
จันทบุรี จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกของไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่กลุ่มหนึ่ง คือ "ชอง” ที่ได้รับผลกระทบจากการความเจริญในด้านต่างๆ ที่เข้ามาในท้องถิ่น ทำให้ประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คน ความเชื่อบางอย่างเริ่มสูญหายไปจากวิถีชีวิตชาวชองในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ การไหว้ผีหิ้งและผีโรงของคนชอง ในตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฎ
ชาวชองเป็นคนพื้นเมืองเดิมในจันทบุรี ส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันอยู่บริเวณเชิงเขาสอยดาว เขาคิชฌกูฎ ในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน มะขาม และอำเภอเขาคิชฌกูฎ โดยเฉพาะในเขตตำบลตะเคียนทอง คลองพลู และพลวง ชาวชองมีรูปร่างสันทัด สูงประมาณ ๕-๕.๕ ฟุต ผมหยิกขอด ตาโต ริมฝีปากหนา นักมานุษยวิทยาจัดชนกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มมอญ - เขมร ซึ่งเป็นสาขาย่อยของกลุ่มออสโตร-เอเชียติค แต่เดิมชาวชองอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเชิงเขา ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างง่ายๆ และมักโยกย้ายหากมีคนตายในบ้าน นอกจากจะทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่แล้ว ยังเป็นนักเก็บของป่า และเป็นพรานที่ชำนาญ ปัจจุบันจะประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และรับจ้าง
"ชาวชอง” มีภาษาพูด วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง นับถือผีบรรพบุรุษ จึงทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี ถือเป็นประเพณีแห่งการรวมญาติ เรียกว่า การไหว้ผีหิ้ง ผีโรง เป็นประเพณีที่มีจุดมุ่งหมายสื่อสารกับบรรพบุรุษ เพื่อถามถืงสารทุกข์ สุขดิบ ทั้งคนที่ยังมีชีวิตอยู่และคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทุกบ้านของชาวชองจะมีหิ้งอยู่บนบ้าน และจะถูกยกทำพิธีเมือถึงวันรวมญาติในแต่ละปี กล่าวได้ว่าพิธีนี้เป็นการทำให้เกิดการรวมญาติ จากที่แยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นเมื่อถึงเวลาจึงกลับพบกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน..