กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
สงกรานต์ ทำไม !!! ทำไม ? ต้อง สงกรานต์…

วันที่ 1 เม.ย. 2562
 
สงกรานต์ ทำไม !!! ทำไม ? ต้อง สงกรานต์
 
     "สงกรานต์” ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณี ที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่นและการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกันสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้นํ้าเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
 
    ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ด้วยลักษณะพิเศษ และกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับการสรงนํ้าพระ การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดนํ้า และการละเล่น รื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีปีใหม่แบบไทยๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทรเกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
 
     ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๓, ๑๔, และ ๑๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการการต่อเนื่องกันเพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนเพื่อไปร่วมทำบุญร่วมกับญาติผู้ใหญ่และบุพการี และตลอดจน มีการละเล่นรื่นเริงร่วมกับครอบครัวและชุมชน นอกจากชาวไทยแล้ว ยังมีชาวมอญ พม่า เขมร ลาว รวมถึง ชนชาติไทย เชื้อสายต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย ต่างก็ถือ ตรุษสงกรานต์เป็นประเพณีฉลองปีใหม่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ในประเทศไทย ได้มีการสืบสานและวิวัฒนาการประเพณีสงกรานต์จนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีความพิเศษ จนเป็นที่สนใจและรู้จักประเพณี สงกรานต์เป็นอย่างดีของประเทศต่างๆ
 
 
 
     สงกรานต์ ทำไม !!! ทำไม ? ต้อง สงกรานต์ …
คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น” หรือ "ผ่าน” หรือ "เคลื่อนย้าย” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไป อีกราศีหนึ่ง เช่น เคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่ เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ ราศีเมษเมื่อใดก็ตาม ก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า "มหาสงกรานต์” อันหมายถึง การก้าวครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ ซึ่ง จะตกในราววันที่ ๑๓, ๑๔ หรือ ๑๕ เมษายน ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้
 
     วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่ พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วจน ครบ ๑๒ เดือน
 
     วันที่ ๑๔ เมษายน "วันเนา” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปีเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว
 
     วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจร ขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย ๑ องศา ทั้งสามวันนี้ ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์ อันเป็นการคำนวณ ตามหลักโหราศาสตร์จริงๆ แล้วก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย และ ไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
 
     วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย เพื่อให้ลูกหลาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือ ผู้ใหญ่ในชุมชนที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมนั้น ๆ มาแล้ว
 
     ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี รัฐบาลก็ได้กำหนดให้เป็น "วันครอบครัว” เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชน ส่วนใหญ่ เดินทางกลับไปหาครอบครัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรักความอบอุ่น ที่จะได้ พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและทำกิจกรรมกันในครอบครัว
 
 
     ในช่วงเวลาสงกรานต์ เขาทำอะไรกัน ???
     ก่อนวันสงกรานต์ มักจะเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อความเป็น สิริมงคลในการจะเริ่มต้นชีวิต วันขึ้นปีใหม่ เพราะการเตรียมตัวในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด การจัดทำอาหารไปทำบุญ ฯลฯ จะทำให้ รู้สึกสดชื่น มีความหวังและรอคอยด้วยความสุข อีกทั้งการได้ทำความสะอาดบ้าน ก็เหมือนการได้ฝึกชำระจิตใจล่วงหน้าไปในตัว
 
     ช่วงวันสงกรานต์ เมื่อสงกรานต์มาถึงก็จะได้เป็นเวลาที่ทุกคนยิ้มแย้ม แจ่มใส จิตใจสดชื่น เบิกบาน ซึ่งกิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
 
     ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด ถือเป็นการสืบทอด และทำนุบำรุงพุทธศาสนา อีกทั้งช่วยกล่อมเกลาจิตใจ รู้จักการให้ การเสียสละ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน
 
     ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ แก่บรรพบุรุษ หรือการทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มี พระคุณและผู้ล่วงลับไปแล้ว
 
     การสรงน้ำพระ จะมี ๒ แบบ คือ การสรงนํ้าพระพุทธรูปและ สรงนํ้าพระภิกษุสามเณร เพื่อ แสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคล ที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เมื่อเริ่มศักราชใหม่
 
     การก่อเจดีย์ทราย จุดประสงค์ก็คือการให้พระภิกษุ ได้นำทรายไปใช้ประโยชน์ในการ ก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นที่ต่อไป สมัย ก่อนคนทำกิจกรรมต่างๆ ในวัด จึงถือว่าทรายอาจติดเท้าออกไป เมื่อถึงปีจึงควรจะขนทรายไปใช้ คืน ปัจจุบันการก่อเจดีย์ทรายอาจ จะเหลือเพียงรูปแบบ ซึ่งอาจจะ ปรับเปลี่ยนเป็นทำบุญในรูปแบบ อื่นแทนได้
 
     การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญู กตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะผู้มีอาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้มีอาวุโสมาก เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
 
     การละเล่นรื่นเริงหรือมหรสพต่างๆ เป็นการเชื่อมความสามัคคีและเพื่อ ความสนุกสนานรวมทั้งเป็นการสืบสานมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป เช่น ลิเก ลำตัด โปงลาง หมอลำ ผีตาโขน หนังตะลุง และโนรา เป็นต้น
 
     การเล่นรดนํ้าระหว่างญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือระหว่าง เด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างกัน ควรจะใช้นํ้า สะอาดผสมนํ้าอบ หรือนํ้า หอม และเล่นสาดกันด้วย ความสุภาพ มีไมตรีต่อกัน พร้อมกล่าวคำอวยพรให้ ต่างมีความสุข และไม่เล่นกันด้วยความคึกคะนอง รุนแรง จาบจ้วง หรือตั้งใจ ล่วงเกินผู้อื่นจนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท
 
     นอกจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว บางแห่งยังมีการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อความ สนุกสนาน เช่น การเข้าแม่ศรี การเข้าผีลิงลม ฯลฯ รวมถึง มีการเล่นอื่นๆ เช่น เล่นสะบ้า มอญซ่อนผ้า งูกินหาง เล่นลูกช่วง เล่นเพลงพิษฐาน (อธิฐาน) เป็นต้น
 
 
     การจัดรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในบ้าน
     จัดสถานที่ และที่นั่งให้เหมาะสม เช่น ในบ้านหรือบริเวณลานบ้าน โดยจะให้ท่านนั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งกับพื้นก็ดูความสะดวกของท่าน
 
     จัดนํ้าผสมนํ้าอบหรือนํ้าหอม (อาจลอยดอกไม้เพิ่ม เช่น กลีบกุหลาบ มะลิ) ใส่ขันหรือภาชนะที่เหมาะสมไว้สำหรับรดนํ้าพร้อมภาชนะรองรับ
 
     การรดนํ้าขอพร ให้รดที่ฝ่ามือทั้งสองของท่าน โดยผู้ใหญ่แบมือ ไม่ต้องประนม เมื่อลูกหลานมารดนํ้าผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรหรืออาจจะเอานํ้าที่ รดให้ ลูบศีรษะตนเองหรือผู้มารด เมื่อรดนํ้าเสร็จแล้ว บางครั้งก็อาจจะอาบนํ้าจริง คือรดแบบทั้งตัว ผู้ที่มารดนํ้าขอพรก็จะเตรียมผ้าสำหรับตนเองหรือนำผ้าใหม่ มาให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนก็ได้
 
     การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ในที่ทำงานหรือชุมชนต่างๆ
     จัดแบบไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่จะใช้ห้องของผู้ใหญ่/ผู้บังคับบัญชาเอง หรือห้องที่เห็นว่าเหมาะสมแล้วจัดนํ้าสำหรับรดและภาชนะรองรับเตรียมไว้ให้ พร้อม จากนั้นเชิญท่านมานั่งในบริเวณที่จัดไว้ พร้อมเชิญทุกคนมานั่งรดนํ้าขอ พร เมื่อแล้วเสร็จ ท่านอาจจะกล่าวให้พรอีกครั้ง ตัวแทนก็มอบของที่ระลึก อาจ จะเป็นผ้าหรือของกินของใช้ ตามแต่จะเห็นสมควร
 
     จัดแบบพิธีการ มักจะมีการจัดโต๊ะสรงนํ้าพระพุทธรูป พร้อมจัดตกแต่ง สถานที่อย่างเป็นระเบียบสวยงามเมื่อเริ่มพิธี จะมีพิธีกรกล่าวแนะนำและเชิญ ผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไปนั่งยังสถานที่ที่จัดไว้ เมื่อ รดนํ้าเสร็จ ผู้ใหญ่ก็จะกล่าวอวยพร และเป็นตัวแทนมอบของขวัญแก่ท่าน
 
     ปัจจุบันแม้ประเพณีสงกรานต์ในหลายท้องที่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน มากขึ้น โดยเฉพาะตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างไรก็ดีในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีเอกลักษณ์ เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ คือ
 
     ภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า ล้านนาเขาจะเรียกวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า "วันสังกรานต์ล่อง” (อ่านสังขานล่อง) หมายถึง วันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่ สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี วันนี้ตอน เช้าจะมีการยิงปืน หรือจุดประทัดเพื่อ ขับไล่เสนียดจัญไร จากนั้นก็จะมีการ ทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้าง ร่างกาย รวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับปีใหม่
 
     วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก "วันเนา” หรือ "วันดา” จะเป็นวันเตรียมงาน ต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญและแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน วันนี้บางที่เรียก "วันเน่า” เพราะถือว่าเป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อ ว่าจะทำให้ปากเน่า ไม่เจริญ
 
     วันที่ ๑๕ เมษายน เรียก "วันพญาวัน” หรือ "วันเถลิงศก” ถือเป็นวัน เริ่มต้นปีใหม่เป็นวันที่ชาวบ้านจะทำบุญประกอบกุศล เลี้ยงพระ ฟังธรรม อุทิศ ส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับสรงนํ้าพระพุทธรูปและพระสงค์ นำไม้ไปคํ้า ต้นโพธิ์ รดนํ้าดำหัวขอพรผู้ใหญ่ คำว่า "ดำหัว” ปกติ แปลว่า "สระผม” แต่ในทางประเพณีสงกรานต์ หมายถึง การไปแสดงความเคารพ ขอ อโหสิกรรมที่อาจจะล่วงเกิน ในเวลาที่ผ่านมาและขอพรจากท่าน โดยมีดอกไม้ธูปเทียน และนํ้าหอมที่เรียกว่า "นํ้าขมิ้น ส้มป่อย” (ประกอบด้วยนํ้า สะอาดผสมดอกไม้แห้ง เช่น สารภี หรือดอกคำฝอย และผักส้มป่อยเผา ไฟ) พร้อมทั้งนำของมามอบผู้ใหญ่ เช่น ผล ไม้ เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ เมื่อผู้ใหญ่กล่าว อโหสิกรรม และอวยพร ท่านจะใช้มือจุ่ม นํ้าขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง
 
     ถัดจากวันพญาวันเรียกว่า วันปากปี จะมีการทำพีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา และการทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ (คือการไหว้ เทวดาประจำทิศ) รวมถึงการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน
 
     นอกจากนี้หลายท้องที่ยังจัดการละเล่นรื่นเริง สนุกสนาน มีมหรสพ การแสดง หรือมีการจัดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมไปด้วย การประกวด กลองมองเซิง กีฬาพื้นเมือง เป็นต้น
 
 
      ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีสงกรานต์จะจัดกิจกรรม ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง หรืออาจจะ ๗ วัน ก็แล้วแต่ท้องถิ่นกำหนด โดยวันแรกจะ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน กิจกรรมที่จัดจะคล้ายกับทางเหนือ กิจกรรมหลักๆ คือ สรงน้ำพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอยู่วันเดียว โดยมากจังหวัดจะจัด ขบวนแห่ ประกอบด้วยพระพุทธรูปและบริวาร อื่นๆ เมื่อแห่เสร็จก็จะมีการสรงนํ้าพระพุทธรูป และพระสงฆ์ตามลำดับ
 
     จากนั้นก็มักมีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ ที่ เรียกว่า สักอนิจจาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ คน อีสานที่ไม่ทำมาหากินหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างถิ่น มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันสงกรานต์เพื่อ รวมญาติและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ผู้ล่วงลับไปแล้ว
 
     นอกจากนี้มีการปล่อยสัตว์ ปล่อยนกปล่อยปลา ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็มี การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ การแสดง และการละเล่นต่างๆ ตามประเพณีท้องถิ่น ด้านคนหนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะเล่นสาดนํ้ากันด้วยความสนุกสนาน เชื่อมสัมพันธ์ กันและกัน โดยก่อนวันสงกรานต์จะมีการทำความสะอาด การเตรียมอาหารและ ทุกสิ่งไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้งดการทำ
 
    ภาคใต้ จะเรียก "วันสงกรานต์” ว่า "ประเพณีวันว่าง” ถือว่าเป็น วันละวางกายและใจจากภารกิจปกติ ซึ่งตามประเพณีจะจัดกิจกรรม ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายนของทุกปี
 
     วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ "วันส่ง เจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้มักจะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ที่เรียกว่า ลอยเคราะห์ หรือลอยแพ เพื่อให้ เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามไปกับเจ้าเมืองเก่าไป และมักจะมีการสรงนํ้า พระพุทธรูปสำคัญในวันนี้
 
     วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า "วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด และรดนํ้า ขอพรผู้ใหญ่
 
     ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม วันนี้ชาวเมืองมักจะแต่งตัว ด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับใหม่ แล้วนำอาหารไปทำบุญที่วัด
 
     นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวใต้ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลา การก่อเจดีย์ทรายและการเล่นสาดนํ้าเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ และในสมัยก่อน แต่ละหมู่บ้านจะมีคณะเพลงบอกออกไปตระเวนร้องตามชุมชนหรือหมู่บ้าน โดย จะมีการร้องเป็นตำนานสงกรานต์ หรือเพลงอื่นๆ ตามที่เจ้าของบ้านร้องขอด้วย
 
 
     ภาคกลาง ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลางจะมีกิจกรรมหลักๆ คล้ายภาคอื่นๆ เช่นกันคือ การทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ต่างๆ ก่อนวันสงกรานต์ ครั้นถึงวันสุกดิบ (ก่อนสงกรานต์หนึ่งวัน) ก็จะเป็นการเตรียมอาหารคาว หวานไปทำบุญ ตักบาตร หรือ นำไปถวายพระ ที่วัด ซึ่งอาหาร/ ขนมที่นิยมทำใน เทศกาลนี้ ได้แก่ ข้าวแช่ ข้างเหนียวแดง กะละแม ลอดช่อง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ การสรงนํ้าพระพุทธรูปและ พระสงฆ์ การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การจัดงานประเพณีสงกรานต์ การจัดขบวนแห่ การขนทรายเข้าวัดและก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น
 
     เพื่อให้ประเพณีสงกรานต์ยังคงความหมายสาระและคุณค่าที่ดีงาม จึงควรที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะเน้นสิ่งที่ควรปฏิบัติข้างต้น และละเว้น สิ่งที่จะทำลายความงดงามของประเพณีดังกล่าวลงไป อันได้แก่
 
     ไม่มุ่งประกวดความงามของเทพีสงกรานต์แต่เพียงอย่างเดียว ควรเน้น ให้เด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าประกวดได้ร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อเป็นการสร้างให้รู้จักจิตอาสา
 
     ไม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดองของเมาในวัดหรือในที่สาธารณะ เพราะ นอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว ส่วนใหญ่มักจะเมาอาละวาด หรือแซวกัน จนเกิดการทะเลาะวิวาทรวมทั้งแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสม และที่สำคัญคือ มักเมาแล้วขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมหรืออุบัติเหตุอย่างรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ อันเป็นสาเหตุแห่งความเดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น จึงควรสำรวม ในการดื่มเหล้า หรือควรดื่มกันเฉพาะในหมู่ญาติมิตรเพื่ อนฝูง และอยู่เป็นที่เป็น ทางไม่ไปเกะกะระรานผู้อื่น หรือดื่มจนขาดสติ
 
     ไม่เล่นสาดน้ำใส่กัน ด้วยความรุนแรง ก้าวร้าว คึกคะนอง และไม่ใช้อุปกรณ์ ที่อันตราย เพราะปัจจุบันหลายคนจะเล่นด้วยความประมาท ผิดกาลเทศะทำให้ ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญ หรือสาดนํ้าเข้าไปยังรถที่กำลังวิ่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ที่น่าเศร้าสลด รวมทั้งมีการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้นํ้าผสมแป้งมัน หรือ สี ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้สกปรกยากแก่การทำความสะอาดแล้ว ยังอาจก่อให้ เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ในภายหลัง จึงควรละเว้นการเล่นที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้
 
     และไม่ควรสาดนํ้าผู้อื่นที่มิได้เล่นร่วมกันหรือผู้ที่เดินทางไปกิจธุระและไม่ควร กระทำสิ่งที่ผิดประเพณีต่อชาวต่างชาติ อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อ ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
 
     สรุป
     แม้ประเพณีต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เพื่อที่ จะสืบสานประเพณี "สงกรานต์” ให้เป็นประเพณีที่งดงามและน่าภาคภูมิใจ ของเราต่อไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมกันรักษาสิ่งที่ดีงาม ให้คงอยู่ และขจัดสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเบี่ยงเบนให้หมดไป
 
ที่มา : หนังสือประเพณีสงกรานต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)