เรื่อง : ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง
ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์
หมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งบ้านอรัญญิก
"มีดอรัญญิก” แห่งหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด ชุมชนอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นมีดที่มีความคมเป็นเลิศ แข็งแกร่ง ทนทานในการใช้งานนานนับหลายสิบปี อีกทั้งการตีมีดขึ้นรูปทรง และลวดลายของมีดบางชนิดมีความวิจิตรสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศนับจากอดีตตราบทุกวันนี้
๑
รอยอดีตแห่งหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีดอรัญญิก
ในอดีตหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีดแห่งนี้มาจากชาวเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนอง ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ และ ๗ ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพช่างทองและช่างตีเหล็ก
ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๕ อาชีพช่างทองได้เลือนหายไป คงเหลือเเต่เพียงช่างตีเหล็กที่ชาวบ้านยึดอาชีพตีมีดเป็นหลัก ทั้งสองหมู่บ้านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว เพราะเป็นเเหล่งผลิตมีดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ยังคงสืบสานอาชีพตีมีดมานานเกือบสองร้อยปี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เเผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ขอให้ชาวเวียงจันทน์กลับประเทศ เเต่ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้กลับขออยู่ใต้ร่มโพธิสมภารแทน เพราะพระองค์สร้างความผาสุกให้แก่พสกนิกรตลอดมา ทำให้ชาวเวียงจันทน์สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพ เจริญรุ่งเรือง มีฐานะมั่นคง และสร้างชื่อเสียงการตีมีดให้เลื่องลือไปทั่วสารทิศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าบ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนองเป็นหมู่บ้านตีมีด พระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ได้เสด็จทอดพระเนตรการตีมีดของชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ ทางการจึงได้ปลูกพลับพลาที่ประทับอย่างสมพระเกียรติ เเละได้เกณฑ์ชาวบ้านมาตีมีดให้พระองค์ทอดพระเนตร ทรงสนพระราชหฤทัยเเละทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก
จากดงไม้ไผ่สู่อาชีพตีมีดอันเลื่องชื่อ
จากการเดินทางมาตั้งถิ่นฐานของชาวเวียงจันทน์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ นับว่าเหมาะแก่การประกอบอาชีพตีมีดยิ่งนัก เนื่องจากเดิมภูมิประเทศแถบนี้เป็นดงไม้ไผ่ขึ้นอยู่หนาเเน่น ไม้ไผ่จึงเป็นวัสดุที่สำคัญในการดำรงชีพของชาวบ้าน เพราะไม้ไผ่มีประโยชน์นานัปการ เช่น นำมาเผาถ่าน ใช้เผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น ส่วนลำต้นใช้ทำบ้านเรือน ทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อนเเละด้ามมีด ซึ่งช่างตีเหล็กต้องใช้อยู่เป็นประจำ ด้วยภูมิประเทศเเห่งนี้มีแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำนี่เอง ชาวบ้านจึงพร้อมใจตั้งชื่อที่นี่ว่า บ้านไผ่หนอง และยึดอาชีพการตีมีดนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนบ้านต้นโพธิ์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงบ้านไผ่หนอง มีคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กลางหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า "บ้านต้นโพธิ์” เวลาต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น สภาพหมู่บ้านได้เปลี่ยนเเปลงไป ดงไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นถูกตัดถางโล่งเตียนกลายเป็นท้องไร่ท้องนา หนองน้ำตื้นเขินขึ้น
ที่มาของมีดอรัญญิก
ความเป็นมาของมีดอรัญญิกสืบเนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณบ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองประมาณ ๓ กิโลเมตร บ้านอรัญญิกนับเป็นเมืองท่าสำคัญของหมู่บ้านในละแวกนี้ เพราะมีตลาด ร้านค้า โรงบ่อน มีผู้คนนำสินค้ามาซื้อขายเเลกเปลี่ยนมากมาย รวมทั้งชาวบ้านทั้ง ๒ หมู่บ้าน ได้นำมีดไปเร่ขาย เมื่อมีคนซื้อไปใช้แล้วเห็นว่ามีดคุณภาพดีจึงบอกต่อ ทำให้ "มีดอรัญญิก” มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านความคมกริบ แข็งแรง ทนทานใช้ได้นานหลายสิบปี ผู้คนจึงเรียกติดปากว่า "มีดอรัญญิก” ตราบทุกวันนี้
๒
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จเยี่ยมราษฎรในชุมชนอรัญญิก
นายพยงค์ ทรัพย์มีชัย วัย ๖๗ ปี หรือ ครูพยงค์ ช่างตีเคียว แห่งหมู่บ้านต้นโพธิ์ ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ทำเคียวเกี่ยวข้าวทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงใช้เกี่ยวข้าวในแปลงนาประวัติศาสตร์ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ครูพยงค์ได้ใช้เวลา ๒ สัปดาห์ บรรจงเลือกสแตนเลสอย่างดี มีความแข็งแกร่ง ขึ้นรูปเป็นวงเคียวคอนกกระสา ลับคมเคียวด้วยความประณีต พร้อมแกะสลักลวดลายไทยประดับอักษร ทรงพระเจริญ ด้ามฝังมุข ถือเป็นสิ่งที่ปลาบปลื้มใจหาที่สุดมิได้ของครูช่างตีเคียวผู้นี้ เมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงจับเคียวเกี่ยวข้าวบนแปลงนา

แต่เหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืมของครูพยงค์ คือ พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงขับรถยนต์ไปเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านตีมีดอรัญญิก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๙ วันนั้นไม่มีใครทราบว่าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไป ชาวบ้านแค่ได้ยินข่าวว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาที่หมู่บ้านนี้ ต่างพากันไปรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จแน่นสองฝั่งถนน ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ได้ทอดพระเนตรการตีมีด พร้อมรับสั่งว่า ให้รักษาการตีมีดไว้ให้ดี อย่าให้สูญหายไปจากหมู่บ้าน
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มาทอดพระเนตรการตีมีดเเละเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ทรงนำครอบครัวมาทัศนศึกษาการตีมีดที่ชุมชนเเห่งนี้เช่นกัน
ศูนย์เรียนรู้การตีมีดโบราณ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนอรัญญิก
ทุกวันนี้หมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด ชุมชนอรัญญิกกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านค้าขายต้นแบบที่ยังคงรักษาวิถีการตีมีดโบราณไว้ แม้ต้นกำเนิดการตีมีดจะอยู่ที่หมู่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ก็ตาม แต่เส้นทางสายวัฒนธรรมแห่งนี้ยังคงเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชนในแถบนี้เข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น และเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจมาเยี่ยมเยือนให้มาเรียนรู้ขั้นตอนการตีมีดโบราณ และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับการตีมีดอรัญญิกแบบดั้งเดิมเปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการตีมีดในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแบ่งมีดอรัญญิกเป็น ๔ ตระกูล ได้แก่ มีดเกษตรกรรม มีดคหกรรม มีดศาสตราวุธ และมีดสวยงาม
ขั้นตอนการตีมีดอรัญญิกแบบดั้งเดิมต้องอาศัยคนงานหลายคน เช่น คนตีพะเนิน ซึ่งมีความรู้ว่ามีดรูปไหนควรตีตรงไหน และต้องคอยฟังสัญญาณการให้เสียงของคนจับเหล็ก ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครูเตา” เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญด้านการตีมีดเป็นอย่างดี
อีกทั้งตลอดเส้นทางชมหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด ชุมชนอรัญญิก ยังมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มีดประเภทต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สแตนเลสบนโต๊ะอาหารคุณภาพดีมากมาย เปิดบริการนักท่องเที่ยวให้เลือกซื้อหาในราคาไม่แพงอีกด้วย
ชมพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมมีดอรัญญิก
นอกจากหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีดแห่งนี้จะเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนตีมีดแบบโบราณ และพักค้างในรูปแบบโฮมสเตย์ภายในชุมชนแล้ว ที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมเปิดให้เข้าชมประวัติความเป็นมาของชุมชนตีมีดอรัญญิก โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งขึ้นจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีแนวคิดร่วมกันในอนุรักษ์คุณค่าทางภูมิปัญญาการตีมีดอรัญญิกไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเป็นจุดศูนย์กลางชุมชนในการรวบรวมองค์ความรู้การตีมีดอรัญญิก อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนให้คงอยู่สืบไป
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเป็น ๓ ส่วน เริ่มจากส่วนที่ ๑ นำเสนอประวัติความเป็นมาของชุมชนตีมีดอรัญญิก และภาพประวัติศาสตร์ "เคียวเกี่ยวข้าว จากฟ้าปกดิน” อันเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเกี่ยวข้าวในแปลงนาประวัติศาสตร์ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙ พร้อมภาพถ่ายของครูพยงค์ ผู้ทำเคียวเกี่ยวข้าวถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ และเรื่องราวความปลาบปลื้มใจหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ตนรักษาการตีมีดอรัญญิกอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนี้ไว้มิให้สูญหายไป รวมทั้งได้จัดแสดงเคียวเกี่ยวข้าวรูปทรงต่าง ๆ ต่อมาเป็นนิทรรศการวิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านต้นโพธิ์และหมู่บ้านไผ่หนอง ริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมจัดแสดงเครื่องใช้ไม่สอยในชีวิตประจำวัน
ส่วนที่ ๒ กว่าจะมาเป็นมีดอรัญญิก จัดแสดงภาพถ่ายขั้นตอนการตีมีดแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งจัดแสดงเครื่องมือโบราณต่าง ๆ ในการตีเหล็ก ขึ้นรูปทรงมีดแต่ละประเภทของชาวเวียงจันทน์เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา จากนั้นเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรการตีมีดที่ชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งนิทรรศการพิธีไหว้ครูบูชาเตา
ส่วนที่ ๓ มีดอรัญญิกในยุคปัจจุบัน โดยจัดแสดงตัวอย่างมีด ๔ ประเภท ได้แก่ มีดทำครัว มีดเกษตร มีดเดินป่า และมีดสวยงาม ผลิตภัณฑ์ชุดสแตนเลสบนโต๊ะอาหารสวยงามประณีต รวมทั้งนิทรรศการเชิดชูเกียรติ "ครูเตา” ของชุมชนตีมีดอรัญญิกจากอดีตถึงปัจจุบัน
๓
ประเพณีไหว้ครูบูชาเตาของชาวตีมีดอรัญญิก
ทุกวันนี้หมู่บ้านหัตถกรรมตีมีดชุมชนอรัญญิกยังคงอนุรักษ์ประเพณีเเละสืบสานวัฒนธรรมที่สำคัญมาตั้งเเต่สมัยบรรพบุรุษ คือ พิธีไหว้ครูบูชาเตา อันเป็นพิธีของช่างตีมีดที่อยู่ในชุมชนอรัญญิก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีแรกนับถัดจากเทศกาลสงกรานต์
ก่อนถึงวันพิธีไหว้ครูบูชาเตาหนึ่งหรือสองวัน ชาวบ้านตีมีดจะซ่อมเเซมและทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ก่อนนำมาวางไว้ในที่จัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ส่วนเตาเผาเหล็กจะต้องปั้นขึ้นใหม่ เเละจัดเตรียมเครื่องบูชาพระพุทธ รวมถึงเครื่องเซ่นไหว้ครูอย่างครบครัน เมื่อรุ่งอรุณของวันพฤหัสบดีมาถึง ช่างตีมีดจะนำเครื่องบูชาเเละอาหารคาวหวานมาบูชาพระภูมิและเเม่ธรณี
ส่วนเครื่องสังเวยต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้จะนำมาวางที่เครื่องมือ เเล้วจัดทำพิธีสวดอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งเป็นการปัดเป่าอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการตีมีดอีกด้วย ในวันไหว้ครูบูชาเตาของทุกบ้านจะเปิดบ้านต้อนรับทุกคนที่มาเยือนตลอดวัน
การได้มาเยือนและเรียนรู้วิถีการตีมีดโบราณในชุมชนอรัญญิก นับเป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอันมีค่ายิ่งมีให้สูญหายไป ดังเช่น หมู่บ้านหัตถกรรมตีมีดที่ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต สามารถสัมผัสได้จริงแม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่า ๒๐๐ ปีแล้วก็ตาม
กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมหมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด ชุมชนอรัญญิก
นักท่องเที่ยวและผู้สนใจต้องการมาเรียนรู้ขั้นตอนตีมีดโบราณ และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนอรัญญิก สามารถติดต่อได้ที่ เทศบาลตำบลอรัญญิก โทร. ๐-๓๕๒๔-๒๓๕๘ ครูพยงค์ ทรัพย์มีชัย โทร. ๐๘-๙๘๐๒-๕๕๔๙ กำนันสืบพงษ์ ศรพรหม โทร. ๐๘-๑๗๓๕-๑๘๘๕
หมู่บ้านหัตถกรรมมีชีวิต ชุมชนตีมีดอรัญญิก
สถานที่ตั้ง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทาง ปัจจุบันการเดินทางสะดวกมาก มีรถยนต์วิ่งถึงหมู่บ้าน โดยเดินทางเข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังท่ารถประจำทางจอดอยู่ที่ตลาดเจ้าพรหม มองหาป้ายติดหน้ารถว่า " อยุธยาถึงท่าเรือ” รถจะออกจากตัวเมืองไปทางถนนสายเอเชีย (ทางหลวงเเผ่นดินหมายเลข ๓๒) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเอเชียไปทางจังหวัดนครสวรรค์ เลยโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชฯ ไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายลอดใต้สะพานที่จะข้ามเเม่น้ำป่าสัก เข้าถนนสายอำเภอนครหลวง ตลอดทางมีป้ายบอกที่ตั้งชุมชนฯ ทั้งสองเป็นระยะ หรือถ้าต้องการเดินทางโดยทางน้ำ ต้องลงเรือในตัวจังหวัดที่หน้าวังจันทรเกษม ย้อนขึ้นไปตามเเม่น้ำป่าสัก ผ่านโรงงานวัตถุระเบิดช่างเเสง (ของกรมสรรพาวุธทหารบก) เเละอำเภอนครหลวงตามลำดับ การเดินทางใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง