กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
แห่ต้นผึ้ง หอผึ้ง ถึงปราสาทผึ้ง สืบสานพิธีกรรมบูชาพระพุทธเจ้า

วันที่ 8 พ.ค. 2562
 
เรื่อง/ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ
 
 
 
แห่ต้นผึ้ง หอผึ้ง ถึงปราสาทผึ้ง
สืบสานพิธีกรรมบูชาพระพุทธเจ้า
 
 
 

 
     ภาพต้นผึ้งกองพะเนินถึงเรือนธาตุของ พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เมื่อถึงวันวิสาขบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของ ทุกปี เป็นภาพอันคุ้นตาที่เกิดจากแรงศรัทธาและ ความร่วมใจสืบสานพิธีกรรมถวายต้นผึ้งเพื่อบูชา ความดีงามสู่สรวงสวรรค์ ตามแบบอย่างมรดก ทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษชาวอีสานมอบไว้ให้ลูก หลาน เกิดเป็นธรรมเนียมประเพณี "แห่ต้นผึ้ง” มาแต่ครั้งโบราณ
 
     ดอกผึ้งเหลืองอร่ามโดดเด่นสะดุดตาอยู่ ท่ามกลางผู้คนล้นหลามบนลานกว้างเชิงเนิน พระบรมธาตุศรีสองรัก พุทธศาสนิกชนชาวไทย รวมทั้งชาวลาวอีกไม่น้อยพากันเดินทางมาจาก ทั่วทุกสารทิศ พวกเขามารวมตัวกันอยู่ที่นี่ตั้งแต่ ก่อนฟ้าสาง เพื่อช่วยกันประกอบต้นผึ้ง ประดับ ดอกผึ้งให้งดงามตามแบบอย่างในคติความเชื่อที่ สืบทอดมา หลายคนที่ประกอบต้นผึ้งอย่างสมบูรณ์ มาแล้วจากบ้านก็นำไปวางเรียงที่ลานกว้างเชิง บันไดสู่พระธาตุฯ และรอคอย "เจ้าพ่อกวนและ เจ้าแม่นางเทียม” สองผู้สืบทอดฐานะองค์นำทาง จิตวิญญาณของชาวเมืองด่านซ้ายตามธรรมเนียม ประเพณีโบราณ
 
     เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมมาถึงลานเชิงเนินพระธาตุฯ ราว ๑๐ โมงเช้า พร้อมกับต้นผึ้งขนาดใหญ่เป็นพิเศษ แวดล้อมด้วยชาวด่านซ้ายในชุดแต่งกายนุ่งขาว ห่มขาวที่พากันเทินต้นผึ้งของตนเองเหนือศีรษะ พร้อมตั้งแถวติดตามผู้นำทาง จิตวิญญาณของพวกเขา ขบวนแห่ต้นผึ้งยาวเหยียดอย่างเป็นระเบียบก้าวตาม เจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียม ต่อแถวกันขึ้นบันไดสู่ยอดเนินที่ตั้งของพระธาตุฯ
 
     ต้นผึ้งใหญ่ของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมถูกแห่นำขบวนเวียนรอบ องค์พระธาตุฯ และพระอุโบสถจนครบ ๓ รอบแล้วจึงนำไปตั้งอยู่บริเวณฐานประทักษิณ ทิศตะวันออกหรือด้านที่เชื่อมกับพระอุโบสถ ขณะที่ขบวนแห่ต้นผึ้งอันยาวเหยียด ก้าวตาม ผู้คนจำนวนมากนำต้นผึ้งทูนศีรษะรอคอยที่เชิงเนินพระธาตุฯ เพื่อขึ้นบันได สู่ข้างบน ซึ่งบันไดที่นับว่าคับแคบสำหรับคนจำนวนมากกลับกลายเป็นเครื่องมือ อย่างดีในการชะลอขบวนผู้คนในการเข้าถึงลานประทักษิณอย่างเป็นระเบียบ
 
     แสงแดดช่วงเที่ยงวันอันร้อนระอุทำให้ดอกผึ้งที่ทำจากไขขี้ผึ้งอ่อนตัว ร่วงลงพื้นละลายเต็มพื้นผิวกระเบื้อง แต่ด้วยพลังความเชื่อทำให้ผู้เปี่ยมศรัทธา อดทนได้กับไขขี้ผึ้งที่หลอมละลายติดฝ่าเท้าเปล่าเปลือย และไม่มีใครสักคนที่ถอนตัว ออกจากการนำพาต้นผึ้งของตนเวียนรอบพระธาตุฯ จนครบ ๓ รอบ ก่อนจะนำไป ตั้งรวมกันไว้ที่รอบ ๆ ฐานองค์พระธาตุฯ ด้วยความปีติ
 
     ต้นผึ้งจำนวนนับหมื่นไม่อาจจัดวางเป็นแถว เป็นระเบียบรายรอบฐานพระธาตุฯ ได้ จึงซ้อนทับสูง เป็นกองพะเนินท่วมเรือนธาตุอย่างน่าตื่นตา จนแตะ เรือนยอดขององค์พระธาตุฯ ย้ำให้เห็นถึงความศรัทธา ของเหล่าผู้คนที่พากันมาที่นี่ในวันนี้
 
     พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ ๒ แผ่นดิน คือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรี- สัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๐ นับเวลาได้ ๔๕๗ ปีแล้วที่พระธาตุศรีสองรักคือ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและลาว โดยมี "ต้นผึ้ง” เป็นเครื่องสักการบูชาถวายแก่องค์พระบรมธาตุ เราจึงได้เห็นต้นผึ้งเรียงรายอยู่รอบฐานพระธาตุฯ ในทุก ๆ วันตลอดทั้งปี

 
     การถวายต้นผึ้งเป็นพุทธบูชามีที่มาจากพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๒๔ "เรื่องลิงถวายรวงผึ้ง” ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ ป่าปาเลไลยก์ กล่าวถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาในป่าต้นสาละใหญ่โดยลำพัง มีช้างป่า นามว่า "ปาลิไลยก์” เป็นบริวารจัดอาหารถวายประจำ เมื่อลิงเห็นเข้าก็นำรวงผึ้ง ไปถวายบ้าง แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับเพราะว่าในรวงผึ้งนั้นยังมีตัวผึ้งอ่อนอยู่ หลังจากนั้นเจ้าลิงจึงกลับไปดึงตัวผึ้งอ่อนออกจากรวงผึ้งแล้วนำไปถวายอีกครั้ง ครั้งนี้พระพุทธเจ้าทรงรับ ในเวลาต่อมาเจ้าลิงที่ถวายรวงผึ้งได้ตกต้นไม้ตาย แต่ กุศลผลบุญที่ทำไว้ในการถวายรวงผึ้งที่ไม่มีตัวผึ้งอ่อนแก่พระพุทธเจ้า ได้ไปเกิดเป็น เทพบุตรบนสรวงสวรรค์
 
     จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการสร้างต้นผึ้งและหอผึ้งเพื่อถวายเป็นกุศล ในทุกโอกาสที่มีการบูชาพระพุทธเจ้า การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการถวายต้นผึ้ง ก็เปรียบกับการได้ถวายรวงผึ้งและจะได้รับอานิสงส์ผลบุญเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว เฉกเช่นลิงนั่นเอง ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อว่าการทำต้นผึ้งหรือดอกผึ้งเพื่อเป็น พุทธบูชาในงานศพ ก็จะทำให้ผู้เสียชีวิตนั้นได้รับอานิสงส์สู่ชั้นสวรรค์เช่นกัน
 
     คำว่า ต้นผึ้ง ชาวอีสานและชาวลาวออกเสียงสำเนียงเป็น "ต้นเผิ่ง” หรือบางแห่งเรียก "ต้นดอกผึ้ง” สำหรับต้นผึ้งที่ผู้คนทั่วไปถวายแก่พระธาตุ- ศรีสองรักนั้นแบ่งแยกย่อยออกไป เรียกว่า "ต้นผึ้งน้อย” ส่วนต้นผึ้งขนาดใหญ่ ที่นำขบวนพร้อมกับเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมนั้น เรียกว่า "ต้นผึ้งใหญ่” ขณะเดียวกันหลายท้องที่เรียกต้นผึ้งใหญ่ว่า "หอผึ้ง” และยังมีต้นผึ้งที่ทำจาก หน่อกล้วยประดับดอกผึ้งตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียกกันว่า "ต้นผึ้งมีชีวิต” ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงสมดั่งนาม
 
     ก่อนวันวิสาขบูชาหนึ่งวันหรือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่ลานหน้าเรือนเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม หญิงและชายต่างวัยชุมนุมแบ่งหน้าที่สร้างต้นผึ้งและหอผึ้ง เพื่อร่วมกุศลผลบุญในวันรุ่งขึ้น ทุกขั้นตอนดำเนินตามรูปแบบแต่ครั้งเก่าก่อน ทั้งลวดลาย ฝีไม้ลายมือ และความเชี่ยวชาญ ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาหลาย ช่วงอายุของชาวด่านซ้าย นับเป็นโอกาสดีที่ผู้มาเยือนจะได้ชมขั้นตอนการสร้าง ต้นผึ้งและหอผึ้งอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงฝีไม้ลายมือของผู้ชาย และความประณีต ในการประดิดประดอยดอกผึ้งของผู้หญิง ตั้งแต่เวลาฟ้าสางจนย่ำค่ำ
 

 
     ขั้นตอนการทำต้นผึ้งเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ด้วยการตัด ขัด ตอก และประกอบ หอผึ้ง ซึ่งงานผู้ชายอย่างนี้เรียกกันตามศัพท์พื้นบ้านว่า "หักหอผึ้ง” ขณะที่ผู้หญิง ช่วยกันทำดอกผึ้ง โดยนำไขขี้ผึ้งใส่หม้อตั้งไฟให้ละลาย ใช้ผลมะละกอดิบตัดเอา เฉพาะส่วนหัวที่เป็นปลายแหลม ปลอกเปลือก แช่น้ำไว้ นำผลมะละกอที่ตัดเตรียมไว้ แล้วใช้ด้านหัวปลายแหลมเป็นแม่พิมพ์จุ่มลงในไขขี้ผึ้งที่ละลาย ไขขี้ผึ้งจะเคลือบ ติดขึ้นมาจึงนำลงแช่น้ำอีกครั้ง ไขขี้ผึ้งที่เคลือบติดมะละกอนั้นก็จะหลุดออกมาเป็น ทรวดทรงกลีบดอกไม้อย่างสวยงาม ส่วนเกสรดอกผึ้งใช้เหง้าขมิ้นแก่ หั่นตามขวางจะได้แผ่นแป้นทรงกลมแบบสีส้มสดใส แล้วนำไม้ไผ่เหลาเป็นไม้เข็มกลัดด้านหนึ่ง แหลม อีกด้านหนึ่งของเข็มกลัดทำให้เป็นฝอยคล้ายเกสรดอกไม้ นำไปเสียบกลาง เหง้าขมิ้นที่หั่นเตรียมไว้ กลายเป็นดอกผึ้งพร้อมใช้ปักประดับต้นผึ้ง
 
     การแบ่งหน้าที่กันทำต้นผึ้งและหอผึ้งดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำกล่าว โบราณที่ว่า "ผู้หญิงห่อข้าวต้ม ตัดดอก บีบข้าวปุ้น ผู้ชายหักหอผึ้ง” ซึ่งแสดง ให้เห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือเมื่อถึงเวลางานบุญงานกุศล
 
     ลักษณะต้นผึ้งที่จัดทำขึ้นของแต่ละบุคคลนั้น เรียกว่า ต้นผึ้งน้อย เป็นต้นผึ้ง ขนาดเล็กอย่างที่เห็นวางตามพุทธสถานทั่วไปในภาคอีสาน และจะเห็นได้เสมอ ที่ฐานองค์พระธาตุศรีสองรัก สร้างด้วยกระบอกไม้ไผ่ ผ่าแบะออก ๔ เส้นเป็นโครง ทรงกระโจมบนฐานสี่เหลี่ยม ปลายโครงทั้งสี่ที่เป็นส่วนฐานยึดติดกับคานไม้ไผ่คู่ ด้วยการมัดตอก (เส้นเยื่อไม้ไผ่) เมื่อผูกยึดโครงไม้ไผ่ทรงกระโจมเรียบร้อยดีแล้ว จึงปิดทับด้วยกาบกล้วยสดสำหรับกลัดติดประดับดอกผึ้งให้สวยงาม
 
     การเข้าร่วมขบวนแห่เพื่อถวายต้นผึ้งน้อย ผู้นำต้นผึ้งถวายจะเป็นผู้ชายเท่านั้นโดยเทินอยู่บนศีรษะ มีคานไม้ไผ่พาดอยู่บนบ่า ส่วน ผู้หญิงก็จะติดตามขบวนไปรอบ ๆ ลานประทักษิณด้วย
 
     สำหรับต้นผึ้งใหญ่หรือหอผึ้ง มีลักษณะเป็น เจดีย์บนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเป็นหลังคาปราสาท ขึ้นรูป ด้วยโครงสร้างไม้เนื้ออ่อนสดและไม้ไผ่สด กรุผนังด้วย
 
     การจักสานกาบกล้วยมัดด้วยตอก (เส้นไผ่) เมื่อกรุผนัง เรียบร้อยสมบูรณ์ดีแล้ว ก็ถึงตอนประดับลวดลายฉลุจาก หยวกกล้วยทับลงบางส่วนอีกครั้ง ก่อนที่จะติดดอกผึ้ง ลงบนพื้นผิวหยวกกล้วยให้งดงามตามแบบดั้งเดิม
 
     การแห่ต้นผึ้งใหญ่หรือหอผึ้งจะตั้งไว้บนคานหาบ มีคนหาบ ๒ คน ที่ข้างหน้าและข้างหลัง ต้นผึ้งใหญ่จะนำ ขบวนข้างหน้าให้หมู่ต้นผึ้งน้อยติดตามต่อ ๆ กันไป
 
     วัฒนธรรมประเพณีถิ่นอีสานเนิ่นนานมา มีต้นผึ้งและหอผึ้งเป็นเครื่อง สักการบูชาพระพุทธเจ้าที่สำคัญยิ่ง ไม่เพียงในวันวิสาขบูชาอย่างที่ด่านซ้ายเท่านั้น แต่ยังทำกันเสมอในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่เรียก "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” รวมทั้ง การทำบุญให้ผู้เสียชีวิตก็มีต้นผึ้งเป็นเครื่องบูชาและเชื่อว่าผู้ตายจะมีที่อยู่บน สรวงสวรรค์ ทางภาคกลางเรียกต้นผึ้งและหอผึ้งเช่นนี้ว่า "ปราสาทผึ้ง” ในเวลา ต่อมาต้นผึ้งและหอผึ้งตามรูปแบบดั้งเดิมถูกสร้างสรรค์ให้มีความอลังการสมกับ คำเรียกที่ว่า "ปราสาทผึ้ง” ในที่สุด
 

 
    ในเทศกาลแห่ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนคร มีต้นผึ้งหรือหอผึ้งที่ถูก สร้างสรรค์ปรับปรุงขึ้นจากภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิม กลายเป็นปราสาทผึ้ง รูปทรงต่าง ๆ ในเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญประจำปีของจังหวัดสกลนคร ช่วงวันออกพรรษา หรือตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี มีการแบ่ง ประเภทของปราสาทผึ้งสำหรับการจัดประกวดไว้ ๔ ประเภท ได้แก่ ปราสาทผึ้ง ทรงพระธาตุ ปราสาทผึ้งทรงหอผี และปราสาทผึ้งทรงบุษบก ทั้ง ๓ ชนิดนี้ ยังนับว่ามีรูปแบบที่คงไว้ตามคติความเชื่อเดิมซึ่งไม่แตกต่างจากต้นผึ้งใหญ่หรือ หอผึ้งมากนัก ส่วนอีกประเภทหนึ่งที่ดูงดงามอลังการโดดเด่นสะดุดตานักท่องเที่ยว เป็นอย่างยิ่งก็คือ ปราสาทผึ้งทรงจัตุรมุข ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ในเทศกาลสำคัญ ของจังหวัดสกลนคร
 
     การแห่ต้นผึ้ง หอผึ้ง ถึงปราสาทผึ้ง ไม่ว่า จะใหญ่หรือเล็ก จะสวยงามแบบพื้นบ้านด้วย จิตใจศรัทธามุ่งถวายความดีงามสู่สวรรค์ หรือ จะอลังการด้วยแรงประกวดประชันความงดงาม นัยสำคัญของชาวอีสานคือการสืบสานพิธีกรรม บูชาพระพุทธเจ้า ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ไทยอันงดงามจากบรรพบุรุษนั่นเอง
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๔ ปี ๒๕๖๐
http://magazine.culture.go.th/2017/4/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)