ดนตรีถือเป็นภาษาสากล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชาติใดล้วนมีเสียงดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ดนตรีสามารถสร้างสีสันให้ผู้คนในหลากหลายด้าน ตั้งแต่เริ่มเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากจะให้ความบันเทิงให้แก่ผู้ฟังแล้ว สำเนียงของดนตรี ชนิดของเครื่องดนตรีและรูปแบบการแสดงดนตรียังแสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบ่งบอกความเป็นตัวตนของแต่ละกลุ่มชนได้อย่างน่าสนใจ
เชียงราย จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย อาทิ อาข่า (อีก้อ) ลาหู่ (มูเซอ) ม้ง (แม้ว) จีนฮ่อ เมี่ยน (เย้า) กะเหรี่ยง ลีซู (ลีซอ) ลัวะ (ละว้า) ขมุ ไทยใหญ่ (ไต) ไทยลื้อ เป็นต้น แต่ละชนเผ่าจะมีความเชื่อประเพณีวัฒนธรรม การนับถือศาสนา ที่มีทั้งความคล้ายและแตกต่างกันไปตามวิถีดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมถึงวัฒนธรรมด้านดนตรีที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ
ลัวะ หรือ ละว้า คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเก่าแก่มีรากฐานทางวัฒนธรรมในดินแดนล้านนามาอย่างยาวนาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อได้ว่า เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมบริเวณภาคเหนือของไทยและเชียงตุง ก่อนที่ชาวไทยจะอพยพจากจีนแผ่นดินน่านเจ้ามายังภูมิภาคนี้ ชาวลัวะ จึงมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วัฒนธรรมดนตรีของลัวะ ซึ่งดูผิวเผินจะเห็นรูปแบบเครื่องดนตรีรวมถึงการแสดงที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มทั่วไป เช่น ไตยวน ไตเขิน ไตใหญ่ และบีซู มีทั้งการแสดงดนตรีล้วน การแสดงประกอบการขับร้องเพลงภาษาลัวะ และแสดงประกอบการแสดงทางวัฒนธรรม จะพบเห็นได้ในกิจกรรม ประเพณี งานรื่นเริง มีวัตถุประสงค์เพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย จากการทำงานในชีวิตประจำวัน
แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งยังพบว่า ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เป็นหนึ่งในกลไกการสร้างสรรค์พลังทางวัฒนธรรมดนตรีที่เกิดขึ้นด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มี ผนวกกับความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ส่งผลให้คนในชุมชนมีความหวงแหนวัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต รักษาประเพณีในแบบดั้งเดิม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่สั่งสมมาจากอดีต อันจะส่งผลให้เป็นตัวอย่างและเป็นแนวทางการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ชุมชน ด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมดนตรีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต