กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ผ้าทอเมืองอุบลฯ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

วันที่ 25 มิ.ย. 2562
 
เรื่อง : ดร.สิทธิชัย สมานชาติ
ภาพ : ดร.สิทธิชัย สมานชาติ, ทวี ศิริ
 
 
 
ผ้าทอเมืองอุบลฯ
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
 
 
     ผ้าทอเมืองอุบลฯ มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามของผ้าไหม ซึ่งเป็นมรดกสิ่งทอที่ได้ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๗
 
     ด้วยยังมีชุมชนที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าอยู่ในปัจจุบันที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ หมู่บ้านบอน อำเภอสำโรง หมู่บ้านลาดสมดี อำเภอตระการพืชผล บ้านปะอาว อำเภอเมือง บ้านสมพรรัตน์ อำเภอบุณฑริก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานตัวอย่างผ้าโบราณ ที่ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี โดยจัดแสดงทั้งตัวอย่างผ้าโบราณ เครื่องทอผ้าและอุปกรณ์ทอผ้า ผ้าทอเมืองอุบลฯ ยังมีภูมิหลังของการสืบทอดภูมิปัญญา มีลวดลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์เป็นสิ่งแสดงความสัมพันธ์ของภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรล้านช้าง ความเกี่ยวพันกับผ้าทอชนเผ่าในลุ่มแม่น้ำโขงและความเกี่ยวดองของเจ้านายเมืองอุบลฯ กับราชสำนักสยามที่สะท้อนออกจากลวดลายผ้าเป็นที่ประจักษ์
 
     ภูมิหลัง เมืองอุบลราชธานี
     ความเป็นมาของตระกูลเจ้านายเมืองอุบลราชธานี มีการสืบเชื้อสายจากเจ้านครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ราวปี พ.ศ. ๒๒๒๘ จีนฮ่อธงขาวยกทัพมาปล้นเชียงรุ้ง ทำให้เจ้าเชียงรุ้ง มีเจ้าแสนหวีฟ้า เจ้าปางคำ ได้อพยพไพร่พลไปพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายมารดา (บำเพ็ญ ณ อุบล และคะนึงนิตย์ จันทรบุตร, ๒๕๓๕: ๕) เจ้าปางคำนั้นโปรดให้เสกสมรสกับพระราชนัดดา ได้โอรสคือ พระวอ พระตา
 
     พ.ศ. ๒๓๑๐ พระวอ พระตา เกิดความขัดแย้งกับเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ที่พระวอ พระตาเคยสู้รบให้จนได้เป็นกษัตริย์ จึงแยกตัวออกจากการอำนาจของเวียงจันทน์ข้ามฟากมาตั้งตัวอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง สร้างเมืองและตั้งชื่อเมืองในเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นอิสระและความเจริญรุ่งเรืองว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” (เติม วิภาคย์พจนกิจ, ๒๕๓๐ : ๑๐๙) ทำให้เวียงจันทน์ไม่อาจยินยอมได้ จึงพยายามปราบปรามและติดตามกำจัดเรื่อยมาจนพระตา และพระวอตายในที่รบ แม้หนีมาพึ่งเมืองนครจำปาศักดิ์ที่เป็นเอกราชจากเวียงจันทน์ก็ตาม ในที่สุด บุตรหลานที่เหลืออยู่ไม่มีทางเลือกต้องหันมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร
 
     พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี เป็นบุตรของพระตาและนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๒ ที่นครเวียงจันทน์ เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ยธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชา ของพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระประทุมสุรราช” เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๓ อันเป็นตำแหน่งนายกองใหญ่คุมเลก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ตำบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อ เมืองนี้ว่า "เมืองอุบลฯ" จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็น "พระประทุมวรราชสุริยวงศ์” และยกฐานะเมืองอุบลเป็น "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ประเทศราช"
 
 
     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองอุบลราชธานีมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชที่มีเจ้าปกครองเช่นเดียวกันกับเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ คือปกครองด้วยคณะ "อาญาสี่” อันประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ราชบุตร ตามโบราณราชประเพณีล้านช้าง โดยเจ้านายในสายตระกูลพระวอ พระตา ได้ปกครองสืบต่อมา (เติม วิภาคย์พจนกิจ, ๒๕๓๐ : ๓๓๕)
 
     ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศ ทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากการล่าเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสโดยเฉพาะหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงกำกับราชการจากกรุงเทพฯ ไปประจำที่เมืองอุบลราชธานีและเมืองจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครอง ด้วยการแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาเป็นข้าหลวงประทับที่หนองคายและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นมณฑลที่ติดต่อกับเขตปกครองของฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่ง "ข้าหลวงต่างพระองค์” พร้อมจัดแบ่งหัวเมืองต่างๆ ที่ดำเนินการไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้กรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ มาดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓
 
     เจ้านายเมืองอุบลฯ ได้มีการเชื่อมความสัมพันธ์กับเจ้านายจากกรุงเทพฯ เมื่อกรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ เสด็จมาประทับที่เมืองอุบลได้พระชายาเป็น "นางเจียงคำ” ธิดาของท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั่น) บุตรของราชบุตรสุ่ย ราชบุตรเมืองอุบลราชธานี กับได้หม่อมบุญยืน (หม่อมบุญยืน ชุมพล ณ อยุธยา) ญาติหม่อมเจียงคำ มาเป็นชายาอีกคน ความเกี่ยวดองของเจ้านายเมืองอุบลฯ ทำให้เกิดการถ่ายโอนลวดลายผ้าจากราชสำนักสยาม ดังปรากฏพบได้ในตัวอย่างผ้าโบราณหลากหลายผืน
 
     ลวดลายผ้าและเทคนิคการทอผ้าของเมืองอุบลฯ
     "ผ้าทอเมืองอุบลฯ” ยังคงสืบทอดการทอผ้าอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจากการสำรวจศึกษาหลักฐานผ้าตัวอย่างผ้าโบราณ จากทั้งแหล่งพิพิธภัณฑ์ คลังสะสมส่วนบุคคล รวมทั้งจากชุมชนแหล่งผลิตผ้าทอมือที่ยังสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งผ้าทอแบบเจ้านายเมืองอุบลฯ และผ้าทอแบบพื้นบ้านเสนอขอขึ้นทะเบียน เป็นจำนวน ๑๘ ประเภท ได้แก่ ๑) ผ้าเยียรบับลาว ๒) ผ้าซิ่นยกดอกเงิน-ดอกคำ (ลายสร้อยดอกหมาก ลายสร้อยดอกพร้าว ลายดอกแก้ว) ๓) ผ้าซิ่นมุก/ซิ่นทิวมุก ๔) ผ้าซิ่นหมี่คั่น/ซิ่นหมี่น้อย (ลายปราสาทผึ้ง ลายนาคน้อย ลายจอนฟอน ลายนาคเอี้ย ลายหมากจับ ลายคองเอี้ย) ๕) ผ้าซิ่นมัดหมี่-หมี่รวด (ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายหมากจับ ลายหมากบก) ๖) ผ้าซิ่นทิว/ซิ่นก่วย/ซิ่นเครือก่วย ๗) ผ้าซิ่นมับไม/ผ้าซิ่นไหมก่อม/ซิ่นไหมเข็นก้อม/ซิ่นสีไพล/ซิ่นตาแหล่ ๘) ผ้าซิ่นหมี่ฝ้าย ๙) แพรตุ้ม ๑๐) แพรขิด ๑๑) แพรไส้ปลาไหล ๑๒) แพรอีโป้ (ผ้าขาวม้าเชิงขิด) ๑๓) ผ้าตาโก้ง (โสร่งไหม) ๑๔) ผ้าธุงขิด ๑๕) หมอนขิด ๑๖) ผ้าต่อหัวซิ่น (หัวจกดาว หัวจกดอกแก้วทรงเครื่อง หัวขิดคั่นลายกาบพร้าว) ๑๗) ตีนซิ่นแบบเมืองอุบลฯ (ตีนตวย ตีนกระจับย้อย ตีนปราสาทผึ้ง ตีนขิดดอกแก้ว ตีนช่อ) ๑๘) ผ้ากาบบัว (ผ้าประจำจังหวัด ๒๕๔๒-ปัจจุบัน)
 
 
     ในประเด็นเรื่องลวดลายผ้าและเทคนิคการทอผ้าของเมืองอุบลฯ ได้ข้อสังเกตผ้าทอที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองอุบลฯ ที่สำคัญได้แก่ ๑) "ผ้าเยียรบับลาว” ผ้าทอที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเรื่องความงดงาม ดังปรากฎคำชมเชยในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีตัวอย่างผ้าโบราณเก็บรักษาไว้ที่วัดเลียบ คลังสะสม ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล และคลังสะสมบ้านคำปุน ลักษณะผ้าเป็นผ้ายกไหมหลากสี ใช้การจกลวดลายสลับสีและทอแทรกดิ้นทองดิ้นเงิน ซึ่งคุณมีชัย แต้สุจริยา แห่งบ้านคำปุน ได้ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูผ้าเยียรบับลาวขึ้นมาใหม่จากผ้าโบราณที่มีลวดลายตามแบบฉบับราชสำนักสยาม (ลายท้องผ้า ลายสังเวียนผ้า ลายกรวยเชิง) ด้วยวิธีการทอด้วยเทคนิคลายยกขิดที่เก็บตะกอลวดลาย โดยในปัจจุบันใช้วิธีการเก็บตะกอแนวดิ่งที่สามารถเก็บลายผ้าไว้ทอซ้ำได้ ๒) ผ้าซิ่นยกดอกเงิน-ดอกคำ เป็นผ้าซิ่นของกลุ่มเจ้านายเมืองอุบลฯ ที่ทอยกขิด (ทอเสริมเส้นพุ่งพิเศษ) ด้วยเส้นโลหะดิ้นเงินดิ้นทองซึ่งนำเข้าจากฝรั่งเศสหรืออินเดีย ทอเป็น "ลวดลายแนวดิ่ง” ที่เรียกในภาษาถิ่นว่า "ซิ่นลายล่อง” เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายสร้อยดอกหมาก ลายสร้อยดอกพร้าว ลายดอกแก้ว เป็นต้น ๓) ผ้าซิ่นมุก/ซิ่นทิวมุก เป็นผ้าเจ้านายฝ่ายหญิงระดับอัญญานาง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ใช้เครือเส้นยืนแบบซิ่นทิว เป็นลายริ้วสลับขนาดตลอดหน้าผ้า ทอตกแต่งด้วยเทคนิคการทอเสริมเส้นยืนพิเศษผสมเทคนิคการจก/ทอเสริมเส้นพุ่งพิเศษลาย "ดาว” จึงนิยมเรียกชื่อเต็มว่า "ซิ่นทิวมุกจกดาว” ๔) ผ้าซิ่นมัดหมี่ ของชาวเมืองอุบลฯ จะใช้เทคนิคการ "มัดโอบ” ลำหมี่เพื่อย้อมสีลวดลายมัดหมี่ทั้งสีพื้นของลายหลักและสีอื่นๆ ของลายประกอบ โดยลวดลายเอกลักษณ์ของ "ผ้าซิ่นหมี่คั่น/ซิ่นหมี่น้อย” ได้แก่ ลายปราสาทผึ้ง ลายจอนฟอน (พังพอน) ลายขอนาค/นาคน้อย ลายหมากจับ ลายคลองเอี้ย เป็นต้น ส่วนลวดลายเอกลักษณ์ของ ผ้ามัดหมี่ (หมี่รวด) ได้แก่ ลายหมี่โคมห้า ลายหมี่โคมเจ็ด ลายหมี่วง หมี่นาค หมี่หมากจับ หมี่หมากบก เป็นต้น ๕) "หัวซิ่น” โดยเฉพาะ "หัวซิ่นจกดาว” และ "หัวซิ่นจกดอกแก้วทรงเครื่อง” ที่โดดเด่นกว่า "หัวซิ่นขิดคั่น” ที่ใช้ทั่วไปในภาคอีสาน ๖) "ตีนซิ่น” (ตีนกระจับย้อย ตีนตวย ตีนขิดปราสาทผึ้ง ตีนขิดดอกแก้ว ตีนช่อ ตีนขิดคั่น) โดยลวดลายตีนซิ่นที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์คือ "ลายตีนตวย” ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะที่ประยุกต์มาจาก "ลายกรวยเชิง” ที่เป็นหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยาม (กรุงเทพฯ) กับทางเจ้านายเมืองอุบลฯ ๗) ผ้าซิ่นทิว/ซิ่นก่วย/ซิ่นเครือก่วย ที่มีการพัฒนาสีสันอันหลากหลายกว่ากลุ่มอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง (ซิ่นทิวสีโทนแดง ซิ่นทิวสีโทนคราม ซิ่นทิวสีโทนเขียว) ดังหลักฐานที่บันทึกไว้บนภาพฮูปแต้ม วัดทุ่งศรีเมือง ๘) ธุงขิด ที่มีพัฒนาการการคิดสร้างสรรค์ลวดลายขิดที่งดงาม เต็มผืน ด้วยลายหอปราสาท ลายนาค ลายมอม ลายเสือ ลายวัว ลายช้าง ลายม้า ลายคนท่าทางต่างๆ ฯลฯ ๙) ผ้ากาบบัว เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประกาศขึ้นเป็นผ้าประจำจังหวัด โดยคุณมีชัย แต้สุจริยา บ้านคำปุน ได้รับมอบหมายจาก อดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศิวะ แสงมณี ให้คิดค้นออกแบบเป็นผ้าประจำจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นผ้าที่ใช้วิธีการทอผ้าผสม ๔ เทคนิค ๑) มัดหมี่-จะนิยมมัดกั้นสีเส้นพุ่ง ๒) ขิด-ทอเสริมเส้นพุ่งพิเศษทั้งด้วยเส้นใยไหมและดิ้นเงินดิ้นทอง ๓) มับไม (ควบเส้น) และ ๔) เครือทิว จนได้รับความนิยมทอกันแพร่หลาย
     นอกจากนี้ผ้าทอเมืองอุบลฯ ยังได้เป็นสิ่งบ่งบอกความสัมพันธ์กับชนเผ่าอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ๑) "ผ้าซิ่นมุก/ซิ่นทิวมุก” ที่เจ้านายเมืองอุบลฯ น่าจะประยุกต์มาจากผ้าซิ่นมุกของชนเผ่ามะกอง แขวงสะหวันนะเขต สปป. ลาว ๒) "ผ้าซิ่นไหมก่อม/ซิ่นไหมเข็นก้อม/ซิ่นสีไพล/ซิ่นตาแหล่” ที่ชาวเมืองอุบลฯ มีมรดกสิ่งทอร่วมกันกับ "ชาวกูย” และ "ชาวเยอ” ที่เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่อีสานใต้ ๓) "แพรไส้ปลาไหล” "แพรอีโป้” (ผ้าขาวม้าเชิงขิด) "ผ้าตาโก้ง” (โสร่งไหม) ก็เป็นผ้าทอที่ชาวเมืองอุบลฯ ได้มีมรดกสิ่งทอร่วมกันกับคนในพื้นที่อีกกลุ่มคือ "ชาวเขมรถิ่นไทย/เขมรสูง” และ "ชาวกูย” ๔) "ผ้าซิ่นหมี่ฝ้าย” นั้นนิยมย้อมด้วยสีครามเป็นพื้น มัดเว้นลวดลายเป็นสีขาว อันเป็นมรดกร่วมของชาวไท-ลาว และชนเผ่าอื่นๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ๕) "แพรขิด/แพรตุ้ม” "หมอนขิด” และ "ธุงขิด” เป็นมรดกสิ่งทอร่วมกันกับ "ชาวภูไท” และ "ชาวไท-ลาว” ที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันในระหว่างเส้นทางอพยพจากล้านช้าง (สปป. ลาว) ลงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองอุบลฯ อย่างไรก็ดีผ้าทอที่เป็นมรดกร่วมกันนี้ส่วนใหญ่ ช่างทอชาวเมืองอุบลฯ จะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบสีสันของลายผ้าทอเพื่อให้ตรงรสนิยมเฉพาะตัวของตนเอง
 
     การฟื้นฟูผ้าทอเมืองอุบลฯ
     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้น ได้มีความตื่นตัวในการฟื้นฟูการทอผ้าแบบเจ้านายเมืองอุบลฯ ด้วยความนิยมในคุณค่าผ้าทอแบบกลุ่มเจ้านายหรืออัญญานางซึ่งเป็นลวดลายเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าทอเมืองอุบลฯ หลายชุมชนที่มีทักษะการทอผ้า ได้รับการส่งเสริมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐคือ วัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุบลราชธานี คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รวมทั้งภาคเอกชนที่เป็นร้านผ้าไหม เช่น ร้านคำปุน ร้านต้นเทียนไหมไทย ร้านจันทร์หอมไหมไทย ฯลฯ โดยมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าในหลายชุมชน ได้แก่ ๑) บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ ๒) หมู่บ้านบอน อำเภอสำโรง ๓) หมู่บ้านลาดสมดี อำเภอตระการพืชผล ๔) บ้านปะอาว อำเภอเมือง ๕) บ้านสมพรรัตน์ อำเภอบุณฑริก เป็นต้น โดยได้มีการนำลวดลายผ้าโบราณที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มาฟื้นฟูทอขึ้นใหม่ สร้างรายได้จำนวนมหาศาลแก่ผู้ประกอบการและช่างทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานี
 
 
     ด้วยฝีมือความสามารถที่เป็นเลิศของศิลปิน/ช่างฝีมือการทอผ้าเมืองอุบลฯ โดยเฉพาะ คุณแม่คำปุน ศรีใส ที่ได้รับยกย่องเป็น "ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และทายาทคือ คุณมีชัย แต้สุจริยา ซึ่งก็ได้รับยกย่องให้เป็น "ครูช่างศิลป์ของแผ่นดิน” โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ช่วยทำให้ชื่อเสียงของผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้รับการเผยแพร่ไปสู่สาธารณะในวงกว้าง ตลอดจนมีการทำวิจัยและการส่งเสริมคุณค่าผ้าทอเมืองอุบลฯ จึงทำให้เกิดกระแสความนิยมผ้าทอแบบเจ้านายเมืองอุบลฯ มีความต้องการมากในสังคมชั้นสูง จึงทำให้เกิดการขยายตัวกำลังการผลิตทั้งในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี (ที่คนรุ่นใหม่ย้ายกลับภูมิลำเนามาทอผ้าเป็นอาชีพ) และขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกด้วย
     จึงนับได้ว่าลวดลายผ้าทอเมืองอุบลฯ หรือผ้าทอแบบเจ้านายเมืองอุบลฯ นั้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ที่เป็นวัฒนธรรมมีชีวิต (Living culture) นอกจากยังสืบทอดกันในพื้นที่ต้นกำเนิดแล้ว ยังมีพลังทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตไปในวงกว้างของภาคอีสาน ด้วยพลังความงดงามของผืนผ้าและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสิ่งทอนั้นเอง
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html  
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)