ปัจจุบัน กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสัมผัสอัตลักษณ์ที่หลากหลายและความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงถึงความงดงามของแต่ละท้องถิ่น หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ ภูเก็ต ด้วยความสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผสมผสานวัฒนธรรมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของ กลุ่มชนบาบ๋า ที่สืบสานวัฒนธรรมของตนเองด้วยความมั่นคงและต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ ประเพณีการแต่งงานระหว่างหนุ่มอพยพชาวจีนกันสาวท้องถิ่น ที่แสดงความโดดเด่นและสวยงามให้เห็นในเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่สวมในพิธี โดยเฉพาะเจ้าสาว นอกจากชุดที่สวยงามยังมีประดับศรีษะด้วย มงกุฎสีทอง (เฉ่งก๋อ) เครื่องประดับที่ฝ่ายหญิงต้องสวมใส่ในวันเข้าพิธีแต่งงาน
"เฉ่งก๋อ” เป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญ ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการเป็นเจ้าสาว ในกลุ่มชนบาบ๋า จังหวัดภูเก็ต ด้วยสื่อความหมายของความเป็นเพศหญิง อันประกอบด้วย "หงส์” สัตว์มงคลที่สง่างาม และหยิ่งผยอง "ผีเสื้อ” สัตว์มงคลขานาดเล็กแทนความเป็นเพศชาย มีความสวยงาม อิสระ เป็นตัวแทนของการสืบพันธุ์หรือการสืบพงศ์วงศ์ตระกูล และยังประดับด้วย "ดอกไม้” สิ่งสวยงามตามธรรมชาติ สีสันสวยงาม มีกลิ่นที่หอมยั่วยวนเพศชาย สื่อถึงความเป็นเพศหญิง ตัวแทนของการขยายพันธุ์หรือการเจริญพันธุ์ นั่นเอง
ในการวิจัยเรื่อง การศึกษาและพัฒนารูปแบบเฉ๋งก๋อ สู่การแสดงนาฏยประดิษฐ์ นั้น สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเป็นต้นแบบด้านการนำมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการจัดการ การท่องเที่ยวของท้องถิ่นให้มั่นคงและยั่งยืนบนพื้นฐานวัฒนธรรม อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคในอนาคต ด้วยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก และเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการบินพาณิชย์ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับหน่วยงานท้องถิ่น ที่สารถผลิตสินค้าเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถือเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง