
การทอผ้าของชาวอีสานในอดีตนั้น ส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้เพื่อใช้ในงานบุญประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ เช่น หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าผะเหวด ซึ่งลวดลายของผ้าทอจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะท้องถิ่น สะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาของชาวอีสาน ที่บรรพบุรุษได้คิดค้นขึ้นจากการช่างสังเกตธรรมชาติต่างๆที่อยู่รอบตัว ได้แก่ สัตว์ พรรณไม้ สิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าในแบบต่างๆขึ้น ดังนี้
๑.ลายสัตว์ เกิดจากการสังเกตรูปร่างและอริยาบถของสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ลายช้าง ลายนกยูงลำแพน ลายพญานาค ที่ชาวอีสานเชื่อว่าเป็นสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงนับถือพญานาคเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน เช่นชาวจังหวัดหนองคายที่มีความผูกพันกับพญานาคได้ร่วมกันอนุรักษ์ลายนาคที่เป็นลายโบราณไว้มากมายหลายแบบ อาทิ หลายนาคน้อย นาคคู่ นาคหงาย นาคเก้าเศียร บันไดนาค เป็นต้น
๒.ลายพรรณไม้ เกิดจากแรงบันดาลใจของธรรมชาติจาก เครือเถาวัลย์ ต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เช่น ลายดอกแก้ว ลายดอกพิกุล ลายดอกพุดซ้อน เป็นลายดอกไม้ไทยที่เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม รวมทั้งต้นไม้ ดอกไม้ประจำหวัดที่นำมาออกแบบเป็นลายเอกลักษณ์บนผ้าทอ เช่นลายดอกบัวของจังหวัดหนองบัวลำภู ลายยางนาของจังหวัดอุบลราชธานี ลายดอกคูณ ของจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
๓.ลายสิ่งของเครื่องใช้ ลายที่โดดเด่น เช่น ลายจี้เพชร เป็นลายที่ออกแบบมาจากเครื่องทรงของพ่อเมืองชลบถ (ปัจจุบันคือ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ) ลายขอ จากการสังเกตสิ่งที่ใช้เกาะเกี่ยวเครื่องประดับของสตรี โดยลายขอโบราณจะมีลักษณะคล้ายตัวอักษรภาษาอังกฤษ คือ S ส่วนลายกง ลายอัก เป็นอุปกรณ์กรอเส้นไหมใกล้ตัว ทำให้ผู้ทอเกิดความคิดสร้างสรรค์จนเกิดลวดลายนี้ขึ้น
๔.ลายจากความเชื่อ ความศรัทธา และจินตนาการ เช่น ลายหอปราสาท ลายธรรมาสน์ ซึ่งมีความเชื่อต่อๆกันมาว่าหากผู้ใดได้ทอผ้าลายนี้เพื่อถวายพระในงานบุญ จะได้บุญกุศลสูง และชาวบ้านก็จะไม่นิยมนำมานุ่งเพราะถือว่าเป็นของสูง นอกจากนี้ก็มีลายขันหมากเบ็ง ถอดแบบมาจากพานบายศรีสูขวัญที่ใช้ในงานผูกเสี่ยวของชาวจังหวัดขอนแก่น และลายบันไดสวรรค์มีความเชื่อกันว่าหากผู้ใดมีผ้าทอลายนี้ไว้จะได้ขึ้นสวรรค์ หากครอบครัวใดมีไว้ครอบครองก็จะยิ่งมีบุญวาสนายิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีต้นแบบและแรงบันดาลใจสำคัญของช่างทออีสาน คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเหล่าช่างทออีสานที่มีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ได้ร่วมกันถ่ายทอดปรัชญาคำสอนแนวพระราชดำริของพระองค์ ผ่านเรื่องเล่าบนผืนผ้าแสดงถึงความจงรักภักดีจนเกิดลวดลายอันประณีตงดงาม เช่น หลายฝนหลวงของกลุ่มทอผ้าขิดไหมบ้านโพธิ์ค้ำจังหวัดหนองบัวลำภู และลายหยาดพิรุณ โดยกลุ่มหัตกรรมคุ้มสุขโขจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฝนหลวงของพ่อหลวงเช่นกัน แต่ตีความและนำเสนอเป็นลวดลายบนผืนผ้าออกมาสวยงามแตกต่างกัน
ปัจจุบันเหล่าดีไซน์เนอร์ชื่อดังหลายคน หันมาให้ความสำคัญกับผ้าไทยและนำไปออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายที่ทันสมัย สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือโอกาสพิเศษต่างๆ จนทำให้ผ้าไทยได้รับความนิยมในท้องตลาดเกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชนที่มีอาชีพทอผ้า สร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างอาชีพและส่งเสริมให้คนในชุมชนไม่ละทิ้งถิ่นฐาน อีกทั้งยังได้สืบสานรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้ดำรงอยู่กับลูกหลานสืบไป
...........................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือเบิ่งซิ่น กินแซ่บ ธนาคารกรุงเทพ