เรื่อง : กุลธิดา สืบหล้า
ภาพ : วิศาล น้ำค้าง
ความงามแห่งเส้นสาย ลวดลายงานช่าง
ตอกกระดาษ
แห่งล้านนา
กล่าวกันว่า กว่าเราจะเห็นคุณค่าของบางสิ่ง ก็ต่อเมื่อมันได้สูญสลายไปแล้ว แต่สำหรับ ทิวาพร ปินตาสี หรือครูบัว ไม่รอให้ถึงวันนั้น สิ่งที่พ่อและแม่เพียรสร้างจะต้องไม่เปล่าดาย หายไปกับกาลเวลา
เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตอนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ครูบัวในวัย ๓๐ ปี เห็นหนังสือพิมพ์ ท้องถิ่นฉบับหนึ่งเขียนบทความกล่าวถึงการทำโคมและตุงประดับในงานประเพณียี่เป็ง เมืองลำปาง ซึ่งเป็นฝีมือของตาสุข และยายนาค ปินตาสี พ่อกับแม่ของครูบัว ก่อนจะนำไปสู่บทสรุปของบทความที่ว่า น่าเสียดาย ทั้งโคมและตุงที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่แพร่หลายมากนัก สุ่มเสี่ยงว่าอาจจะหายไปในไม่ช้านี้
นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำให้ ครูบัว หันมาเอาจริงเอาจังกับการช่วยพ่อกับแม่ทำโคมล้านนาอย่างจริงจัง จนกระทั่งคลี่คลายต่อมาเป็นการจัดตั้งกลุ่มตุงและโคมศรีล้านนา และมีการจัดทำโคมจนเป็นล่ำเป็นสันจนถึงทุกวันนี้ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ครูบัวก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๔๐ ครูช่างศิลปหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อันเป็นผลมาจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้เรื่องโคม ว่านี่คืองานฝีมือสุดแสนประณีตและเต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อน ตั้งแต่การขึ้นโครง ที่แม้แต่คนเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์เห็นแล้วยังต้องทึ่ง ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่จะขาดเสียไม่ได้และถือเป็นจุดเด่นของโคมแต่ละลูกนั่นก็คือ การตอกลายโคม ซึ่งเป็นฝีมือของงานช่างอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า

งานช่างตอกกระดาษ นั่นเอง งานช่างตอกกระดาษ คือการตอกกระดาษให้เป็นลวดลายต่างๆ ที่ต้องใช้สมาธิและความอดทนสูง ส่วนใหญ่ครูบัวยกหน้าที่นี้ให้ครูโอ๋ วิทยา ศรีใจอินทร์ ผู้เป็นสามี ที่ได้รับการถ่ายทอดวิธีตอกลายกระดาษจากพ่อของครูบัวเช่นกัน ดังนั้นในการทำงาน ทั้งครูบัวและครูโอ๋จึงแบ่งหน้าที่กัน ครูโอ๋ตอกลายกระดาษ เพราะงานตอกลายใช้เวลานาน ระหว่างนั้นครูบัวจะหันไปหยิบจับทำอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เสียเวลา
เสียงค้อนตอกลงไปบนสิ่วดัง "ก๊อก ต๊อก” อยู่ตรงลานบ้านท่ามกลางฟ้าครามในฤดูหนาว ครูโอ๋นั่งอยู่บนเสื่อ ตรงหน้ามีเขียงไม้มะขาม ที่ต้องเลือกเขียงชนิดนี้ก็เพราะไม้มะขามมีความเหนียวกว่าไม้ชนิดอื่น ครูโอ๋ลงสิ่วครั้งแล้วครั้งเล่า ตอกลายลงบนกระดาษสาแผ่นเรียบที่สั่งมาจากบ้านท่าล้อ หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการทำกระดาษสาของเมืองลำปาง กระดาษสาจะถูกพับทบซ้อนหลายชั้น เพื่อเวลาคลี่ออกมาจะได้เป็นลวดลายต่อกัน โดยมีกระดาษกรุต้นแบบวางอยู่ด้านบนสุด ซึ่งเป็นกระดาษกรุลวดลายที่จะต้องตอกลงไปตามนั้น กระดาษสาทั้งหมดถูกตรึงอย่างแน่นหนาด้วยตะปูตัวจิ๋วเพื่อไม่ให้เคลื่อนได้เลยแม้แต่น้อย
ครูโอ๋ใช้สมาธิสูงเพราะต้องจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า ข้างกายของเขามีกล่องเครื่องมือเก่าคร่ำ ข้างในเต็มไปด้วยหัวใจของการตอกลาย นั่นคือสิ่ว ๒๐ ตัวที่คมกริบ สิ่วที่มองอย่างผิวเผินว่าเหมือนๆ กัน แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ทุกตัวมีชื่อเรียกมีประโยชน์ใช้สอยแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่วโค้ง สิ่วเล็บมือ สิ่วตัด สิ่วปากแบน สิ่วตุ๊ดตู่ ฯลฯ สำคัญที่สุดคือทุกตัวต้องคมและเจ้าของเองก็ต้องรู้จักเลือกใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม
วัสดุที่จะตอกลายลงไปมีตั้งแต่กระดาษสา ผ้า ไปจนถึงแผ่นโลหะแบบบาง ทำให้นึกถึง "ปานซอย” สังกะสีฉลุลาย ประดับชายหลังคาวิหารของชาวไทยใหญ่ในเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งเป็นกระดาษสาและผ้าเสียมากกว่า ครูโอ๋บอกว่า ถ้าต้องตอกแผ่นโลหะก็ต้องระวังให้มาก เพราะมันมีความคมกริบที่ร้ายนัก
ด้านลวดลายนั้น ครูบัวเล่าให้ฟังแทนครูโอ๋ที่กำลังขะมักเขม้นว่า ต้นแบบลวดลายที่ตาสุขมอบไว้ให้มีอยู่ ๗ ลาย ได้แก่ ลายหงส์ ลายเครือ ลายหม้อดอก ลายกระหนก ลายนกหัสดีลิงค์ ลายโพธิ์ และลายมะลิ
"บางลายก็เป็นลายต้องห้ามสำหรับบางพื้นที่นะคะ” ครูบัวต้องเรียนรู้เรื่องความเชื่อแต่ละพื้นถิ่น แม้ลวดลายที่ใช้ในการตอกลายจะเป็นลายมงคลทั้งหมดก็ตาม
"ลูกค้าทางภาคใต้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิม เขาจะไม่ใช้ลายรูปสัตว์ค่ะ เขานิยมลายโพธิ์กับลายกระหนก มีอยู่ครั้งหนึ่งเราตอกลายรูปหงส์ส่งไปให้ ก็ต้องกลับมาทำใหม่” ครูบัวเล่า "ถ้าเป็นลูกค้าคนลำปางจะชอบลายหม้อดอก เพราะถือเป็นลายเอกลักษณ์เมืองลำปาง เห็นแล้วนึกถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเราค่ะ”
ลายหม้อดอก หรือลายหม้อปูรณฆฏะ คือหม้อน้ำอันมีน้ำเต็มบริบูรณ์ มีตลา หรือไม้เลื้อย แผ่ออกมาทั้งสองข้าง หมายถึง ความงอกงาม ชีวิต และการสร้างสรรค์ ลายหม้อดอกนี้ จำลองแบบมาจากฝาผนังของวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง นับเป็นลายที่ตอกยากมากที่สุด เพราะมีความอ่อนช้อย มีเส้นโค้งเส้นเว้ามากมาย ต้องลงสิ่วอย่างแม่นยำชำนาญ ไม่เช่นนั้นหากผิดพลาดจะต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด
จะเห็นว่า การตอกลายของช่างตอกกระดาษ ไม่ได้จำกัดเฉพาะนำไปประดับโคม แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์เป็นงานประดับตกแต่งตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยง และงานพิธีอื่นๆ หรือแม้แต่นำไปตกแต่งอาคารบ้านเรือนได้อีกด้วย ซึ่งอันที่จริงสิ่งที่เรียกว่า งานช่างตอกกระดาษนี้ยังมีขอบข่ายของงานขยายไปได้กว้างไกลกว่างานโคมที่เห็นนี้อีกหลายส่วน
ในทางกลับกัน โคมล้านนา อันที่จริงอาจเป็นเพียงงานชั้นต้นของงานช่างตอกกระดาษทั้งหมดก็ว่าได้ เพียงแต่ชิ้นงานจำนวนมากของงาน ช่างตอกกระดาษ กลับเป็นงานชิ้นใหญ่ที่ห่างไกลวิถีชีวิตผู้คนตามปรกติต้องเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปรกติเท่านั้นจึงจะมีชิ้นงานยากๆ เหล่านี้ เช่น งานช่างตอกกระดาษทอง หรือกระดาษสี ประดับปราสาท หีบศพ หรือปะรำพิธีในงานจารีตประเพณีของชาวล้านนาต่างๆ และแม้กระทั่งงานช่างตอกกระดาษของภูมิภาคอื่นๆ เช่นงานช่างตอกกระดาษภาคอีสาน ก็เป็นงานประดับตกแต่งบั้งไฟ ในงานบุญเดือนหก งานประดับเรือไฟบกในงานไหลเรือไฟ ช่วงออกพรรษา และงานประดับประดาธรรมมาสน์ ในงานบุญเทศน์มหาชาติ หรืองานบุญผะเหวด เป็นต้น ส่วนภาคกลาง งานช่างตอกกระดาษ ก็เป็นส่วนหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของราชสำนัก ที่เพิ่งจะผ่านพ้นงานพระบรมศพ รัชกาลที่ ๙ ไป นั่นคือ การตอกกระดาษประดับพระเมรุมาศ ตลอดจนอาคารปะรำพิธีต่างๆ อันเป็นที่รู้จักกันในนาม "ช่างกระดาษทองย่น” นั้นก็เป็นงานช่างตอกกระดาษสาขาหนึ่งด้วย เช่นกัน

"จริงๆ งานตอกกระดาษง่ายๆ ในการทำโคมนี้ ก็เลี้ยงชีพพวกเราได้แล้ว เพียงแต่ต้องอดทนให้มาก อดทนกับรายละเอียดของเนื้องาน และอดทนกับรายได้ที่บางทีก็ไม่แน่นอน” ส่วนในงานช่างตอกกระดาษชิ้นใหญ่ๆ นั้น นานๆจึงจะมีเข้ามาสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องถือเป็นบุญวาสนาที่ได้ทำงานใหญ่ๆ เช่นนั้น ก็ต้องทำกันให้สุดฝีมือละ
ครูบัวยิ้ม นอกจากจะรับทำโคมและงานประดับแล้ว ครูบัวและครูโอ๋ยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ในชื่อ "กลุ่มตุงและโคมศรีล้านนา” บางทีก็มีเด็กนักเรียนมาขอเรียนรู้ถึงบ้าน แต่ที่ภูมิใจมากก็คือ การจัดกิจกรรมให้เด็กพิเศษมาเรียนรู้การตอกลาย ทำโคมแบบง่ายๆ เพื่อฝึกสมาธิ
เรายืนมองร่มสีขาวที่กางอยู่หน้าบ้าน ร่มผ้าธรรมดา แต่ประณีตอ่อนหวานด้วยผืนผ้าสีขาวที่ผ่านการตอกลายลงไปประดับอยู่โดยรอบ นี่คือผลงานล่าสุดที่ครูโอ๋ทำเพื่อประดับร่มหลายสิบคันและกำลังจะส่งมอบให้วัดพระธาตุสันดอนในอำเภอแม่ทะ หลังจากนี้อีกสองสามวัน ทั้งสองคนก็ต้องไปสอนทำโคมที่สุโขทัย
เสียง "ต๊อก ต๊อก ต๊อก” เงียบลงไปภายในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ลายเครือที่ครูโอ๋นั่งตอกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ชายวัย ๖๐ ปีลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย แน่นอนว่ามันช่างสวยงาม ไร้ที่ติ …
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒