กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน สมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือ จังหวัดศรีสะเกษ

วันที่ 23 ก.ย. 2565
 

     ผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือ หรือ เสื้อแพรเหยียบดำมะเกลือ ถือเป็นผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวศรีสะเกษ ด้วยมีวิธีการเรียกชื่อตามเนื้อผ้า ลวดลายที่นิยมในการทอ คือ ลายลูกแก้ว ซึ่งหลังจากทอจนได้เป็นผืนผ้าไหมมีสีตามธรรมชาติแล้ว จะนำมาย้อมด้วยผลมะเกลือจนมีสีดำสนิท แล้วนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ ปักหรือแซวลวดลายด้วยเส้นไหมสีต่าง ๆ และมีการนำสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นกระงาน หญ้าแฝกหอม ลูกตะคอง ขมิ้น ใบเล็บครุฑ ดอกลำเจียก ว่านเปราะหอม เนียมหอม และสมุนไพรอื่น ๆ ที่ให้กลิ่นหอม มาใช้ผสมในขั้นตอนการย้อมสีและการอบผ้าไหม เพื่อป้องกันผิวพรรณไม่ให้ระคายเคือง กลิ่นหอมจากสมุนไพรยังช่วยในด้านการหายใจ เพิ่มความเย็น ระบายความร้อนได้ดีและยังป้องกันแมลง
 
     เพื่อศึกษาสภาพปัญหาปัจจุบันของ ภูมิปัญญาการทำสมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการทำสมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือ เพื่อนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องมาผลิตชุดความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน : สมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือ จังหวัดศรีสะเกษ อันจะส่งผลให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาในด้านนี้ให้เกิดการถ่ายทอดและคงอยู่สืบไป
 
     ผลการศึกษาพบว่า ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ หรือเสื้อเก็บบ้านเมืองน้อยเป็นเสื้อที่ทำจากผ้าไหมพื้นบ้านทอมือทอลายในตัว ย้อมสีดำด้วยมะเกลือ ตัดเย็บตามแบบเสื้อพื้นบ้านของชนเผ่าส่วย เขมร มีการเย็บและปักด้วยเส้นไหมสีสันต่าง ๆ เรียกว่า "การแซว” และอบด้วยสมุนไพรให้มีกลิ่นหอมติดทนทาน มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า "เสื้อผ้าเหยียบ” วัตถุประสงค์ของการสวมใส่ เพื่อใช้ใส่ในงานบุญประเพณี บุญบั้งไฟ งานแต่งงาน เป็นชุดนุ่งไหว้หรือสวมใส่ในพิธีกรรมบูชาแม่มดผีฟ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิธีการย้อมผ้าไหมให้เป็นสีดำด้วยผลมะเกลือนี้ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่ล้ำค้าจากบรรพชนชาวศรีสะเกษที่สืบทอดต่อกันมา
 
     การวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการทำสมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือ โดย สญาดา สาลีวรรณ รชพรรณ ฆารพันธ์ และคณะผู้วิจัย ทำให้ทราบว่า การทำสมุนไพรอบผ้าไหมย้อมมะเกลือนั้น มีสมุนไพรหลัก ได้แก่ ใบเล็บครุฑหรือภูริยม ขมิ้น ฮากกระเฉนหรือรากแฝกหอม หนามคองหรือลูกตะคอง ต้นนมยาน ต้นกระวาน หรือต้นตดหมาสมุนไพรเสริม (ถ้ามี) ต้นเนียม ต้นอ้ม หรือต้นเนียมอ้ม หรือต้นใบขน และการะเกดหรือลำเจียก นำสมุนไพรทั้งหมดโขลกรวมกันเมื่อเสร็จแล้วนำเครื่องหอมอื่น ๆ เช่น ใบม็อค ใบอ้ม ลำเจียกมาดาดในกระทะ หรือใช้วิธีเอาใบตองกล้วยหรือกาบกล้วยหมกให้มีกลิ่นหอม แล้วจึงนำมาคลุกผสมรวมกันกับใบภูริยมหรือใบอ้ม แล้วนำสมุนไพรชนิดอื่นที่เตรียมไว้มาคลุกผสมกัน หลังจากคลุกเรียบร้อยแล้วนำมาใส่มวย หรือหวดนำไปนึ่งและตากแดด ก็จะได้เครื่องหอมที่แห้งสนิทเก็บไว้สำหรับอบผ้าได้ เมื่อได้นำไปใช้อบผ้าแล้วและนำไปตากให้แห้งดีแล้ว จากนั้นจึงนำไปสวมใส่ใช้ได้
 
     ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัยเพื่อนำไปปรับใช้งาน ดังนี้ ๑) สามารถนำหลักการเศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อจัดการภูมิปัญญาและวิถีในการดำเนินชีวิต และจัดการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในระดับบุคคล ให้มีความสามารถร่วมกันวางแผนแบบมีส่วนร่วม มีความรอบคอบในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีชุดความรู้จริงที่ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ๒) ควรมีการนำวิธีการผลิตชุดความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชนที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดเก็บองค์ความรู้และเผยแพร่ให้เข้าถึงบุคคลที่มีความสนใจได้ ๓) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรกำหนดนโยบายให้จัดลำดับความสำคัญของ การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในชุมชน ให้อยู่ในระดับต้น ๆ ของแผนงานและโครงการต่าง ๆ และ ๔) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและสนับสนุนส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
 
     >>> รายละเอียดงานวิจัยฉบับเต็ม คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/230965a.pdf
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม ,
พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)