วันศิลปินแห่งชาติ
วันแห่งความภูมิใจของเหล่าศิลปิน
ผู้รังสรรค์งานศิลป์ให้รุ่งเรือง
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ ในยุคสมัยที่ทรงครองราชย์สมบัติ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริม เป็นยุคที่งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวรรณกรรม ในยุคสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ เห็นได้จากการทรงงานพระราชนิพนธ์วรรณกรรม ไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อิเหนา เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก ไว้ถึง ๕ เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวรรณกรรม จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม จาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (ในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครับ ๒๐๐ พรรษา)
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงทำนุบำรุงงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สร้างขวัญและกำลังใจให้ศิลปินผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันศิลปินแห่งชาติ” โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินสาขาต่างๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง และผ่านการคัดเลือก ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
"ศิลปินแห่งชาติ” ความหมายตามกฎกระทรวงแห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ระบุว่าว่าหมายถึง ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าและแสดงศักดิ์ศรีของชาติ ที่กำหนดให้ศิลปินแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะใน ๓ สาขาหลัก ดังต่อไปนี้
-สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ภูมิสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ อุตสาหกรรมศิลป์ และประณีตศิลป์ เป็นต้น
-สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะ ทั้งบันเทิงคดีและสารคดี เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ สารคดีและอื่นๆ ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความรู้สึกสะเทือนใจและกลวิธีการนำเสนออย่างมีชั้นเชิง
-สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่สื่อผ่านการแสดง ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะการแสดงพื้นบ้าน แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ ๑.ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย และการแสดงพื้นบ้าน ๒.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล และ ๓.ภาพยนตร์และละคร
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และมีประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แล้วจำนวนรวม ๒๙๕ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๑๔๐ คน และยังมีชีวิตอยู่ ๑๕๕ คน โดยในปีนี้มีศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ จำนวน ๑๒ คน
โดยศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ทั้ง ๑๒ คน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะนำเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือผู้แทนพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล ซึ่งเข็มเชิดชูเกียรตินี้ มีความหมายว่า "ความเป็นปราชญ์ในความรู้ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” และจะมีการจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดี พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ เพื่อถ่ายทอดสู่สาตาสาธารณชน ได้ศึกษาชีวประวัติ ผลงานอันทรงคุณค่าต่อไป
ที่สำคัญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ดังนี้
"ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมาย แสดงอารยะธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของ ท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผลงานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป"
จากพระราชดำรัส "ศิลปินแห่งชาติ” จึงนับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญของวงการศิลปวัฒนธรรม มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้ได้รับการสืบทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และเป็นการดำรงรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้รุ่งเรืองสืบไป