กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน ผ้าไหมหมักโคลน < การพัฒนาองค์ความรู้ > เพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์

วันที่ 25 ธ.ค. 2563
 

     ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับภาคอีสานของประเทศไทย นั่นคือ ผ้าไหม ไม่ว่าจะเป็น ผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว ผ้าแพรวา ผ้าขิด ฯลฯ สิ่งทอที่มาจากภูมิปัญญาการสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มของผู้คนในท้องถิ่น ที่ยามว่างจากการทำนา ผู้หญิงจะทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ เช่น เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) เป็นต้น ส่วนผู้ชายยามว่างก็จะทำจักสาน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระบุง ตระกร้า เสื่อ เป็นต้น ภูมิภาคอีสาน จึงเป็นแหล่งมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าที่เก่าแก่และสำคัญของประเทศ

 
     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในหัวข้อ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) พบว่า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้อันดับที่สองในตัวเลือก คิดเป็นร้อย ๒๖.๖๐ จากข้อมูลนี้ถือเป็นโอกาสทางการตลาดสิ่งทอของภาคอีสาน ในการพัฒนาสิ่งทอให้แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะสิ่งทอที่นำสีธรรมชาติมาใช้ในการย้อม ซึ่งผู้บริโภคปัจจุบันให้ความนิยมเป็นอย่างมาก
 
     การสร้างสรรค์สิ่งทอด้วยการใช้สีธรรมชาติจากพืชพันธุ์ต่างๆ มาผสมผสานทำให้การย้อมสีเส้นไหมเกิดสีสันที่สวยงามแล้ว ชาวบ้านภาคอีสานยังนำโคลนดินมาทำการย้อมผ้าอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผ้าไหม ซึ่งพบว่าให้สีสันที่สวยงามเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยผลการวิจัยพบว่า การย้อมร้อนจะทำให้เส้นไหมมีความเข้มของสีและทนทานต่อการขัดถูได้ดีที่สุด จึงเป็นวิธีการที่ควรนำไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการผลิตผ้าไหมหมักโคลน ให้ได้ทั้งคุณภาพและความสวยงามตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมผลิตภัณฑ์ที่ใช้สีจากธรรมชาติ ด้วยรู้สึกถึงความปลอดภัยจากสารเคมีหรือสีสังเคราะห์
 
     ภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมหมักโคลนนี้ จึงเป็นกระบวนการผลิตสิ่งทอที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ให้ชุมชนในภาคอีสาน ที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง และสร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือสำหรับผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยองค์ความรู้นี้ควรผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาแก่ชุมชนเจ้าของภูมิปัญญา เพื่อสร้างความมั่นคงให้สิ่งทอท้องถิ่นของไทยให้สามารถแข่งขันในทางการค้าได้อย่างยั่งยืน
 
     อ่านเนื้อหารายงานการวิจัยฉบับเต็ม>>>http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/251263.pdf
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)