โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นที่นิยมและชื่นชอบของคนภาคใต้ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างความสนุกสนานมีชีวิตชีวาให้กับสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะเดียวกันโนราก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ที่เลียนแบบไม่ได้ และยังคงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้อย่างเหนียวแน่น สำหรับความแตกต่างระหว่างโนราโรงครูและโนราเพื่อความบันเทิงนั้น มีความแตกต่างกันดังนี้
โนราโรงครู เป็นการแสดงโนราประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในวิถีของคนภาคใต้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อแก้บนหรือแก้เหมฺรยและเพื่อทำพิธีครอบครูโนราและรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญในวงการโนราเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพิธีกรรมเพื่อเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธีเพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา เพื่อรับของแก้บนและเพื่อครอบเทริดหรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ มี ๒ ชนิด คือ โนราโรงครูใหญ่ หมายถึง การรำโนราโรงครูอย่างเต็ม รูปแบบ ซึ่งจะต้องกระทำต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืน จึงจะจบพิธี โดยจะเริ่มในวันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องกระทำ เป็นประจำทุกปี หรือทุกสามปี หรือทุกห้าปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่การถือปฏิบัติของโนราแต่ละสาย ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการกันนานและใช้ทุนทรัพย์สูง จึงเป็นการยากที่จะทำได้ สำหรับโนราโรงครูเล็ก ใช้เวลา ๑ วันกับ ๑ คืน โดยปกตินิยมเริ่มในตอนเย็นวันพุธ แล้วไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี การรำโรงครูเล็ก เรียกอีกอย่าง คือ " การค้ำครู "
ปัจจุบัน โนราโรงครูยังคงมีการสืบสานอย่างเคร่งครัดในหลายจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มคณะมโนรายังประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู รักษาจารีตขนบธรรมเนียมการแสดงและพิธีกรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโนราเพื่อความบันเทิง เป็นการแสดงเพื่อให้ความบันเทิงโดยตรง มีลักษณะสำคัญดังนี้
๑. การรำ โนราแต่ละตัวต้องรำอวดความชำนาญ และความสามารถเฉพาะตน โดยการรำผสมท่าต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องกลมกลืน แต่ละท่ามีความถูกต้อง ตามแบบฉบับ มีความคล่องแคล่วชำนาญที่จะเปลี่ยนลีลา ให้เข้ากับจังหวะดนตรี และต้องรำให้สวยงามอ่อนช้อย หรือกระฉับกระเฉงเหมาะแก่กรณี บางคนอาจอวดความ สามารถในเชิงรำเฉพาะด้าน เช่น การเล่นแขน การทำให้ ตัวอ่อน การรำท่าพลิกแพลง เป็นต้น
๒. การร้อง โนราแต่ละตัวจะต้องอวดลีลาการร้อง ขับบทกลอนในลักษณะต่างๆ เช่น เสียงไพเราะดังชัดเจน จังหวะการร้องขับถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอน รวดเร็ว ได้เนื้อหาดี สัมผัสดี มีความสามารถในการร้อง โต้ตอบ แก้คำอย่างฉับพลันและคมคาย เป็นต้น
๓. การทำบท เป็นการอวดความสามารถในการ ตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องและท่ารำ สัมพันธ์กัน ต้องตีท่าให้พิสดารหลากหลายและครบถ้วน ตามคำร้องทุกถ้อยคำ ต้องขับบทร้องและตีท่ารำให้ประสม กลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรีอย่างเหมาะเหม็ง การทำบทจึงเป็นศิลปะสุดยอดของโนรา
๔. การรำเฉพาะอย่าง นอกจากโนราแต่ละคน จะต้องมีความสามารถในการรำ การร้อง และการทำบท ดังกล่าวแล้ว ยังต้องฝึกการรำเฉพาะอย่างให้เกิดความ ชำนาญเป็นพิเศษด้วย ซึ่งการรำเฉพาะอย่างนี้ อาจใช้แสดง เฉพาะโอกาส เช่น รำในพิธีไหว้ครู ในพิธีแต่งพอกผูกผ้าใหญ่ บางอย่างใช้รำเฉพาะเมื่อมีการประชันโรง บางอย่างใช้ ในโอกาสรำลงครูหรือโรงครู หรือในการรำแก้บน เป็นต้น ตัวอย่างการรำเฉพาะอย่าง เช่น รำบทครูสอน รำเพลงทับ เพลงโทน รำเพลงปี่ รำขอเทริด รำคล้องหงส์
๕. การเล่นเป็นเรื่อง โดยปกติโนราไม่เน้นการเล่น เป็นเรื่อง แต่ถ้ามีเวลาแสดงมากพอ อาจมีการเล่นเป็นเรื่อง ให้ดูเพื่อความสนุกสนาน โดยเลือกเรื่องที่รู้ดีกันแล้วบางตอน มาแสดง ไม่เน้นการแต่งตัวตามเรื่องแต่จะเน้นการตลก และการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่อง
ปัจจุบันการแสดงโนรายังคงมีการแสดงให้เห็นทั้ง ๒ รูปแบบ ทั้งเพื่อความบันเทิงและการรำในพิธีกรรม เพื่อสร้างความสุข และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อต่างๆของชาวภาคใต้ไว้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้โนรายังทำหน้าที่เป็น "สื่อ” เผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและเข้าถึงชาวบ้านได้ง่าย โนราจึงเป็นศิลปะการแสดงของชาวภาคใต้ที่ยังคงครองความนิยมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันได้ดีตามสมควร อาทิ โนรา คณะครื้นน้อย ดาวรุ่ง จังหวัดตรัง และคณะโนราน้อม โบราณศิลป์ จังหวัดพัทลุง คณะละไม ศรีรักษา จังหวัดสงขลา เป็นต้น
...............................................
ที่มา หนังสือ โนราศิลปะการร้อง รำที่ผูกผันกับชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, วิกิพีเดีย , http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/158-----m-s