
เรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล กล่าวถึงครอบครัวเศรษฐีแห่งเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ชื่อว่าธนญชัยเศรษฐีและนางสุมนา ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาอยู่เมืองสาเกตุ ซึ่อยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองสาวัตถี ท่านเศรษฐีมีธิดารูปงามคนหนึ่งชื่อว่านางวิสาขา ต่อมานางได้ทำการสมรสกับปุณณวัตนมาณพ บุตรชายของมิคารเศรษฐี ก่อนส่งตัวนางวิสาขาไปยังบ้านเจ้าบ่าว ท่านธนญชัยเศรษฐีได้ให้โอวาทเกี่ยวกับการครองเรือนไว้ ๑๐ ประการ ดังนี้
๑.ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่ควรนำความลับหรือเรื่องไม่ดีงามภายในครอบครัวไปบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้
๒.ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่ควรนำนินทาว่าร้ายเสียดสีด้วยความอิจฉาริษยาจากบุคคลภายนอกมาสู่ครอบครัว อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องไม่ดีงามและความบาดหมาง
๓.พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึง เมื่อมีผู้มาหยิบยื่นข้าวของเงินทอง ควรให้แก่คนที่นำมาคืนเท่านั้น
๔.พึงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ที่เคยหยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปหากยังกล้ามาหยิบยืมอีก ไม่ควรให้
๕.พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายถึง การสงเคราะห์ญาติ แม้เขาจะนำมาคืนหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควรก็ควรให้
๖.พึงนั่งให้เป็นสุข หมายถึง การนั่งในที่อันเหมาะควร ไม่เกะกะขวางทาง ไม่ต้องคอยลุกหลีกเมื่อพ่อผัวแม่ผัวเดินผ่านและจัดการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
๗.พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึง ควรนอนทีหลังพ่อผัวแม่ผัวและสามีได้เข้านอนแล้ว คือต้องตรวจตราดู ข้าวของ กลอนประตูหน้าต่างและฟืนไฟให้เป็นที่เรียบร้อย
๘.พึงกินให้เป็นสุข หมายถึง ควรจัดข้าวปลาอาหารสำหรับพ่อผัวแม่ผัว สามีและบุตรให้เป็นที่เรียบร้อย
๙.พึงบูชาไฟ หมายถึง การให้ความยำเกรงสามี และบิดามารดาของสามี ๑๐.พึงบูชาเทวดา หมายถึง ให้นับถือบิดามารดาสามี
...........................................
ที่มา : หนังสือประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย โดย ธนากิต