หลักการดำเนินงาน
บทบาทหน้าที่ของหอวัฒนธรรมนิทัศน์

๑.
เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ของประชาชนเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง ตามความสนใจ ความพร้อม และศักยภาพของแต่ละบุคคล
๒.
เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรแก่การเผยแพร่ไปสู่สังคมไทยและสังคมโลก
๓.
เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
๔.
เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก เป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน



เนื้อหาที่จัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์

การจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ประกอบด้วยโครงสร้างเนื้อหาหลัก ๔ เรื่อง คือ
๑. บทนำ (Highlight) จัดแสดงประวัติความเป็นมาของสถานที่หรือเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเด่น เอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่จัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เช่น จังหวัดพะเยามีจุดเด่น คือ กว๊านพะเยา และจังหวัดเชียงราย ได้แก่ การประทับรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

๒. ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญา เป็นต้น

๓. มานุษยวิทยา (Anthropology) จัดแสดงในเชิงวัฒนธรรมเปรียบเทียบกลุ่มชนต่าง ๆ เช่น เรื่องภาษา วรรณกรรม ตลอดจนเรื่องวิถีชีวิต เป็นต้น
๔. ธรรมชาติวิทยา (Natural History)จัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สัตว์ พืช แร่ธาตุ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในการจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จะเน้นเรื่องราวของท้องถิ่นนั้น ซึ่งจะแตกต่างกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Museum of Art) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดแสดงศิลปะวัตถุเป็นสำคัญ



การจัดตั้งและดำเนินงานหอวัฒนธรรมนิทัศน์

องค์ประกอบในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์
๑. ความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายเครือญาติทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น
เพื่อประชุมระดมความคิดและสรรพกำลัง โดยใช้ศักยภาพที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรเข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ซึ่งองค์กรเครือข่ายทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นสรุปได้เป็น ๕ กลุ่ม หรือที่เรียกว่า "เบญจภาคี" ได้แก่

๑.๑. องค์กรภาครัฐ ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของทางราชการ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานด้านการศึกษา และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ สามารถเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือในด้านการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการในการของบประมาณ และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนในการจัดตั้ง และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

๑.๒ องค์กรเอกชน หรืออาจเรียกว่า องค์กรสาธารณประโยชน์ ได้แก่ สภาวัฒนธรรมทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรการกุศล สื่อมวลชน สโมสร ชมรม และกลุ่มต่าง ๆ สามารถมาร่วมเป็นคณะกรรมการ ช่วยเหลือในด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังคน และให้ข้อแนะนำในการจัดตั้ง เป็นต้น

๑.๓ องค์กรชุมชน ได้แก่ องค์กรอาชีพ องค์กรศาสนา กลุ่มอาสาสมัคร คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มสาธารณสุขมูลฐาน องค์กรประชาชนในตำบลและหมู่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มพัฒนา กลุ่มพิทักษ์สิทธิประโยชน์ และการรวมตัวตามธรรมชาติในรูปแบบอื่น ๆ สามารถเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมกันคิดรูปแบบและเนื้อหาในการจัดแสดง การช่วยเหลือด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากมุมมองของแต่ละสาขาอาชีพ ทำให้เกิดความหลากหลายในการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์มากยิ่งขึ้น

๑.๔ องค์กรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ห้างร้าน โรงแรม ศูนย์การค้า หอการค้า ธนาคาร ชมรมนักธุรกิจ สหกรณ์ และองค์กรธุรกิจรูปอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ

๑.๕ องค์กรวิชาการ ได้แก่ สถาบันการศึกษา พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ตลอดทั้งชาวบ้านและผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ สามารถเข้าเป็นคณะกรรมการให้การสนับสนุนด้านข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลท้องถิ่น เพื่อที่จะนำมาเป็นเนื้อหาข้อมูลในการจัดแสดงนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ



๒. การศึกษาและวิจัยข้อมูลในท้องถิ่น
ข้อมูลทางสังคมศาสตร์ในด้านต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการนำมาจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ การได้มาซึ่งข้อมูลทางสังคมศาสตร์อย่างสมบูรณ์ควรมาจากหลายฝ่าย ทั้งข้อมูลที่มาจากส่วนกลาง เช่น จากหอจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ หนังสือราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นรวมทั้งข้อมูลที่มาจากคำบอกเล่า และเอกสารโบราณในท้องถิ่น โดยความร่วมมือจากองค์กรวิชาการ และชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันศึกษารวบรวมข้อมูลทางสังคมศาสตร์ และนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดนิทรรศการภายในหอวัฒนธรรมนิทัศน์
๓. การรวบรวมโบราณวัตถุ หรือสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน
การได้มาซึ่งโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน เพื่อนำมาจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์นั้นมีที่มาจากหลายทาง เช่น
๓.๑ การบริจาคของบุคคลในท้องถิ่นให้แก่วัด โรงเรียน
๓.๒ การสะสมของบุคคลที่สนใจด้านวัตถุโบราณต่าง ๆ
๓.๓ การซื้อหรือสั่งทำในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้วัตถุ หรือสิ่งของในการจัดแสดงเพื่อที่จะทำให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
๓.๔ การทำจำลองโบราณวัตถุในกรณีที่เป็นสิ่งของล้ำค่า เกรงว่าหากนำมาจัดแสดงอาจเกิดการสูญหายได้
๓.๕ การสร้างโบราณวัตถุขึ้นมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ผู้รู้ในท้องถิ่น เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลมีความสมบูรณ์ครบถ้วน
๔. การจัดทำทะเบียนและบัญชีคุมโบราณวัตถุ
หอวัฒนธรรมนิทัศน์หลายแห่ง ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการจัดทำทะเบียนวัตถุ จึงทำให้สับสนในการจัดเก็บ แยกประเภท และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีวัตถุสิ่งของใดบ้างที่สูญหายไปจากคลังเก็บวัตถุ ดังนั้น จึงควรมีระบบการจัดทำทะเบียน และบัญชีคุมวัตถุไว้ให้เป็นระเบียบ ซึ่งรูปแบบของการดำเนินการจะแตกต่างกันไป ตามความเข้าใจและที่ตกลงกันในคณะทำงาน

 

 
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ ๗๖ จังหวัด
ภาคเหนือ 
ภาคกลาง 
ภาคอีสาน 
ภาคใต้ 

 

 
   
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม