กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า...ตอน วัฒนธรรมสุขภาพชุมชนลุ่มน้ำลี้

วันที่ 2 ก.ย. 2565
 

     ได้มีการศึกษาวัฒนธรรมสุขภาพในพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำลี้ จังหวัดลำพูน ด้วยกระบวนการการเรียนรู้ชุมชน ผ่านตัวบุคคลและศูนย์การเรียนรู้ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนภายใต้ความเชื่อ ความศรัทธา ฐานะเศรษฐกิจสังคม การอยู่อาศัย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าหมอพื้นบ้านจะมีอิทธิผลต่อการตัดสินการเจ็บป่วย ซึ่งแต่ละคนจะมีระบบการเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพ ผ่านประสบการณ์ตรงหรือระบบเครือญาติ โดยเฉพาะระบบครูหรือผู้รู้ หรือผู้อาวุโส โดยการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ในลักษณะตัวต่อตัว ที่อาศัยการจดจำมากกว่าการจดบันทึก
 
     ผลการศึกษาของนายสามารถ ใจเตี้ย แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมสุขภาพทางกาย ทั้งการบีบนวด การใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรพื้นบ้าน การบริโภคอาหารพื้นบ้าน และการสร้างเสริมสุขภาพจิตผ่านพิธีกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการต่อรอง ให้หายจากความเจ็บป่วย ภายใต้กฎเกณฑ์ชุมชน ซึ่งยังคงความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและแหล่งทรัพยากรของชุมชน โดยประชาชนมีแหล่งการเรียนรู้ทั้งตัวบุคคลและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน นำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการเรียนรู้ วัฒนธรรมสุขภาพโดยก่อเกิดกิจกรรมการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความเข้าใจกับประชาชน และการนำสู่การปฏิบัติในพื้นที่
 
     หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันด้วยการบูรณาการแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้บังเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งอาจดำเนินการได้โดยการวางแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดในแต่ละพื้นที่ โดยชุมชนต้นน้ำ (อำเภอทุ่งหัวช้างและอำเภอลี้บางส่วน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงที่ยังดำรงชีพด้วยการพึ่งพาอาหารจากป่าและแม่น้ำลี้ ควรเน้นการส่งเสริมด้านพัฒนาภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ส่วนชุมชนกลางน้ำ และปลายน้ำ (อำเภอลี้บางส่วน อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอเวียงหนองล่อง) ควรมุ่งเน้นแนวทางการปฏิบัติผ่านกฎกติกาภายใต้กฎเกณฑ์ของพิธีกรรมในชุมชนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการคงอยู่ของพื้นที่และวิถีชีวิตดั่งเดิม
 
     >>> รายละเอียดงานวิจัยฉบับเต็ม คลิก www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/020965.pdf
 
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วารสารวิจัยวัฒนธรรม ปี่ที่ ๔ ฉบับที่ ๒ มกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)