เรื่อง/ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
ค่าล้ำ...วัฒนธรรม
ชาวไทยภูเขา
ภาพข่าวหนึ่งซึ่งดังก้องสะเทือนวงการแฟชั่นโลก เมื่อปีที่ผ่านมา คือ ภาพข่าวคราวพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮรี่ แห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งบรรดาไฮโซแนวหน้า คนดัง ดาราหนังฮอลลีวูด ต่างได้รับเชิญเข้าร่วมงานและพากันแต่งกายด้วยเสื้อผ้างดงามแบรนด์ดีมีชื่อเสียงประกวดประชันกัน ไม่แพ้งานเดินพรมแดงอื่นใด ทำเอาบรรดาตากล้อง ผู้สื่อข่าวแฟชั่นทั้งหลายทั้งในยุโรป และอเมริกา ตื่นตัวติดตามเสนอข่าวกันเป็นการใหญ่
และในครั้งนั้น หญิงสาวสวยมีชื่อเสียงคนหนึ่ง แต่งกายสวยงามเข้าร่วมงานเลี้ยงกลางวันด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บขึ้นจากผ้าพื้นเมืองฝีมือชาวม้ง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ก็ปรากฏกายขึ้นอย่างโดดเด่น ทำเอาสื่อมวลชน สายแฟชั่นในงานครั้งนั้น ต่างเอ่ยชมเชยเครื่องแต่งกายของหญิงสาวผู้นั้นยกให้เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายชุดที่สวยเก๋ โดดเด่นที่สุดชุดหนึ่งในงานใหญ่ระดับโลกนั้น และภาพของหญิงสาวในชุดเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากผ้าทอของชาวม้ง จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้รับการตีพิมพ์ และถ่ายทอดแพร่กระจายไปในสื่อดังต่างๆ ทั่วโลก และมาไกลถึงประเทศไทยด้วย
นั่นคือเหตุการณ์ในปีที่แล้ว ในปี ๒๐๑๙ นี้ ในงานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลก งาน ITB หรืองาน INTERNATIONAL TOURISM BORSE เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ที่มีองค์กรท่องเที่ยว ภาครัฐ และเอกชน ผู้ซื้อ ผู้ขาย ทางการท่องเที่ยวมากมายกว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน มีมูลค่าการซื้อขายล่วงหน้านับแสนล้านบาท ประเทศไทยนำพาผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานด้วย ในมุมมองการท่องเที่ยวใหม่ ปี ๒๐๑๙ คือ เมืองรอง และการท่องเที่ยวชุมชน โดยรูปธรรมคือ การนำพา พี่น้องชาวไทยภูเขาในเครือข่าย DoiSter ที่ทำการท่องเที่ยวชุมชน เน้นเรื่องอัตลักษณ์ของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปเป็นจุดขายสำคัญของพื้นที่ หรือ Booth ประเทศไทย
และนี่คือเรื่องจริงชัดเจน ที่ชี้ให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา ประชาชนส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของประเทศไทย เป็นคุณค่าที่ประเทศไทยสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ถึงระดับ เป็นตัวแทน แนะนำประเทศในเวทีระดับโลกได้อย่างน่าสนใจและน่าภาคภูมิใจเลยทีเดียว
ชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
ในวันนี้ ประเทศไทยมีคำที่ใช้เรียก กลุ่มชนที่เติมเข้ามาเป็นประชาชนไทย ที่มาเป็นกลุ่มก้อนและมีลักษณะเฉพาะตนอยู่หลากหลายคำด้วยกัน เช่น ชนกลุ่มน้อย ชาวชาติพันธุ์ไทยชนเผ่าพื้นเมืองไทย และ ชาวไทยภูเขา แต่ก็เป็นการยากที่จะระบุได้จริงๆ ว่า ประเทศไทยเรามีกลุ่มชนเหล่านี้อยู่จำนวนกี่กลุ่ม และรวมแล้วมีประชากรไทยที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มชนเช่นนี้อยู่จำนวนเท่าใด เพราะในความเป็นจริง ด้วยความที่ประเทศไทยเราเป็น สยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองที่ประชาชนนับถือพุทธศาสนา ที่กล่อมเกลาให้คนไทยมีจิตใจโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มต้อนรับผู้มาเยือน และบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครมาอยู่ก็มีความสุข ดังนั้นในวันนี้ การอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยของกลุ่มชนต่างๆ จึงยังไม่ยุติ แต่มิใช่เป็นการอพยพครั้งใหญ่แบบครึกโครม แต่เป็นการอพยพแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนน้ำซึมบ่อทราย
แต่ในวันนี้ ก็ไม่เหมือนวันก่อนๆ ที่การเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มชนต่างๆ มักถูกเก็บงำเร้นลับเป็นเวลาเนิ่นนานนับชั่วอายุคน ดังตัวอย่างเช่น ชาวไทยพวน ไทยดำ ลาวเวียง ลาวครั่ง ทั้งๆ ที่อยู่แถวเมืองนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ใกล้ๆ โดยรอบๆ กรุงเทพฯ แต่ก็ ปิดกันเงียบไม่ยอมบอกใคร หากในวันนี้เมื่อกระแสท่องเที่ยวขึ้นสูง การท่องเที่ยวชุมชนมีคุณค่า กลุ่มชนต่างๆ จึงค่อยๆ ปรากฏกายแสดงอัตลักษณ์ขึ้นให้เห็นชัดเจน อีกทั้งยังมีการปรากฏขึ้นของกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในขอบเขตทั่วประเทศ เช่น กลุ่มไทกวน กลุ่มไทเยอ กลุ่มคึฉื่ย กลุ่มดาระอั้ง กลุ่มปะโอ ชาวไทหย่า ชาวปลาง ชาวบรู เป็นต้น ลองนึกดู ชื่อเหล่านี้ เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน คนไทยแบบเราๆ ท่าน แทบไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อนเลย แต่อยู่ดีๆ เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ชาวชนกลุ่มเช่นนี้ ก็มาปรากฏตัวขึ้นเป็นคนไทยกลุ่มไม่ใช่เล็กๆ และอยู่กันมานานแล้วเสียด้วย แล้วชาวไทยภูเขาเล่า พวกเขาเป็นใคร ง่ายๆ ตามชื่อเลย ชาวไทยภูเขา คือชาวชาติพันธุ์ หรือชาวเผ่าพื้นเมืองที่อยู่อาศัยบนชั้นความสูง คือ ไม่ได้อยู่ในที่ราบนั่นเอง ชาวไทยภูเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชากรประเทศไทยมานานนับศตวรรษ และมีอยู่หลากหลายกลุ่มด้วยกัน
ในวันนี้การแบ่งกลุ่มชาวชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และชาวไทยภูเขา ยังออกจะดูเหลื่อมๆ ข้อมูลการอพยพเข้ามาไม่นิ่ง และหน่วยงานที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ก็มีอยู่มากหลาย ทั้งยังมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานเติมอีก คนนับจำนวนก็ไม่นิ่ง คนถูกนับจำนวนก็ไม่นิ่ง จำนวนที่แท้จริงจึงยังไม่มั่นคง ดังนั้นในที่นี้ จึงจะขอใช้วิธีแบ่งชาวไทยภูเขาอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนดังนี้
ชาวไทยภูเขา กลุ่มหลัก ๖ ชาติพันธุ์ ชาวไทยภูเขากลุ่มนี้ เป็นชาวไทยภูเขากลุ่มใหญ่ ประชากรมาก ที่คนไทยเรารู้จักคุ้นเคย เพราะได้ปรากฏบทบาทอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วและบ่อยครั้งจนเป็นที่รู้จัก แม้ชาวต่างประเทศก็รู้จักและอยู่ในความสนใจยิ่งในสถานะสีสันทางชาติพันธุ์ของประเทศไทย จนมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Sixth Major Hilltribes of ThaiIand มีอยู่ ๖ เผ่าด้วยกัน คือ กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ ลาหู่ หรือ มูเซอ อาข่า หรือ อีก้อ สามกลุ่มนี้ เป็นชาวไทยภูเขาที่มีอยู่ทั้งสองประเทศไทยและพม่า โดยผ่านเข้ามาไทยทางประเทศพม่า จึงมีอิทธิพลพม่าผสมติดมาด้วย เช่นชื่อเรียกชนเผ่าว่า อีก้อ หรือ มูเซอ นั้น เป็นภาษาพม่า และชาวไทยภูเขาอีก ๓ เผ่าพันธุ์คือชาวไทยภูเขาจากประเทศจีนที่ผ่านประเทศไทยเข้ามาทางประเทศลาว และพม่า แต่มีอิทธิพลจีนเข้มแข็ง อันได้แก่ ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง หรือ แม้ว ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน หรือ เย้า และชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ หรือ ลีซู
ชาวไทยภูเขากลุ่มย่อยๆ นอกจาก ๖ กลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มชาวไทยภูเขาที่เป็น กลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย มีจำนวนประชากรไม่มากนัก สมัยก่อนไม่ค่อยปรากฏกายในสังคม แต่มาในยุคนี้ได้ค่อยๆ ปรากฏออกมาแนะนำตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ กลุ่มลัวะ กลุ่มละเวือะ กลุ่มขมุ กลุ่มไตหย่า และกลุ่มมะราบรี หรือ ผีตองเหลือง เป็นต้น
ชาวไทยภูเขา กลุ่มใหม่ ชาวไทยภูเขากลุ่มนี้ เพิ่งปรากฏกายอยู่อาศัยเป็นกลุ่มก้อนขึ้นในประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างเป็นพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร อันได้แก่ กลุ่มดาระอั้ง กลุ่มคะฉิ่น และกลุ่มปะโอ เป็นต้น
และในบรรดาชาวไทยภูเขาทั้ง ๓ กลุ่มนี้ แต่ละกลุ่มก็ยังมีการแตกแขนงต่างๆ ออกไปตามคติหลายๆ อย่าง เช่น ตามถิ่นที่อยู่ ตามภาษาพูด ตามชาติตระกูล หรือ ตามรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีฯ อีกมากมาย เช่น ชาวลาหู่ หรือ มูเซอ ยังแบ่งออกเป็นมูเซอดำ หรือมูเซอแดง มูเซอเหลือง มูเซอเชเละ เป็นต้น ชาวม้ง แบ่งออกเป็น ม้งขาว ม้งดำ ม้งลาย กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ แบ่งเป็น สะกอ และ โปว เป็นต้น
วัฒนธรรม ชาวไทยภูเขา ความคล้ายคลึงกัน หลอมรวมจากธรรมชาติเดียวกัน
ชาวไทยภูเขาเหล่านี้แทบทุกกลุ่ม ต่างก็มีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันต่อๆ มาเป็นของตนเอง วัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้มีที่มาจากหลายๆ แหล่ง ทั้งจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาติพันธุ์ ทั้งอิทธิพลของจีนถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและทั้งประเทศที่เดินทางผ่านมารวมเข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อพวกเขาอย่าง เด่นชัดอีกสองเรื่องสำคัญก็คือ เรื่องของการเดินทางอพยพย้ายถิ่น และเรื่องของการใช้ชีวิตในพื้นที่ป่าเขาลำเนาไพร ห้องเรียนห้องใหญ่ในธรรมชาติ ที่หล่อหลอมชีวิตของชาวไทยภูเขาให้มีลักษณะพิเศษเฉพาะ จนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
ตัวอย่างจากการนี้ ก็คือ วัฒนธรรมในเรื่องการประกอบอาหารและการถนอมอาหาร อาหารของชาวไทยภูเขาแทบทุกเผ่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารง่ายๆ ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก และใช้ส่วนประกอบในการทำอาหารไม่มากนัก อาจกล่าวได้ว่าพร้อมเสมอ สำหรับการย้ายที่อยู่ และการเดินทางรอนแรม ส่วนเรื่องการถนอมอาหารก็จะใช้วิธีการคล้ายๆ กัน คือเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก เป็นการใช้วิธีตากแดดและรมควันเป็นหลัก ส่วนในเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ ในธรรมชาติ ภูมิปัญญาอันน่าสนใจยิ่งของ ชาวไทยภูเขาก็คือ การปลุกพืชไร่หมุนเวียน การล่าสัตว์ และการใช้อาหารเป็นยา หรือคือภูมิความรู้ด้านการสมุนไพรทั้งหลายนั้นเอง
เรื่องของศิลปหัตถกรรม คือการนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัว มาประดิดประดอยเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ หลากหลาย ชาวไทยภูเขาแต่ละเผ่าพันธุ์ก็มีฝีมือยอดเยี่ยมอย่างยิ่งในหลากหลายแขนง ทั้งงานจักสานไม้ไผ่ งานผ้าเย็บปักถักร้อย งานผลิตเครื่องประดับประจำเผ่าเฉพาะตน งานแกะสลักไม้ และงานพวกเครื่องโลหะต่างๆ เป็นต้น ผลงานชิ้นเลิศๆ ของชาวไทยภูเขาเหล่านี้ สมัยหนึ่งเมื่อชาวต่างประเทศเริ่มเข้ามาทำความรู้จักกับชาวไทยภูเขาในประเทศไทยครั้งแรกๆ ด้วยความเห็นคุณค่าและมีเงินทุนกล้าทุ่มเท ทำให้กวาดผลงานชิ้นงามออกไปจากหมู่บ้านชาวไทยภูเขาไปมากมาย ครั้นเวลาผ่านไป เวลากลายเป็นสิ่งมีค่ามากขึ้น ชาวไทยภูเขามีฝีมือรุ่นเก่าหมดไป ผลงานชิ้นเยี่ยมชิ้นใหม่ก็มีน้อยลงไปแล้วในที่สุด และสิ่งที่จะเหมือนๆ กันอีกสิ่งหนึ่งของชาวไทยภูเขาแทบทุกเผ่าพันธุ์ เป็นเรื่องแปลกที่ใครต่างคาดไม่ถึงเรื่องหนึ่ง ก็คือ เรื่องของการขนเงินติดไปกับตัวในรูปเครื่องประดับเงิน เพราะเงินเป็นสิ่งมีค่าและมั่นคงกว่าธนบัตร ในการอพยพข้ามประเทศของชาวไทยภูเขาบ่อยครั้ง ธนบัตรที่หามาได้เก็บไว้กลับไร้ค่าไปโดยสิ้นเชิง เพราะการประกาศเปลี่ยนแปลงค่าเงินของเจ้าของประเทศ หรือกระทั่งการถูกลักขโมยรื้อค้นบ้านที่ไม่มั่นคง เป็นเพียงกระท่อมฟากไม้ไผ่ การทำลายของความชื้น สัตว์เล็กสัตว์น้อย แถมชีวิตยังต้องอพยพย้ายที่บ่อยๆ อีกต่างหากชาวไทยภูเขาแทบทุกเผ่าจึงใช้การทำเครื่องประดับกายนี้แหละเป็นการสะสมเงิน และนำเงินติดตัวไปในหลายๆ โอกาสเหมือนๆ กันทุกเผ่าพันธุ์
ความคล้ายคลึงกันเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องการเคารพนับถือผีบรรพบุรุษ ทุกวันนี้แม้ชาวไทยภูเขาหลายเผ่าจะมีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาหลักอื่นๆ แล้ว แต่การนับถือบูชาผีบรรพบุรุษ พ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับซึ่งจะได้รับการจัดทำหิ้งบูชาและเซ่นไหว้ในโอกาสที่เหมาะสม ก็ยังไม่เคยเสื่อมคลายไปจากชีวิตพวกเขาเลย และจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ เมื่อเกิดเหตุพิเศษต่างๆ ขึ้นในครอบครัว เรียกว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ผีบรรพบุรุษก็มักจะได้รับการกล่าวอ้างถึงและปฏิบัติบูชาอย่างสม่ำเสมอ
การดนตรี ของชาวไทยภูเขาหลากหลายเผ่าพันธุ์ ก็มีความคล้ายคลึงกัน เครื่องดนตรีหลักจะเป็นเครื่องเป่าและเครื่องดีด เครื่องเป่าที่มีลักษณะเป็นแคนน้ำเต้า จะมีอยู่ในเกือบทุกเผ่าพันธุ์ทั้ง ๖ เผ่า ต่างกันที่ขนาดและชื่อเรียก เช่น ม้ง จะเรียกว่า เค่ง ลีซู จะเรียกว่า ซื่อรึ เป็นต้น ส่วนเครื่องดนตรียอดฮิตอีกสองประเภทก็คือ พิณ และขลุ่ย ก็เป็นที่แพร่หลายในหลายเผ่า ต่างกันตรงขนาด รูปร่างของกล่องเสียง และชื่อเรียกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งซึ่งสูญหายไปจากสังคมไทยนานแล้ว แต่กลับยังมีอยู่ในสังคมชาวไทยภูเขา นั่นคือ จิ้งหน่อง ไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ ที่สามารถเป่าหรือดีดให้เป็นเสียงดนตรีได้ ก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่บนภูเขานี้ด้วยเหมือนกัน เมื่อพูดถึงความคล้ายคลึงกันของชาวไทยภูเขาต่างๆ แล้ว ก็ต้องพูดถึงความแตกต่างบ้าง ความแตกต่างนี้แหละเป็นสิ่งซึ่งจะช่วยแบ่งกลุ่มชาวไทยภูเขาให้เป็นชาวชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ถ้าจะให้กล่าวถึงความแตกต่างทั้งหมดหน้ากระดาษคงไม่เพียงพอที่จะกล่าวได้ไปเสียทั้งหมด ในที่นี้จึงจะขอยกตัวอย่างความแตกต่างสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ และจะขอนำเสนอเพียงชาวไทยภูเขา ๖ เผ่าหลักก่อนเท่านั้น

ม้ง ผู้นำวงการแฟชั่น
สำหรับประเทศไทยอากาศร้อน ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญปิดกั้นโอกาสในการแต่งชุดประจำเผ่าของชาวไทยภูเขา เพราะเครื่องแต่งกายแบบที่เรียกว่าเต็มยศเหล่านั้น ดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับความหนาวเย็นในป่าบนภูเขาโดยเฉพาะแต่ก็ยังมีโอกาสอย่างน้อยปีละครั้งที่พี่น้องชาวไทยภูเขาจะตั้งใจแต่งกายในชุดประจำเผ่าอย่างสวยงามเต็มที่ นั่นก็คือวันเทศกาลสำคัญของเผ่าพันธุ์ คือ งานปีใหม่ นั้นเอง
งานวันปีใหม่ของชาวม้ง จัดขึ้นใกล้ๆ วันตรุษจีน จะเป็น วันที่เรียกได้ว่า รวบรวมแฟชั่นทันสมัยสุดๆ ของชาวม้งจากแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทยมาพบกันเลยทีเดียว แฟชั่นทันสมัยที่ว่านี้ก็คือ รูปแบบการแต่งกายของชาวม้งในต่างประเทศ เช่น ชาวม้งจีน ชาวม้ง สปป. ลาว และชาวม้งพม่า โดยเฉพาะรูปแบบของชาวม้งจีน จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ รูปแบบเหล่านี้จะมา รวมกันในวันปีใหม่ของชาวม้งไทยแทบจะทุกพื้นที่เจริญหูเจริญตาของผู้ชมเลยทีเดียวละ สิ่งที่มีแปลกปลอมเข้าไปบนร่างกายของสาวๆ ม้งที่มาร่วมงาน จะมีไม่กี่อย่าง อย่างถุงน่องโชว์เรียวขาสวยของหญิงสาว และรองเท้ารูปทรงทันสมัย แม้แต่รองเท้าชื่อดังอาดิดาส ไนกี้ ก็มีมาครบครัน สร้อย แหวน นาฬิกา และมือถือ เพียงเท่านั้น พ้นจากนี้ก็เป็นจะเครื่องแต่งกายแบบของชาวม้งล้วนๆ และลวดลายย้อมผ้า เย็บผ้า ปักผ้า พิมพ์ผ้า ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานฝีมือม้ง ก็จะมาปรากฏมากมายในงานสำคัญวันนี้ อย่างที่ปรากฏในงานแต่งงานเจ้าชายอังกฤษนั้นแหละ เพียงแต่ชุดที่ออกแบบสวมใส่มาจะเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งต้องชมนักออกแบบเสื้อผ้าอังกฤษอย่างยิ่ง แต่ในเนื้อผ้านั้นก็ใช่เลย เป็นเนื้อผ้าและลวดลายผ้าของชาวม้งในประเทศไทยนั้นเอง แทบจะไม่มีใครแตกคอกในงานประเพณีปีใหม่ม้ง โดยเฉพาะชายหนุ่มหญิงสาว ต่างพากันแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายม้งไปร่วมงาน และแม้แต่ในวงสำคัญที่สุดของงานคือวง โยนลูกช่วง หรือ จุเป๊าะ อันเป็นธรรมเนียมที่จัดไว้เฉพาะเพื่อให้ชายหนุ่มและหญิงสาว ได้ทำความรู้จักกัน ก็จะมีชายหนุ่มหญิงสาวนับร้อยๆ คู่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาร่วมเล่นให้เห็นเป็นภาพตัวอย่าง เพราะสมัยนี้วงทำความรู้จักกันแบบนี้ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสียแล้ว ม้งหนุ่มม้งสาวมีสถานที่ให้ไปทำความรู้จักอื่นๆ กันเยอะแยะไป
ในงานนี้จะมีแต่ผู้ใหญ่ หรือ คนชราบางคนเท่านั้น ที่อาจจะไม่แต่งกายชุดประจำเผ่าเข้าร่วมงาน ตรงข้ามกับงานประเพณีของคนไทยพื้นราบที่บ่อยครั้งในงานจะมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่แต่งกายตามแบบประเพณีดั้งเดิม หนุ่มสาวไม่มีใครแต่ง และเพราะงาน เทศกาลปีใหม่ม้ง ที่เต็มไปด้วยเครื่องแต่งกายตามแฟชั่นแบบม้งของหนุ่มสาวแสนบรรเจิดเพริศแพร้ว มากมายหลากหลายรูปแบบนี่แหละ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าในประดาสังคมชาวไทยภูเขาในประเทศไทยนั้น ชาวม้ง นี้แหละที่เป็นสุดยอดผู้นำแฟชั่นของวงการชาวไทยภูเขาอย่างแน่นอน
ปีใหม่ลีซู เต้นปีใหม่ ทั้งวัน ทั้งคืน ยันรุ่งเช้า
หากเลือกเกิดได้ ขอเกิดใหม่เป็นลีซู เพราะ ลีซู อาหารอร่อย ชุดก็สวย ร่ายรำร้องเพลงได้สุดวันสุดคืน นี่คือคำขวัญที่เป็นเหมือนคติประจำใจของชาวลีซูรุ่นใหม่ในประเทศไทยวันนี้ เพราะชาวลีซู มีประเพณีปีใหม่ที่มีขบวนเต้นปีใหม่เกิดขึ้นชนิดสุดวันสุดคืนวงเต้นเมื่อตั้งขึ้นแล้วก็ยากจะเลิกล้มได้ มีแต่จะยิ่งเพิ่มจำนวนผู้มาเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ แทบหมดทั้งหมู่บ้าน
ดนตรีลีซู คือรากฐานของขบวนเต้นอันงดงามนี้ ดนตรีลีซู เป็นดนตรีของกลุ่มชาวไทยภูเขากลุ่มแรกที่ได้รับการขึ้นบัญชี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งจริงๆ ดนตรีดีก็มีด้วยกันแทบทุกเผ่า ดนตรีลีซูอาจจะยังเป็นรองในบางเรื่องกับบางเผ่าด้วยซ้ำไป หากแต่ลีซูอาจจะเป็นผู้เล่นที่ชาญฉลาด บทเพลงแม้มีจำนวนไม่มาก ทำนองก็จำกัดเล่นซ้ำไปซ้ำมา หากแต่นักดนตรีลีซูมีความทันสมัยนำเครื่องขยายเสียงเข้าไปติดตั้งกับเครื่องดนตรี ทำให้เครื่องดนตรีชิ้นเดียวที่ใจกลางวงเต้น ส่งเสียงกระหึ่มให้ทุกคนได้ยิน ทำให้วงเต้นเกิดความคึกคักสนุกสนานมากขึ้น เต้นกันได้ทั้งวันทั้งคืน ด้วยบทเพลงไม่กี่เพลง
การได้ขึ้นบัญชี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ช่วยทำให้แวดวงวัฒนธรรมลีซูตื่นตัวขึ้น ขณะนี้กำลังมีการจัดการระบบให้การศึกษาสืบทอดวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ของลีซูเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
ลีซู เป็นตัวอย่างของชาวไทยภูเขา ที่เห็นคุณค่าของการรวมตัวกันทำกิจกรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างพร้อมเพรียง ดังนั้นในวันนี้ เราจึงยังจะได้เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของลีซูอีกมากมายในด้านต่างๆ ทั้งด้านผลผลิตจากพืชไร่นานาชนิด เช่น กาแฟลีซู ชาลีซู โกโก้ลีซู ชูรสดอย เป็นต้น อีกทั้งในวันนี้ลีซูยังมีการ รวมกลุ่มกันในระดับประเทศเป็นสหพันธ์ลีซูแห่งประเทศไทย มีการติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มลีซูในต่างประเทศ จีน พม่า และ อินเดีย การรวมกลุ่มกันที่จะมีความสำเร็จต่อไปในอนาคตนี้ จะส่งผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
อาข่า ชิมกาแฟ ชิมชา แล้วไปชมโล้ชิงช้า
ในอดีต บรรดาชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ที่ออกจะมีชื่อเสียงว่า มีฐานะยากจนที่สุดก็เห็นจะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่านี้แหละ แต่ชื่อเสียงที่ว่านั่น จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพียงคำนินทาที่มีพื้นฐานมาจากการที่ชาวอาข่านี้มีชื่อเสียงยิ่งในเรื่องความรื่นเริงบันเทิงใจ อาข่ามีวันหยุดทำงานเฉลิมฉลองกันมากมายในรอบ ๑ ปี และอาจจะมีแหล่งบันเทิงประจำหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัด นั่นคือ ลานกว้างประจำหมู่บ้านที่เรียกกันว่า แดห่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสังคมไทยพื้นล่างว่า ลานสาวกอด เรียกว่าเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าที่มีภาคบันเทิงโดดเด่นที่สุดนั้นแหละ
พอมีภาคบันเทิงเยอะ จึงมีภาคการทำงานน้อยกว่าเขาอื่น อาข่า จึงถูกนินทาว่ายากจน แต่ทว่าในวันนี้ ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ไม่ได้ยากจนเช่นที่ว่านั้นแล้ว วันนี้ในจังหวัดเชียงรายไร่ชาพื้นที่ใหญ่ที่สุด แน่นอนคือสิงห์ปาร์ค เอกชน แต่ไร่ชาที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองกลับเป็นไร่ชาของชาวอาข่า ไร่ชาฉุยฟง ซึ่งมีการดำเนินการผลิตชาหลากหลายรูปแบบ มีทั้งการทำการท่องเที่ยว ขายขนม ขายเบเกอรี่ ควบคู่ไปด้วยมีการจ้างแรงงานชาวไทยภูเขาด้วยกันอีกมากมาย
กาแฟเชียงรายชื่อดัง อย่างกาแฟปางขอน อีกทั้งกาแฟ อาข่า อาม่า ของเชียงใหม่ ก็เป็นกาแฟของชาวอาข่า กาแฟ ๒ เครื่องหมายการค้านี้ ได้ช่วยให้ ชาวอาข่าสามารถส่งผลผลิตแก่โรงงานผลิต ได้ในราคายุติธรรม ชนเผ่าอาข่ามีความรอบรู้มากขึ้นเรื่องชา กาแฟ จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ และชา กาแฟไทยก็เป็นผลผลิตที่ส่งออกไปขายได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นชาวอาข่าจึงมิใช่ชาวไทยภูเขาที่ยากจนอีกต่อไป แต่พวกเขาคือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ชา กาแฟ ที่มีผลผลิตเป็นของตนเอง ซึ่งมาถึงวันนี้ ระบบตลาดออนไลน์ได้ลดจำนวนคนกลางลงไป เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงมีการทำตลาดออนไลน์เป็นของตนเองด้วย ไม่รวยวันนี้แล้วจะไปรวยวันไหน
เครื่องแต่งกายของชาวอาข่า โดยเฉพาะชาวอาข่าผู้หญิงนั้นก็เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความสดใสสวยงามลงตัวอย่างน่าทึ่งมาก ดังนั้นงานผลิตเครื่องแต่งกายผู้หญิงชาวอาข่าจึงเป็นงานของดีราคาแพง ไม่แพ้ผลงานของชาวม้ง ต่างกันตรงที่ อาข่า ไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น แต่เป็นความสวยงามแบบคลาสสิกทั้งหมดนี้ เมื่อบวกเข้ากับความเป็นกลุ่มที่มีความรื่นเริงบันเทิงใจ และความรุ่งพุ่งแรงของชาและกาแฟ ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าจึงเป็นชาวไทยภูเขาที่มีชื่อเสียง น่าสนใจครบเครื่องในทุกเรื่องราว เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีกว่าชาวไทยภูเขาเผ่าอื่นๆ
และความครบเครื่องของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่านี้แหละ ที่จะไปรวมกันและสำแดงออกมาอย่างโดดเด่นยิ่งในเทศกาลสำคัญของชาวอาข่า ในช่วงเดือนสิงหาคม คืองานเทศกาลโล้ชิงช้า หรืองานปีใหม่ผู้หญิงของชาวอาข่านั้นเอง ต้องไปชมกัน รับประกันความสวยงามยิ่งใหญ่อลังการของสีสันเสื้อผ้าน่าไปชม

กะเหรี่ยง คนของป่า และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
จริงๆ ชาวไทยภูเขาแทบทุกเผ่า ล้วนมีถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง คืออยู่บนภูเขาซึ่งมีลักษณะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญๆ ทั้ง ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นการจะกระทำการใดๆ กับป่าบนภูเขา สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลลงมากระทบกระเทือนกับพื้นที่เบื้องล่าง ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ของชาวไทยเรา จึงทรงมุ่งมั่นเอาพระทัยใส่ในการดำเนินการหลากหลายให้ชาวไทยภูเขาทั้งหลายเลิกปลูกฝิ่นอันเป็นพืชเจ้าปัญหาอย่างยิ่งกับป่าต้นน้ำของคนไทยทั้งมวล
หากแต่ในบรรดาชาวไทยภูเขาทั้ง ๖ เผ่านี้ ชาวกะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ กลับมีลักษณะที่แตกต่างคือ ไม่ได้มีสถานะ เป็นผู้อพยพจากดินแดนอื่นเข้ามาในแผ่นดินนี้ แต่ชาวกะเหรี่ยงกลับเป็นชาวไทยภูเขาที่อยู่ในพื้นที่นี้มาแล้วช้านาน นานกว่า ชาวไทยภูเขากลุ่มอื่นๆ และเพราะได้อยู่อาศัยในป่ามาแล้วนับร้อยๆ ปีนี้เอง จึงได้เรียนรู้เรื่องราวของป่าแถบนี้มามากกว่าใครๆ ชาวกะเหรี่ยง จึงมีภูมิปัญญาเรื่องการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าให้มีความยั่งยืนยิ่งกว่ากลุ่มชนไหนๆ ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงนี้เรียกว่า การทำไร่หมุนเวียน ที่ป่า คน และ น้ำ จะอยู่ด้วยกัน ได้ตลอดไป ชาวกะเหรี่ยงจึงได้รับสมญานามอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้คนแห่งป่า นั้นเอง
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นประจักษ์พยาน แสดงให้เห็นถึงบทบาทของธรรมชาติที่อยู่ในการดำเนินชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ก็คือ ผ้าทอกะเหรี่ยง อันเป็นงานหัตถกรรมที่ทำกันได้แทบทุกครัวเรือน มีเอกลักษณ์เฉพาะตนด้วยเครื่องมือทอผ้าที่เรียกว่า กี่เอว ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ สามารถเคลื่อนย้ายไปทอผ้าในที่ต่างๆ ได้ง่ายตามใจปรารถนา ส่วนลวดลายผ้าที่ทอ แม้จะมีเพียงไม่กี่ลาย เช่น ลายเม็ดฟักทอง ลายดอกพริก ลายแมงมุม และลายหัวเต่า หากทว่าแต่ละลายนั้น ก็ล้วนเป็นลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีการประดับเมล็ดธัญพืชต่างชนิด เช่น ลูกเดือย เมล็ดข้าว ลงบนผืนผ้าอย่างเหมาะสมสวยงาม การตัดเย็บเป็นตัวเสื้อก็ใช้การเย็บด้นด้วยมือ เป็นเครื่องแต่งกายที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือและแรงใจปราศจากเครื่องจักรใดๆ วันนี้ เสื้อกะเหรี่ยงได้รับความนิยมจากคนเมืองเป็นอย่างมาก เพราะมีความสวยงามเป็นศิลปะทั้งในเรื่องการจับคู่สี การประดับประดา อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ชาวไทยภูเขาที่ราคาไม่แพงจนเกินไปอีกด้วย
และด้วยเหตุที่เป็น ผู้คนแห่งป่า ซึ่งมีวิถีชีวิตแนบแน่นกับธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ชาวกะเหรี่ยงจึงมีการเลี้ยงช้างไว้ในครอบครัว แต่เป็นการเลี้ยงช้างไว้ในพื้นที่นอกบริเวณบ้าน หรือในป่าใกล้บ้าน ที่แตกต่างกับชาวกูย หรือส่วยในอีสานใต้ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขาทุรกันดาร ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ราบเรียบ ช้าง จึงเป็นพาหนะที่เหมาะสม ใช้ได้ทั้งในการเดินทางรอนแรม และการใช้แรงงานหนักเบา ต่างๆ สารพัด โดยเฉพาะงานหนักประเภท การชักลากไม้ ช้าง จึงเป็นเสมือนมิตรคู่กายของชาวกะเหรี่ยงจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ลาหู่ หรือ มูเซอ ชาวชน ผู้เคร่งครัดปฏิบัติศาสนกิจ
จะคึ คือ เอกลักษณ์สำคัญของชาวชนเผ่าลาหู่ หรือ มูเซอ ซึ่งอาจจะเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น มูเซอแดง อาจจะเรียกว่า เขาะจ้าเว เป็นต้น แต่ จะคึ หรือ เขาะจ้าเว ก็เหมือนกัน นั่นคือ การแต่งกายตามวิถีลาหู่ให้งดงามที่สุด แล้วออกไปต่อแถวแนวเต้นประกอบดนตรีบนลานดินเรียบกว้างขวาง การเต้นจะคึ เป็นทั้งความบันเทิง เป็นวัฒนธรรม และเป็นพิธีกรรมทางศาสนาของชาวลาหู่ทุกผู้คน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวลาหู่ เต้นจะคึ ทั้งเพื่อความสนุกสนาน ทั้งเพื่อนำความเป็นศิริมงคลไปสู่คุ้ม หรือกลุ่มบ้านต่างๆ ในหมู่บ้าน วงจะคึ จะเต้นขึ้นไป ถึงบนบ้าน บ่อยครั้งที่บ้านไม้ไผ่ถึงกับพังครืนลงมา ทั้งหลัง เมื่อวงจะคึขึ้นไปเต้นบนบ้านในวันปีใหม่ เจ้าของบ้านก็ไม่อาจจะว่ากระไร เพราะการเต้นจะคึ คือการ ปฏิบัติศาสนกิจของคนทั้งหมู่บ้าน การเต้นจะดำเนินไปเรื่อยๆ เช่นนั้นทั้งวัน ย้ายจากคุ้มบ้านหนึ่งไปอีกคุ้มบ้านหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่เช้าจดเย็นในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือในวันพิธีกรรมทางศาสนาวันอื่นๆ ซึ่งจะแตกต่างกันเพียงในวันธรรมดาทั่วไป การเต้นจะคึ จะทำเพื่อรักษาโรค ใกล้เคียงกับพิธีเหยาในภาคอีสาน บางครั้งก็จะมีการเต้นจะคึกันในตอนกลางคืน และบ่อยครั้งเมื่อขบวนการเต้นสนุกสนานได้ที่ ก็จะมีการเต้นกันไปจนถึงเช้า ปฏิบัติศาสนกิจกันไปจนสว่างคาตาเลยก็มี
ชาวลาหู่ หรือ มูเซอ เป็นชาวไทยภูเขาทีมีความหลากหลาย มีลาหู่หลายกลุ่มมากมาย ทั้ง ลาหู่ญิ หรือ ลาหู่แดง ลาหู่นะ หรือ ลาหู่ดำ ลาหู่ชี หรือ ลาหู่เหลือง และ ลาหู่เชเละ ความหลากหลายของชาวลาหู่ ทำให้ชาวลาหู่ดูเหมือนจะเป็นชาวชนที่เต็มไปด้วยความอะลุ้มอล่วย เข้ากับใครก็เข้าได้ ใครจะเข้ามาร่วมกับลาหู่ ก็มาได้ ไม่มีการปิดกั้น ลาหู่ น้อมต้อนรับทุกเผ่าพันธ์พี่น้องชาวไทยภูเขาฉันท์มิตรสนิท ด้วยเหตุนี้ในบรรดาชาวไทยภูเขาทั่วไปจำนวนมาก จึงต่างรู้จักและเคยได้ยินภาษาลาหู่ จึงทำให้ภาษาลาหู่ดูจะเป็นภาษาที่มีการใช้ติดต่อสื่อสารกันในบรรดาชาวไทยภูเขามากกว่าภาษาอื่น
และในเวที หรือ พื้นที่เต้นปีใหม่ของชาวลาหู่ บ่อยครั้งในบางลาหู่ จึงมีชาวชนชนชาติอื่นๆ เช่น อาข่า ลีซู และไทใหญ่ ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน เข้ามาร่วมเต้นกันด้วยอย่างสนุกสนาน
เมี่ยน หรือ เย้า สุดสวย สดใส ในพิธีแต่งงานใหญ่
ชาวเมี่ยน หรือเย้า หรือ อิ่วเมี่ยน ฝ่ายชาย นั้นดูจะเป็นชาวไทยภูเขาที่มีชื่อเสียงเลื่องลือยิ่งในทางเป็นช่างจัดทำเครื่องประดับเงิน หรือ ช่างตีเงินของชาวไทยภูเขาทั้งมวล ส่วนชาวเมี่ยนฝ่ายหญิงนั้นจะมีชื่อเสียงมากในเรื่องการปักผ้าให้เป็นลวดลายต่างๆ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงเมี่ยนนั้น มีความละเอียดสวยงามของลวดลายจะอยู่ที่กางเกงด้านหน้า ซึ่งจะเป็นงานปักผ้าชั้นเลิศ แต่ชุดเมี่ยนที่จะเลิศจริงๆ อย่างถึงที่สุดนั้นก็คือ ชุดแต่งงานของเจ้าสาว รวมทั้งเพื่อนเจ้าสาวอีกสี่คนด้วย เพราะในชุดที่ว่านั้นจะไมใช่มีเพียงงานปักผ้าชั้นเลิศสุดๆ เท่านั้น ยังจะมีงานเครื่องประดับเงินฝีมือช่างเมี่ยนฝ่ายชาย ที่เลิศสุดๆ เข้ามาประกอบด้วยพิธีแต่งงานใหญ่ของชาวเมี่ยนจึงเต็มไปด้วยความอลังการของเครื่องแต่งกายอันเป็นที่โจษจัน
ชาวเมี่ยนมีชื่อเสียงอย่างยิ่งในความเคร่งครัดศาสนา ศาสนาคือศาสนาเฉพาะของชาวเมี่ยน ซึ่งนอกจากการบูชาบรรพบุรุษแล้ว ยังมีพระเมี่ยน ผู้ประกอบพิธีกรรม แต่เหนือกว่าพระเมี่ยนยังมีเทพเจ้าของชาวเมี่ยน ๑๖ องค์ ซึ่งแทบทุกแซ่ตระกูล จะต้องมีภาพเทพเจ้านี้ไว้เคารพนับถือ และเป็นประธานของพิธีกรรมทางศาสนาของชาวเมี่ยน ว่ากันว่าในคราวสงครามเวียดนามที่ลามมาถึงเมืองลาว ที่มีชาวเมี่ยนอยู่กันเป็นจำนวนมาก มีผู้อพยพชาวเมี่ยนเข้ามาอยู่ในค่ายอพยพในประเทศไทยนับพันคน และภาพวาดเทพเจ้าสำคัญของชาวเมี่ยน ก็ได้หลุดรอดออกจากค่ายอพยพไปถึงประเทศตะวันตกมากมาย
ภาพเทพเจ้า ๑๖ องค์ ของชาวเมี่ยน ที่นับวันจะหายากยิ่งได้ทำให้งานสำคัญยิ่งใหญ่งานหนึ่งของชาวเมี่ยน พลอยเงียบหายไปนั่นคืองานบวชใหญ่ พิธีตู่ไซ ซึ่งเคยจัดขึ้นไม่กี่ครั้งในประเทศไทย และยังไม่มีใครสามารถจัดขึ้นได้อีกเลยในรอบ ๕๐ ปี และชาวเมี่ยน รุ่นใหม่ๆ ในวันนี้ ที่อายุยังไม่ถึงห้าสิบ ก็น่าจะยังไม่เคยเห็นพิธีนี้เลยด้วยซ้ำไป
ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เป็นแหล่งต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองแห่งแรกของเชียงใหม่และภาคเหนือ การแสดงวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของที่นี่ ตั้งแต่แรกก่อตั้งมาจนบัดนี้ไม่เคยขาด และส่งต่อให้กับศูนย์การแสดงหรือร้านอาหารประเภทขันโตกดินเนอร์ของเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนืออื่นๆ ให้ดำเนินตามรอยตลอดมา นับได้มากกว่า ๕๐ ปี ตลาดไนท์บาซ่าร์ เป็นตลาดสินค้าที่ระลึกแห่งแรกของเชียงใหม่ ติดตามด้วยตลาดอนุสาร มาจนปัจจุบันกาดสวนแก้ว ถนนคนเดินเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ และตลาดท่องเที่ยวอื่นๆ อีกสารพัด ตลาดเหล่านี้ไม่เคยขาดแคลนผลงานหัตถกรรมของชาวไทยภูเขาที่วางจำหน่ายอยู่อย่างมากมาย
และทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ ก็คืออีกประจักษ์พยานหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมอันล้ำค่าของกลุ่มชนซึ่งได้รับคำเรียกขานว่า ชาวไทยภูเขา ซึ่งอยู่ร่วมกับกลุ่มชนต่างๆ ในประเทศไทยเรามาแล้วนานนับร้อยๆ ปี และจะอยู่ร่วมกัน เกื้อหนุนกันต่อๆ ไปอีกนานเท่านาน