กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ที่มาของประเพณีการฝังลูกนิมิตในสมัยพุทธกาล

วันที่ 10 พ.ย. 2563
 

     นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย อันได้แก่ เครื่องหมายบอกเขตวิสุงคามสีมา ตามพระวินัยกำหนดไว้ ๘ อย่าง คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำนิ่ง ส่วน ลูกนิมิต หมายถึง ลูกกลม ๆ ที่สกัดจากก้อนหินอัคนี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ ฟุต หรือ ๑ ซอก ที่ใช้ฝังใต้ซุ้มเสมาลงไปใต้ดินอีกประมาณ ๑ เมตรเศษ เพื่อกำหนดขอบเขตพัทธสีมา สำหรับพระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม (การประชุมร่วมกัน) เช่น การอุปสมบท การลงอุโบสถของพระภิกษุ เป็นต้น
 
     เรื่องเล่าสืบต่อกันมาในสมัยพุทธกาลถึงการฝังลูกนิมิตว่า หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา ภายหลังได้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสาวกมากขึ้น พระองค์จึงได้ส่งพระภิกษุเหล่านี้ออกไปเผยแผ่พระศาสนาตามที่ต่างๆ ซึ่งการที่พระภิกษุออกไปอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์นั้น ก็เท่ากับห่างจากการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ อีกทั้ง พระสงฆ์ที่บวชแล้วก็มิใช่ว่าจะบรรลุพระอรหันต์กันทุกองค์ ดังนั้นอาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของพระพุทธองค์ ที่ต้องการให้มีการทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่เสมอ รวมทั้งให้สงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาหรือทำกิจบางประการร่วมกัน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้กำหนดให้ พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม ในบางเรื่อง เช่น การสวดปาติโมกข์ การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรมในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยว เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นกิจของสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากในสมัยแรกๆพระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน แม้ว่าต่อมาจะมีผู้ถวายพื้นที่เป็นวัดให้พระอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ เช่น วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่างๆจึงทรงให้ หมายเอาวัตถุบางอย่างเป็นเครื่องกำหนดเขตแดน ขึ้น เรียกว่า การผูกสีมา (คำว่า " สีมา ” แปลว่า " เขตแดน ” ) ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้ ๘ ประการ ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และ น้ำนิ่ง และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า " นิมิต ” แต่นิมิตเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมหรือพูดง่ายๆว่า การกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ทำได้ยากและมักคลาดเคลื่อน ต่อมาจึงการพัฒนากำหนดนิมิตใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ เช่น บ่อ คู สระ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมาก เพราะทนทานและเคลื่อนย้ายได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆเป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน เรียกว่า " ลูกนิมิต ” ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันตามวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า " โบสถ์ ” ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุเช่นในปัจจุบัน และเมื่อมี " ลูกนิมิต ” เป็นเครื่องหมายบอกเขตแล้วต่อมาก็มีการจัดพิธีที่เรียกว่าการ " ฝังลูกนิมิต ” ขึ้น และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
 
     โดยการฝังลูกนิมิตนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน คือต้องเป็นที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเขตให้แก่พระภิกษุหรือให้เป็นสิทธิของคณะสงฆ์แยกจากของอาณาจักร เขตของสงฆ์เรียกว่า "วิสุงคามสีมา” หลังจากได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว ก่อนจะฝังลูกนิมิตจะต้องมีการสวดถอนพื้นที่ก่อนเพื่อให้พื้นที่นั้นบริสุทธิ์ เพราะหากปรากฏภายหลังว่าพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นเขตวัดใดวัดหนึ่ง การประกาศเขตครั้งนั้นก็จะถือเป็นโมฆะ การสวดถอนพื้นที่นี้อาจทำล่วงหน้าหลายๆ วันหรือกระทำในวันผูกพัทธสีมาก็ได้ โดยการฝังลูกนิมิตเริ่มด้วยการขุดหลุมตรงกลางอุโบสถหน้าพระประธานเป็นหลุมกว้างหลุมหนึ่ง บริเวณปากหลุมจะมีลูกนิมิตใส่สาแหรกทำด้วยหวายห้อยไว้ สาแหรกที่ใส่ลูกนิมิตจะผูกไว้ปากหลุมหรือวางไว้ข้างๆหลุม ลูกนิมิตนี้เรียกว่า "ลูกนิมิตเอก”หรือลูกนิมิตภูมิ ส่วนรอบอุโบสถก็ขุดอีก ๘ หลุม ๘ ทิศ และมีลูกนิมิตขนาดเล็กกว่าลูกนิมิตเอกใส่สาแหรกห้อยอยู่ตรงกลางปากหลุมหรือวางไว้ข้างหลุมเช่นกัน และเมื่อวางลูกนิมิตทั้ง ๘ ทิศ แล้ว พระสงฆ์ ๔ รูปก็จะ "สวดทัก” คือ พระสงฆ์จะพากันไปตรวจเครื่องหมายกำหนดเขต เริ่มจากทิศบูรพาเป็นต้นไปตามลำดับ การทัก พระภิกษุ รูปหนึ่งจะถามขึ้นว่า "ปุรต.ถิมาย กินิต.ต.” แปลว่า "ทิศบูรพามีอะไรเป็นเครื่องหมาย” ผู้ตอบจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ได้ ตอบว่า "ปาสาโณ ภน.เต” แปลว่า "มีหินเป็นเครื่องหมายพระเจ้าข้า”
 
     การฝังลูกนิมิตนิยมฝังตอนเที่ยงคืน เช้าตรู่หรือตอนบ่าย โดยบางวัดอาจจะกราบบังคมทูลองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์หรือสมเด็จพระสังฆราชฯมาเป็นองค์ประธาน ในพิธี เพื่อทรงตัดลูกนิมิตด้วยก่อนทำพิธี พระสงฆ์ทั้งหมดจะทำพิธีสวดในพระอุโบสถพอได้ฤกษ์ก็จะตัดหรือผลักลูกนิมิตลงหลุม ส่วนพุทธศาสนิกชนที่ไปร่วมพิธีจะเตรียมสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ทองคำเปลว เข็ม สมุดดินสอไปยังอุโบสถ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เขียนคำอธิษฐานลงในสมุดตามที่ตนเองปรารถนาแล้วใส่สิ่งของต่างที่เตรียมมาลงในหลุมปิดทองลูกนิมิตทุกลูกรอบอุโบสถ ต่อจากนั้นจะเป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์จะทำการสวดผลักลูกนิมิตลงหลุมและกลบลูกนิมิตต่อไป จากนั้นทางวัดจะมีการจัดงานสมโภชในการฝังลูกนิมิต ซึ่งแต่ละวัดอาจจะจัดงาน ๗ วัน ๗ คืน หรือ ๑๕ วัน ๑๕ คืน ตามแต่ละวัดกำหนด โดยจะมีการจัดแสดงมหรสพและการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจแก่ผู้มาร่วมงานนอกเหนือจากพิธีทางศาสนา
 
     การได้ร่วมทำบุญในพิธีฝังลูกนิมิตมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าจะได้กุศลมาก ดังนั้น ปู่ ย่า ตา ยาย ถึงได้สอนลูกหลานว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิตให้ได้ เพราะเป็นการสร้างมหากุศลครั้งใหญ่ในชีวิต เนื่องจากวัดๆหนึ่งมีโบสถ์ได้แห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้นการทำบุญฝังลูกนิมิตจึงเท่ากับเป็นการสร้างโบสถ์และอำนวยความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่างให้กับพระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ซึ่งผู้ทำบุญจะได้บุญกับการทำพระนิพพานให้แจ้งของคณะพระภิกษุสงฆ์ไปด้วย
 
........................................
 
ที่มา : หนังสือ ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ โดย รองศาสตราจารย์สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์,วิกิพีเดีย, www.m-culture.go.th ภาพ โดย mankpp จาก pantip.com/topic/36403557/desktop
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)