครั่ง” / ลาวครั่ง” ก็เป็นได้และเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลประวัติศาสตร์ในอนาคตเราคงจะต้องมีการไปศึกษาวิจัยในพื้นที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งยังมีชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมนี้บางส่วนอาศัยอยู่
ข้อมูลการวิจัยด้านผ้าต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มาของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ครั่ง ความเข้าใจในอัตลักษณ์ลวดลายและสีสันของผ้าทอไท-ครั่ง จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภคที่จะได้เข้าใจและเปิดใจสุนทรียภาพที่แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ้าทอต่อไปในอนาคต ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้งาน เสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP : หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) การมีผู้สืบทอด มรดกทางวัฒนธรรมทางภูมิปัญญา (Intangible Cultural Heritage) ก็จะเป็นความพร้อมของตัวชี้วัดในการเสนอขอขึ้นทะเบียนในระดับ UNESCO ต่อไปในอนาคตอันใกล้
สุดท้ายนี้เราอาจถ่ายทอดภาพรวมของอัตลักษณ์ "ผ้าทอไท-ครั่ง” เป็นบทกวีสั้นๆ ได้ว่า
"…แสงแดดจ้า…แห่งฤดูร้อน…สาดส่อง…
ผ้าทอไท-ครั่ง…สีแดงครั่ง…โดดเด่น…
แลดูมองเห็น…มาแต่ไกล…
นิยมใช้สีสันสดใส…และใช้สีตรงข้ามตัดกัน…
แข่งขันความรุนแรง…สีแดง..สีเขียว…
สีขาว…สีดำ…สีเหลืองแจ่ม…
ลายโตเด่นชัด…มองเห็นถนัดตา…
สลับสีอย่างอิสระ…ดูไร้แบบแผน…แต่ได้สมดุล
เป็นแนวศิลปะ…ที่สื่อเสน่ห์อันบริสุทธิ์…
แสดงความเป็นเนื้อแท้ของธรรมชาติ…
คือเอกลักษณ์พิเศษของผ้าทอไท-ครั่ง…”