เรื่อง : นิรุตร์ แก้วหล้า
ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี, ทวี ศิริ, นิรุตร์ แก้วหล้า
เค่งดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
ดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นดนตรีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษด้วยวิธีมุขปาฐะ มีนักดนตรีอาวุโสเป็นผู้สอนการจับเครื่องดนตรี การวางนิ้วมือ การท่องเนื้อเพลง และเทคนิคการบรรเลงเครื่องดนตรี ทั้งนี้ดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่าอยู่ในสังคมวัฒนธรรมม้งมานานแค่ไหนไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์เก็บไว้ หากมองย้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานสันนิษฐานว่าดนตรีคงเกิดช่วงที่ชาวม้งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ชาวม้งที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) เมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช ดนตรีจึงผูกพันอยู่ในการดำเนินชีวิตของชาวม้งมาเนิ่นนาน บทบาทของดนตรีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับความเชื่อ ประเพณี วิถีชีวิตของชาวม้ง ใน ๕ ด้านคือ ดนตรีเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ เพื่อการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เพื่อเป็นการระบายความสุขความทุกข์ในใจ เพื่อสื่อสารกับวิญญาณ และสุดท้ายการเล่นดนตรีของชาวม้งคือการรักษาสืบทอดศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม ให้ดนตรีม้งไม่สูญหายจากไป
เค่ง (Qeej)๑ หรือแคนม้ง เป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในตระกูลเครื่องลมประเภทที่มีท่อเสียง (Aerophones) ภายในท่อมีลิ้นทองเหลืองติดเข้าไปกับตัวท่อ บรรเลงโดยวิธีการเป่าเสียงและดูดเสียง บทบาทของเค่งในสังคมวัฒนธรรมชาวม้งถูกนำมาใช้ ๒ ลักษณะคือ งานศพ ซึ่งเชื่อว่าการบรรเลงเพลงเค่งเป็นเครื่องนำทางดวงวิญาณของผู้ตายไปหาบรรพบุรุษอีกภพหนึ่ง บทเพลงที่บรรเลงมีเนื้อหาความหมายบอกเรื่องราวให้ดวงวิญญาณรับรู้ สื่อสารระหว่างโลกของมนุษย์กับโลกวิญญาณ และการนำเค่งมาบรรเลงบทเพลงทั่วไป เช่น ช่วงปีใหม่ม้งซึ่งมีเนื้อหา และความหมายเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การเปรียบเทียบเปรียบเปรย เช่น เพลงเกี่ยวกับสาวสองคนที่ไม่มาหากัน มีความหมาย ๒ ลักษณะคือ ๑) ตื่นมาตอนเช้าๆ มีไก่ตัวผู้อยู่หน้าบ้าน ไก่ขันร้องเป็นภาษามนุษย์ว่าอยากได้สาวสวยมาเป็นคู่ แต่สาวคนนั้นไม่มาอยู่ด้วย เราได้แต่เฝ้ามองหาอย่างไรก็ไม่เจอ ๒) ไก่ตัวหนึ่งนำกระด้งฝัดข้าวมาฝัดหาดูว่ามีสาวอยู่ไหม ฝัดไปเรื่อยๆ ก็ไม่เจอสาว ไปหาที่ไหนก็ไม่เจอ จากนั้นเดินเข้าไปหาที่สวนกุหลาบ ระหว่างนั้นไก่ตัวผู้นั้นก็โดนหนามตำร้องเสียงดังลั่นบ้าน๒
เค่ง มีลักษณะทางกายภาพ ๒ ส่วน คือ ๑) ส่วนท่อของเค่ง เรียกว่า ลำเค่ง (ดี๋เค่ง) ๒) ส่วนตัวเค่ง (เต๊าเค่ง)
เสียงท่อที่ ๑ (ท่อดี๋ลัว) เป็นท่อขาดใหญ่อยู่ขวามือของเต้าเค่ง กดเสียงด้วยนิ้วหัวแม่มือขวา (โน้ต F)
เสียงท่อที่ ๒ (ท่อดี๋สู่) เรียงถัดมาจากท่อที่ ๑ กดด้วยนิ้วชี้มือขวา (โน้ต C, G)
เสียงท่อที่ ๓ (ท่อดีเค่ง) เรียงถัดมาจากท่อที่ ๒ กดด้วยนิ้วกลางมือขวา (โน้ต G)
เสียงท่อที่ ๔ (ท่อดี๋ตือ) เป็นท่อที่วางติดกับท่อที่ ๑ (ดี๋ลัว) กดด้วยนิ้วหัวแม่มือซ้าย (โน้ต D)
เสียงท่อที่ ๕ (ท่อดี๋บู่) เรียงถัดมาจากท่อที่ ๑ กดด้วยนิ้วชี้มือซ้าย (โน้ต F ต่ำ)
เสียงท่อที่ ๖ (ท่อดี๋ไล) เรียงถัดมาจากท่อที่ ๒ กดด้วยนิ้วกลางมือซ้าย (โน้ต G ต่ำ)
กลุ่มเสียงสำคัญของเค่ง (บันไดเสียง) คือเสียงสำคัญที่เกิดจากท่อทั้ง ๖ ท่อ จากภาพคือกลุ่มเสียงสำคัญจัดเรียงโน้ตดังนี้ F G Bb C D F G ทั้งนี้โน้ตของท่อดี๋สู่มีสองเสียงคือ C และ G และหากวิเคราะห์จากกลุ่มเสียงสำคัญสามารถจัดเรียงโน้ตใหม่คือ Bb C D F G ซึ่งคือบันไดเสียงบีเฟลตเมเจอร์แบบ ๕ เสียง (Bb Major Pentatonic)
เต้าเค่ง หรือลำตัวเค่ง สมัยก่อนนิยมผลิตจากไม้เนื้ออ่อนเรียกว่า "ดง ดล๋า” ไม้ชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกันกับไม้ใช้ทำทัพพี และไม้ "ตะสีเปะ” ซึ่งไม้ชนิดนี้มี ๒ แบบ คือตะสีเปะถู (ถู คือ ต้นสน) และตะสีเปะซั๊ว (ซั๊ว คือ ต้นเฟิร์น) การผลิตเต้าเค่งโดยใช้ไม้ชิ้นเดียวผ่าตรงกลางออก ๒ ซีก และเจาะให้กลวง จากนั้นนำมาประกบกันให้สนิท รัดด้วยเปลือกไม้กำลังเสือโคร่ง (เถอะเหย่ง) บ้างก็ใช้พลาสติกรัด ปัจจุบันลำตัวเค่งนิยมใช้ท่อน้ำไนโซล่อนขนาดใหญ่ใช้ความร้อนเพื่อขยายตัวท่อให้ได้ขนาด ลำตัวสำหรับมือจับลักษณะเป็นกระเปาะ (เต้า) รูปทรงรี เจาะรูตามแนวตั้งจำนาน ๒ แถวๆ ละ ๓ รู เพื่อใช้เสียบท่อเค่ง ส่วนปลายของเต้าเค่งเป็นท่อสำหรับเป่ามีลักษณะเรียวยาวต่อท่อขนาดเล็กเพื่อใช้เป็นปากเป่า ส่วนปลายสุดของเต้าเค่งฝั่งตรงข้ามปากเป่ามีวาล์วสำหรับหมุนเพื่อระบายน้ำลาย
บทบาทของเค่งในวิถีชีวิตชาวม้ง
การสื่อสารถึงความสุข
การบรรเลงเค่ง เพื่อความบันเทิง เป็นการบรรเลงทั้งภาคกลางวัน และกลางคืน โดยกลางวันมีชื่อเรียก "เค่งนุ๊” ใช้เป่าบรรเลงเพื่อเกี้ยวพาราราสี หรือจีบสาว หรือใช้เป่าระหว่างเดินทางไปป่า ส่วนเค่งที่ให้ความบันเทิงเวลากลางคืนมีชื่อเรียก "เค่งมอดุ๊” มีบทบาทเพื่อการเกี้ยวพาราสีเพียงอย่างเดียว อีกทั้งบทเพลงที่บรรเลงสำหรับกลางคืนเท่านั้นไม่สามารถนำมาบรรเลงเวลากลางวันได้
บรรเลงเค่ง ถูกใช้เพื่อเป็นตัวแทนการทักทายและการอวยพรในเทศกาลปีใหม่ม้งเมื่อมีการพบปะทักทายกันพอสมควรแล้วจะนำเค่งเป่าเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งการทักทายกัน หรือสวัสดี "ซินซึซือปุ” อีกทั้งแสดงถึงความชื่นชมยินดีที่ได้มาพบปะกันเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน รวมถึงเป่าเค่งเพื่ออวยพรให้มีความสุข มีความเจริญในหน้าที่การงาน มีสุขภาพที่แข็งแรงกลับไป การบรรเลงเค่งยังแสดงความรู้สึกแก่ผู้มาเยือน (คิคลิ) เจ้าบ้านจึงมีความรู้สึกดีใจ ซาบซึ้งใจ จึงต้องเป่าเค่งแสดงออกถึงความเคารพ แสดงความคิดถึงกันอยู่เสมอ
การสื่อสารถึงดวงวิญญาณ
บทบาทเค่งในพิธีศพของชาวม้งนั้นถือว่าเค่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญต่อพิธิศพมาก เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์สื่อสารระว่างวิญญาณผู้ตายสู่อีกโลกหนึ่ง ชาวม้งเชื่อว่าเมื่อมีคนตายในหมู่บ้านต้องรีบนำเค่งมาเป่าก่อน ซึ่งเสียงเค่งจะสามารถสื่อสารกับวิญญาณผู้ตาย และเพื่อเป็นการนำทางดวงวิญญาณของผู้ตาย ผู้เป่าเค่งในพิธีศพ เรียก "สือเต้ง” และคนตีกลองอีกหนึ่งคน
ขั้นตอนการเป่าเค่งในพิธีศพ
๑) ผู้ทำพิธีสวด (เต๋อวเก๋) เริ่มพิธีสวดชี้นำวิญญาณผู้ตาย ณ จุดที่เคยฝังรกของผู้ตาย (หากมีการฝังรกไว้หลายแห่ง จะมีการสวดทุกจุดที่เคยฝังรก) เมื่อสวดเสร็จจึงมีการเป่าเค่งและตีกลอง ซึ่งบทเพลงใช้สำหรับงานศพเท่านั้น การเป่าเค่งให้ผู้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นการเป่าสื่อสารกับผู้ตายว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว และชี้ทางแก่วิญญาณผู้ตายให้ทราบว่าจะเดินทางไปพบบรรพบุรุษที่ไหน เมื่อพบภัยศัตรูจะต่อสู้อย่างไร การข้ามน้ำ ข้ามภูเขาสูงจะทำอย่างไร การไปเกิดใหม่ต้องทำอย่างไร
๒) ช่วงเวลาในพิธีศพ ก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อต้องเป่าเค่ง ตีกลองพร้อมกับยิงปืน ๓ นัด และอีกเวลาหนึ่งตอนเที่ยงคืนให้ปฏิบัติเหมือนกัน จนกว่าจะจบพิธีศพ
๓) พิธีศพช่วงเวลากลางวัน ต้องเป่าเค่งเพื่อนำทางวิญญาณผู้ตายสู่ปรโลก ใช้บทเพลงนำทางชื่อว่า "ช่องเก๋” บทเพลงนี้ไม่เพียงเพื่อนำทางวิญญาณเท่านั้นยังเป็นการสร้างบรรยากาศในงานพิธี และทำให้ญาติพี่น้องผู้ตายรู้สึกสบายใจหมดกังวล ให้มีความเชื่อว่าวิญญาณจะไม่มีความทุกข์ ความยากลำบากต่อไปอีกแล้ว
๔) พิธีศพช่วงเวลากลางคืน ความหมายของบทเพลงจะสื่อสาร เชิญชวนแขกอยู่เป็นเพื่อนตลอดทั้งคืน สร้างบรรยากาศให้คึกคัก อวยพรแขกที่มาร่วมงานให้มีความสุข
๕) พิธีฆ่าวัว ในช่วงตอนเย็นก่อนวันฝัง บรรดาญาติหาพื้นที่ฆ่าวัว และนำวัวเท่าจำนวนลูกชายของผู้ตาย เต๋อวเก๋ ทำพิธีสวดให้วัวเป็นผู้นำวิญญาณผู้ตายไปสู่สวรรค์ และสือเต้งจึงบรรเลงเค่ง และตีกลอง เมื่อเสร็จพิธีจะรื้อหนังกลองทิ้งไว้บริเวณนั้น
ข้อห้ามของการเป่าเค่ง
๑) บทเพลงในพิธีศพไม่นิยมนำมาเป่าเล่น ใช้เป่าเฉพาะพิธีศพ
๒) เมื่อเป่าเค่งในพิธีศพต้องตีกลองเสมอ ชาวม้งเชื่อว่าเสียงเค่งเปรียบเสมือนสิ่งคอยชี้นำทางอยู่ข้างหน้าวิญญาณผู้ตาย ส่วนกลองเสมือนเพื่อนที่มีพลังคอยเดินตามอยู่ข้างหลัง
๓) เพลงที่ใช้เป่าในเวลากลางวันห้ามใช้เป่าในเวลากลางคืน และเพลงที่ใช้เป่าในเวลากลางคืนห้ามใช้เป่าในเวลากลางวัน
บทเพลงที่บรรเลงด้วยเค่งมีรูปแบบโครงสร้างค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีจังหวะตายตัว ทั้งนี้เนื่องจากทำนองมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กลอนเพลงของเค่งมีคำที่ไม่เท่ากัน ทำให้ไม่สามารถลงจังหวะที่ชัดเจนได้ บทเพลงเค่งไม่มีรูปแบบของจังหวะที่ชัดเจน (Non Metric) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลอนของบทเพลง อัตราความเร็วของบทเพลงเค่ง (Tempo) ตัวดำเท่ากับ q = ๖๐–๖๖ หรืออัตราความเร็ว "ช้าๆ ไม่รีบร้อน” การวิเคราะห์กระสวนจังหวะของบทเพลงซึ่งได้จากจังหวะเสียงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง นั่นคือค่าโน้ตตัวดำ
ปัจจุบันแม้จะมีดนตรีกระแสนิยม และสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบามต่อวัฒนธรรมดนตรีม้ง หากแต่เยาวชนรุ่นใหม่ก็ยังคงให้ความสนใจฝึกฝนการเป่าเค่งจากนักดนตรีรุ่นใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ชาวม้งอยู่บ้าง ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามอย่างมาก ซึ่งอาจใช้เวลาถึง ๓–๕ ปี เพื่อที่จะสามารถฝึกฝนบทเพลง และท่าเต้นรำ จึงจะสามารถนำเค่งมาบรรเลงในงานประเพณีได้ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนเท่าใดนัก
ดนตรีม้งนั้นมีความเกี่ยวข้องกับดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ดังเช่นเค่งของม้ง มีลักษณะคล้ายกับ ฝู่หลู ของชาวลีซู และคล้ายกับหน่อของชาวลาหู่ ซึ่งเป็นแคนเป่าเพื่อใช้ในบริบทที่ต่างกันของแต่ละชาติพันธุ์เท่านั้น ความไม่ชัดเจนในเรื่องประวัติความเป็นมาเรื่องดนตรีของชาวม้งนั้น น่าจะเกิดจากการสืบทอดจากการจดจำ การบอกเล่าจากปากต่อปากกันมา และการต่อเพลงจากมือต่อมือจากการสอนของผู้รู้ ที่ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมมุขปาฐะ
เมื่อเสียงเป่าเค่งดังขึ้น ตัวโน้ตแต่ละตัวที่บรรเลงออกมาได้สื่อสารถึงเรื่องราวของความสุข ความทุกข์ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้งต่างรับรู้ร่วมกัน ดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในบริบทวัฒนธรรมของชาวม้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือวัฒนธรรมม้งจะขาดดนตรีในส่วนงานกิจกรรมชุมชนไปเสียไม่ได้ บทเพลงต่างๆ ของชาวม้งที่บรรเลงและขับร้องออกมานั้น ล้วนมีเนื้อหา หรือความหมายอันสอดแทรกถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ความไพเราะของดนตรีม้งจึงได้ช่วยขัดเกลาจิตใจ และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของสังคมม้งให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ที่งดงามของกลุ่มชนสืบไป
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒