"งิ้ว” สำคัญอย่างไรกับ เทศกาลตรุษจีนในประเทศไทย งิ้ว ตามความหมายจากสารานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า งิ้ว ไว้ว่า งิ้ว เป็นมหรสพ อย่างหนึ่งของจีน เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีการขับร้องและเจรจาประกอบท่าทางการแสดง
(ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๐:๔๒๙๐)
งิ้ว หรือ อุปรากรจีน (Chinese opera) จึงเป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้องและการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องราว โดยได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งยังมีการนำเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงงิ้วด้วย เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว ๓๐๐ กว่าประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นงิ้วท้องถิ่น ส่วนงิ้วระดับประเทศ เช่น งิ้วปักกิ่ง, งิ้วเส้าซิง, งิ้วเหอหนัน และงิ้วกวางตุ้ง โดยงิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ในปัจจุบันถือเป็นตัวแทนงิ้วประจำชาติจีน
ที่สำคัญในบรรดางิ้วจีนกว่า ๓๐๐ ประเภท มี "งิ้วคุนฉวี่" 昆曲 "งิ้วกวางตุ้ง" 粤剧/粵劇 และ "งื้วปักกิ่ง" 京剧/京劇 ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี ๒๐๐๑ , ๒๐๐๙ และ ๒๐๑๐ ตามลำดับ
งิ้ว...เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ้องประมาณปี ค.ศ.๑๑๗๙-๑๒๗๖ เป็นการแสดงที่มีบทพูดเป็นโคลงกลอนสลับกับการร้อง ใช้เครื่องดีดสีตีเป่าเป็นดนตรีประกอบการแสดง ในยุคนั้นยังไม่มีรูปแบบในการแสดงที่ชัดเจน ใช้ผู้แสดงแค่ไม่กี่คน จึงมีการแสดงเป็นเรื่องสั้นๆ เพียงเท่านั้น
วิวัฒนาการของงิ้ว ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมาเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยของเฉียนหลงฮ่องเต้ ประมาณปีค.ศ.๑๗๓๖-๑๗๙๖ ต่อมาในสมัยของพระนางซูสีไทเฮา ก็เป็นอีกยุคหนึ่งที่การแสดงงิ้วรุ่งเรืองสุดขีดเช่นกัน เพราะพระนางซูสีไทเฮาทรงโปรดปรานการแสดงงิ้วมาก ต่อมาในช่วงของราชวงศ์ชิงตอนปลาย จึงเริ่มมีผู้นิยมและอุปถัมภ์คณะงิ้วกันมากขึ้น การแสดงงิ้วจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปจนทั่วประเทศจีน
สำหรับเมืองไทยนั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่าคนไทยเรารู้จัก "งิ้ว” มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกรายวันของบาทหลวง เดอ ชัวสี ในคราวที่ติดตามมองซิเออร์ เลอ เชอวาเลีย เดอโชมองต์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในสมัยพระนารายณ์มหาราช และบันทึกของลาลูแบร์ทูตชาวฝรั่งเศสเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า "Comedie a la chinoife” และ "A Chinefe Comedy” ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า "ละครจีน”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีบันทึกหลักฐานใดๆ ที่บ่งบอกถึงที่มาของชื่อ งิ้ว ไว้อย่างแน่ชัด จนกระทั่งมาถึงในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นยุคที่มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยมากขึ้น การแสดงงิ้วจึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายมาก มีหลักฐานบันทึกชื่อเรียกของการแสดงว่า "งิ้ว” นั้นเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี จากการบันทึกของ กรมหลวงนรินทรเทวี ดังในหลักฐานเมื่อครั้งที่พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯ ให้จัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์และอัญเชิญลงมาด้วย ซึ่งในขบวนแห่นอกจากจะมี โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์ แล้ว ยังมีหมายรับสั่งให้มี "งิ้ว” ไปแสดงในเรือด้วย โดยมีข้อความว่า "งิ้วลงสามป้าน พระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง” รวมมี "งิ้ว” ด้วยกันถึง ๒ ลำ
งิ้ว จึงเปรียบเสมือนการแสดงที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของชาวจีนในยุคโบราณที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเห็นได้ชัด และมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องอยู่กับความเชื่อของผู้คนชาวจีนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดที่มีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ก็มักจะมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นมาควบคู่กันเสมอ การแสดงงิ้ว ก็จะถูกกำหนดให้จัดขึ้นในช่วงเทศกาลหรืองานประเพณีสำคัญๆ เช่น งานฉลองศาลเจ้า งานฉลองวันสารทเดือน ๗ งานฉลองวันเทศกาลกินเจเดือน ๙ งานฉลองแก้บน ฯลฯ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณ ศาลเจ้า เทพเจ้าที่คอยคุ้มครองดูแลปกปักรักษาให้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีทุกข์ภัยใดๆ มาเบียดเบียน

การแสดงงิ้วในเมืองไทยได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการเปิดโรงเรียนสอนการแสดงงิ้วขึ้น มีคณะงิ้วทั้งของคนจีนและคนไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แล้วยังมีโรงงิ้วมาเปิดแสดงเป็นประจำอย่างมากมายบนถนนเยาวราช แหล่งการค้า ชุมชมของชาวจีน นั่นคือภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนกับชาวไทยที่มีมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตปัจจุบัน
ปัจจุบันความนิยมในการชมการแสดงงิ้วได้ลดน้อยลงไป โรงงิ้วที่เคยมีอยู่มากมายในเยาวราช ถูกปรับเปลี่ยนไปเหลือเพียงแค่เค้าโครงรูปแบบของโรงงิ้วแบบเดิม กับคำบอกเล่าจากผู้คนในย่านนั้นว่า ครั้งหนึ่งที่แห่งนั้นเคยเป็นโรงงิ้วมาก่อน มาถึงทุกวันนี้การแสดงงิ้วในเยาวราช จะมีให้เห็นบ้างก็ตามศาลเจ้าและในเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากขึ้น ตลอดจนถึงเรื่องของภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาจีนท้องถิ่น จึงมีผู้ชมน้อยคนที่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น การว่าจ้างคณะงิ้วมาแสดงนั้นมีราคาค่อนข้างสูงกว่ามหรสพประเภทอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ งิ้วในเมืองไทยได้รับความนิยมน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสปีใหม่ของพี่น้องชาวจีน เพื่อสร้างสิริมงคลต้อนรับตรุษจีน ปีหมู ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงให้การสนับสนุนสมาคมอุปรากรจีน เชิญคณะงิ้วชื่อดังในประเทศไทย และดารานักแสดงงิ้วชื่อดังชั้นนำจากประเทศจีน มาแสดงงิ้วให้พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยวได้ชม ในงาน มหกรรมการแสดงอุปรากรจีน สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทย-จีน เพื่อเป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ศิลปะการแสดงอุปรากรจีนให้คงอยู่คู่สังคมไทย และให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการสืบสานศิลปะการแสดงอุปรากรจีน และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย

การแสดงงิ้วเด่นๆ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำมาให้ชม อาทิ การแสดงเพื่อเสริมสิริมงคล เช่น ชุดทวยเทพเบิกฟ้าหรรษาปีหมู ที่รวมทัพนักแสดงงิ้วถึง ๕ คณะ กว่า ๑๐๐ ชีวิต สันสร้างความพิเศษเฉพาะงานนี้ และ ๕ สุดยอดงิ้วที่ได้รับความนิยมแพร่หลายแห่งปีที่ครองใจผู้ชม แสดงตอนที่เด่นที่สุด ให้การแสดงที่กระชับและประณีต อวดศิลปะของผู้แสดงได้เต็มที่ ทั้งลีลาการขับร้อง เจรจา เพลงที่อ่อนหวาน โดดเด่นด้านพรรณนาอารมณ์ โชว์งิ้วเสฉวนเปลี่ยนหน้ากาก งิ้วท้องถิ่นของมณฑลเสฉวน ที่ผู้แสดงเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคพิเศษ มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในงิ้วเสฉวน เป็นกลวิธีหนึ่งที่ใช้แสดงการเปลี่ยนอารมณ์ ความนึกคิดจิตใจของตัวละคร ฯลฯ
อ้างอิงข้อมูลจาก : -หนังสือความเป็นมาของงิ้ว อาจารย์ถาวร สิกขโกศล -หนังสืออุปรากรจีน (งิ้ว) ดร.มาลินี ดิลกวาณิช -โอเปร่าเฮ้าส์ -งิ้วเซ็นเตอร์ -งิ้วดอทคอม -สมาคมอุปรากรจีน #โครงการมหกรรมการแสดงอุปรากรจีนสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทย–จีน๒๕๖๒ #กรมส่งเสริมวัฒนธรรม