กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search




เสวนาเรื่อง โขน : รามายณะ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมในอาเซียน
วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ณ ห้องประชุม ๑ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


           การเสวนาโขน : รามายณะ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมในอาเซียน จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สร้างความรู้ความเข้าใจ โขนในฐานะที่เป็นศิลปะการแสดงของไทย และตระหนักถึงความสำคัญในฐานะที่เป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของอาเซียน มีวิทยากรจำนวน ๔ ท่าน ประกอบด้วย ดร.ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเสวนา จำนวน ๑๐๐ คน สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

           ดร.ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ :.กล่าวถึงความเป็นมาของโขน

          โขน หมายถึงการแสดงศิลปะ นาฏศิลป์ชั้นสูงที่ผู้แสดงสวมหน้ากาก มีต้นกำเนิดจากการละเล่น ๓ อย่าง คือ หนังใหญ่ การละเล่นกระบี่กระกระบอง และการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โดยดึงลักษณะเด่นของการละเล่นแต่ละอย่างออกมาพัฒนาเป็นโขน โดยมีประวัติย้อนไปถึงสมัยสุโขทัย และพัฒนารูปแบบการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสมัยอยุธยา โขน เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ ถึงปัจจุบัน โขนไทยถือเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นองค์รวมของศิลปะแขนงต่าง ๆ

           ในสมัยโบราณ โขนแสดงบนพื้นดิน เนื้อหาการแสดงจะเน้นการสู้รบ ระหว่างฝ่ายพระราม และฝ่ายยักษ์ เปรียบเสมือนฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ต่อมา พัฒนาการของโขนมีวงปี่พาทย์ และบทพากย์เจรจา สามารถแบ่งการพัฒนาและรูปแบบของโขนได้ดังนี้

     ๑. โขนกลางแปลง เป็นการแสดงบนพื้นดิน ไม่มีโรงให้เล่น ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีทั้งโขนวังหน้าและวังหลัง เป็นมหรสพโขนที่ใหญ่ที่สุดที่ได้มีการบันทึกไว้
     ๒. โขนนั่งราว หรือโขนโรงนอก หรือโขนนอนโรง มีการดัดแปลงปลูกโรงให้โขนแสดง ลักษณะคล้ายโรงลิเกในปัจจุบัน แต่ไม่มีเตียงให้นั่ง จะนั่งบนราวไม้ไผ่แทน ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์ เจรจาเป็นหลัก
     ๓. โขนหน้าจอ เป็นการแสดงเชิญหนังใหญ่ ที่นำหนังตัดเป็นตัวโขน แสดงบนจอผ้ามุ้งสีขาว ขอบสีแดง หรือเล่นบนจอที่ใช้เล่นหนังใหญ่ มักแสดงในงานศพหรือตามวัดต่าง ๆ
     ๔. โขนโรงใน นำการระบำของละครมาสอดแทรกในโขน และมีการร้องประกอบการพากย์ เจรจา เดิมนิยมเล่นใน พระราชวัง
     ๕. โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มมีการแสดงเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ทั้งนี้ โขนพระราชทานในปัจจุบัน ก็อาจจัดอยู่ในรูปแบบโขนฉากได้เช่นกัน
     ๖. โขนหน้าไฟ เรียกตามลักษณะการแสดงที่ใช้เล่นในงานพระราชทางเพลิงศพ หรือการแสดงโขนหน้าพระเมรุ เมื่อครั้งพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีการเล่นโขนหน้าไฟ เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง
           ปัจจุบัน เราจะสามารถพบเห็นการแสดงโขนได้ทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า โขนเป็นการแสดงที่มีทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยคณะนักแสดงมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ชาวบ้านและชาววัง นอกจากนี้ รูปแบบการแสดงโขนของไทยยังเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนของชนชาติอื่น นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา :.กล่าวถึงวรรณกรรมในโขน
           โขนเป็นศิลปวัฒนธรรม เป็นความงดงามที่เกิดจากการสร้างสรรค์และจินตนาการของมนุษยชาติ เรื่องที่ใช้ในการแสดงโขน คือ เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแปลว่า เกียรติของพระราม โดยคำว่า "ราม” นั้น เป็นที่รู้จักตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย อาทิ พ่อขุนรามคำแหง และอาณาจักรอยุธยา อาทิ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
           สำหรับหลักฐานวรรณกรรมในสมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างอาณาจักรอยุธยา พบว่า มีวรรณกรรมโองการแช่งน้ำ ที่เขียนเป็นระเบียบเพื่อควบคุมสังคม โดยมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมรามเกียรติ์ปรากฏอยู่ด้วย อาทิ ทรพี เจ้าสิบหน้า ในลิลิตยวนพ่าย ซึ่งแต่งไว้เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๐๒๕ ได้กล่าวถึง พระรามที่ทำหน้าที่ควบคุมเหล่าวานรข้ามมหาสมุทร และพระรามพานางสีดาไปรบกับยักษ์ นอกจากนี้ เรายังพบวรรณกรรมหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ อาทิ ราชาพิลาปคำฉันท์ บุณโณวาทคำฉันท์
          ภายหลังจากยุคกรุงธนบุรี บทละครรามเกียรติ์เฟื่องฟูมากในยุครัตนโกสินทร์ทุกรัชสมัย โดยสมัยรัชกาลที่ ๑ มีบทละครรามเกียรติ์ เพื่อใช้ในการแสดงละครใน โดยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในรัชกาลที่ ๒ มีบทละครรามเกียรติ์ และทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์หนังและโขน บางตอน ในรัชกาลที่ ๔ มีบทละครรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง ในรัชกาลที่ ๕ มีการเขียนโคลงรามเกียรติ์ จารึกรอบโบสถ์วัดพระแก้ว ในรัชกาลที่ ๖ มีบทละครรามเกียรติ์ จำนวน ๖ ตอน เพื่อไว้แสดงโขน ทั้งนี้บทพากย์รามเกียรติ์นั้น ไว้พากย์โขนและหนังใหญ่ โดยโขนที่นำบทร้องมาใส่ เกิดขึ้นในยุคหลัง
          นอกจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะแล้ว ยังพบว่า มีวรรณกรรมหลายเรื่องที่เป็นลักษณะมรดกร่วมในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เรื่องมโนรา นอกจากประเทศไทยแล้ว พบได้ในแถบสิบสองปันนา ลาว และกัมพูชา เรื่องพระรถเมรี พบในประเทศไทย กัมพูชา และเมียนมาร์ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการส่งผ่านวัฒนธรรมสู่ประเทศต่างๆ ย่อมอาศัยเวลาในการบ่มเพาะ เราจะพบว่าวรรณกรรมจากประเทศอินเดียที่มีการส่งผ่าน คือ เรื่องรามายณะและทศรถชาดก โดยตัวละครเด่นในเรื่องรามเกียรติ์ คือ หนุมาน การแสดงเรื่องรามายณะของอินเดีย เป็นลักษณะพรหมจาริณี ไม่แตะต้องผู้หญิง แต่เมื่อปรับเป็นฉบับของไทย หนุมานมีภรรยาหลายคน นอกจากนี้ เรายังพบวรรณกรรมรามเกียรติ์ปรากฏในลักษณะตำนานของสถานที่ต่างๆ อาทิ เมืองขีดขิน ที่จังหวัดสระบุรี มีตำนานเล่าว่ายักษ์รบกับลิงกระทั่งแผ่นดินสุกเป็นบ่อดินสอพอง และตำนานของหัวกระบือที่บางขุนเทียน เล่าต่อกันว่า ในตอนที่ทรพีรบกับพาลี นั้น สุครีพได้นำหินมาปิดปากถ้ำ และหัวควายได้มาหล่นที่บางขุนเทียน จึงเรียกว่า หัวกระบือ ดังนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวในวรรณกรรม เราควรเชิดชูความงดงามของจินตนาการ
          ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ :.กล่าวถึงศิลปะการแสดงโขน
          โขน ปรากฏในสมัยอยุธยา นำเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นเนื้อเรื่องแสดง โดยใช้คนมาแสดงแทนตัวละครในหนังใหญ่ สวมเครื่องแต่งกายหัวโขนแบบพระราชพิธีอินทราภิเษก ใช้ดนตรี เพลง บทพากย์เจรจาจากหนังใหญ่ ลักษณะศิลปะการต่อสู้การใช้อาวุธ มีหลักฐานภาพท่าทางการแสดงโขนปรากฏในภาพจำหลัก ภาพเขียน ท่าเต้น และท่าฟ้อนรำพื้นบ้าน นอกจากนี้ พบการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์กวนน้ำอำมฤต ในพระราชพิธีอินทราภิเษก ในสมัยอยุธยาตอนต้น และในบันทึกของมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ และบาทหลวงตาชาร์ด ปี พ.ศ. ๒๒๒๐ แสดงให้เห็นว่า โขนเป็นมหรสพการแสดงรับแขกราชทูตฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์ ทั้งนี้ โขนเป็นมหรสพสำคัญในสมัยอยุธยา คู่กับละครในเรื่องรามเกียรติ์และสิ้นสุดลงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
          ต่อมา มีการสืบทอดการแสดงโขน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) เริ่มมีการหัดแสดงโขน และละครผู้หญิงทั้งวังหลวงและวังหน้า สำหรับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หัดโขนและละคร (ชาย)ประจำคณะของตน สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงให้หัดละครใน และโขน ให้ประณีตงดงามยิ่งขึ้น เจ้านาย ขุนนาง หัดโขนละคร ประจำคณะของตน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงเคยมีคณะโขนของพระองค์เองเมื่อครั้งทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงให้เลิกละครหลวง ทำให้ตัวละครแบบแผนการแสดงละครในของหลวงแพร่หลายไปสู่ละคร เจ้านาย ขุนนาง โดยเมื่อครั้งสงครามสยาม อันนัม(เวียดนาม) เจ้าพระยาบดินทร์เดชาเป็นแม่ทัพ ได้นำละครผู้หญิงไปด้วย โดยมีละครเจ้าพระยาบดินทร์เดชา เป็นครูหัดละครให้ละครพระหริรักษ์รามา กษัตริย์กัมพูชา สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงให้หัดละครใน ขึ้นมาใหม่ และพระราชทานให้ข้าราชการ ขุนนาง เจ้านาย หัดละครผู้หญิงได้ นอกจากนี้ สมเด็จนโรดมพรหมบริรักษ์ กรุงกัมพูชา ได้หัดละครแบบละครใน จึงแสวงหาครูละครไปจากกรุงเทพ เช่น ละครเจ้าจอม มารดาอัมพา ละครพระองค์เจ้าสิงหนาทดุรงคฤทธิ์ ละครเจ้าจอมมารดาเอม และละครพระองค์เจ้าดวงประภา และเจ้าพระยาคฑาธรรมธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบอง (สยาม) หัดละครผู้หญิง และโขน ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เกิดวิกฤตการณ์วังหน้า ทำให้ละครวังหน้าบางส่วนอพยพไปอยู่กัมพูชา ไปเป็นครูละครสมเด็จนโรดม เช่น ครูละครหญิงชื่อ ปริง นอกจากนี้ ทรงให้เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว หลาน กุญชร) เป็นผู้ดูแลกรมโขนหลวง ละครหลวงและมหรสพอื่น ๆ ทำให้การแสดงโขนมีพัฒนาการในรูปแบบใหม่ ๆ คือ มีการปรับการแสดงแบบใหม่ๆ มีฉาก แสงเสียง มีโรงละครแบบสมัยใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์นำเอาบทรามเกียรติ์มาปรับเป็นคอนเสิร์ต เช่น นางลอย นาคบาศ พรหมาศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงตั้งกรมมหรสพ ฝึกหัดโขนละครของหลวง และตั้งโรงเรียนพรานหลวง เพื่อรับเด็กเข้ามาศึกษาวิชาโขน ละคร ดนตรีไทย และดนตรีสากล สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงตั้งกองมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง ให้รวบรวมครูโขนตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ และ ๖ และเปิดรับนักเรียนมาหัดโขน ละครหลวงสำหรับใช้ในราชการ อาทิ เล่นโขนชักรอกตอนพรหมาศ ที่โรงละครสวนมิกสักวัน เพื่อต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินเดีย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาตร์ หรือวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) โอนย้ายนักแสดงโขน ละคร ข้าราชการกองมหรสพ กระทรวงวัง มาสังกัดกรมศิลปากร และในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ กรมศิลปากรเปิดรับนักเรียนมาเรียนโขน และแสดงโขนโรงใหญ่ในพระบรมหาราชวัง เพื่อต้อนรับ ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเตน แม่ทัพกองทัพสัมพันธมิตรอังกฤษ
          ความสำคัญของการแสดงโขนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ทรงให้ความสำคัญกับศิลปะแขนงนี้ โดยเสด็จทอดพระเนตรงานไหว้ครูโขนละครโรงเรียนนาฏศิลป ทรงให้ถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ท่ารำโขน ละคร และพระราชทานครอบต่อท่ารำเพลงองค์พระพิราพ นอกจากนี้ ทรงให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร ทรงเรียนโขนตัวลิงกับครูกรี วรศรินทร์ และเรียนท่ายักษ์กับครูจตุพร รัตนวราหะ อีกทั้งมีหลักสูตรการเรียนการสอนโขนเพิ่มขึ้น ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งมีหลักสูตรและกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนโขน ในโรงเรียน อนุบาล ประถม มัธยม ทำให้การฝึกเรียนโขนได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญมีการแสดงโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยปรับปรุงการแสดงให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
          นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม : กล่าวถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
          อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมในส่วนที่จับต้องมองเห็นได้ อาทิ โบราณสถาน อาคารสถานที่ เป็นต้น ประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกจึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งได้แก่ ประเพณี พิธีกรรม ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ฯลฯ ที่มีความผูกพันอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคนควบคู่ไปด้วย จึงทำให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขึ้น โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙ โดยการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในหลายด้าน กล่าวคือ จะส่งผลให้มีกระบวนการดำเนินงานสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งการจัดทำรายการทะเบียน การบันทึกข้อมูล การส่งเสริม การเผยแพร่และการถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
          การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกนั้น สามารถขึ้นได้หลายประเภท ประเภทแรกคือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ ประเภทที่ ๒ คือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหาย หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ และ ประเภทที่ ๓ คือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยการขึ้นทะเบียนเป็นเพียงมาตรการหนึ่ง หากมาตรการที่สำคัญที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ คือ การส่งเสริมให้มีการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งโขนไทยนั้น เป็นตัวอย่างอันดีของการอนุรักษ์สืบสานถึงปัจจุบัน สร้างความตระหนักอย่างกว้างขวาง และมีโรงเรียนเปิดสอนโขนหลายแห่ง 
           สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนโขนได้ เพราะยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก แต่ทราบจากผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศว่า เรื่องการสมัครเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกนั้น ขณะนี้ ภาคยานุวัตรสารอยู่ที่ปารีสแล้ว โดยท่านเอกอัครทูตไทยประจำกรุงปารีส กำลังรอเข้าพบผอ.ยูเนสโก คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน การสมัครเป็นภาคีสมาชิกจะเรียบร้อย อย่างไรก็ดี ในขณะที่รอสมัครภาคีสมาชิกนั้น ทางเราก็เตรียมเรื่องเสนอขึ้นทะเบียนโขนไปด้วย เพราะฉะนั้น ถือว่าไม่ล่าช้า
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)