กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
รถอีแต๋น แรงบันดาลใจจากท้องทุ่งกสิกรรม

วันที่ 3 มี.ค. 2563
 
เรื่อง : ทรงยศ กมลทวิกุล
ภาพ : กองบรรณาธิการ 

รถอีแต๋น
แรงบันดาลใจจากท้องทุ่งกสิกรรม
 
 
 
     ทุ่งกสิกรรมมิได้ก่อเกิดเพียงแค่ผลผลิตที่นอกจากจะหล่อเลี้ยงชีวิตคนเมืองเท่านั้น ยังหล่อเลี้ยงเกษตรกรผู้ลงมือไถหว่านเพาะปลูกด้วย อีกทั้งทุ่งกสิกรรมยังเป็นแรงบันดาลใจก่อเกิดงานหัตถศิลป์ที่สวยงามด้วยฝีไม้ลายมือบนเครื่องทุ่นแรงการเกษตร อย่างเช่น เกวียน จนถึงอีแต๊กและอีแต๋นที่เข้ามาทำหน้าที่แทนในผืนไร่ผืนนาทั่วถิ่นเมืองไทยทุกวันนี้
 
     "ควายเทียม” เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพ เพราะการมาถึงของเครื่องยนต์ขนาดเล็กนั้นถูกนำมาใช้แทนควาย ซึ่งเรียกกันติดปากว่า รถไถ บางที่ก็เรียกว่า อีโก่ง เริ่มต้นจากรถไถเดินตาม ก่อนพัฒนาไปสู่การประดิษฐ์อุปกรณ์เสริมให้เครื่องยนต์ขนาดเล็กมิเพียงแต่ลากจูงคันไถเท่านั้น ยังพ่วงลากขนส่งผลผลิต ใช้ต่างพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหนละแวกบ้านด้วย
 
     เครื่องยนต์ขนาดเล็กเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ช่างฝีมือที่รับสร้างตัวรองรับเครื่องยนต์ ซึ่งในยุคแรก ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นช่างไม้ที่ทำงานเกวียนมาก่อน เมื่อความต้องการเปลี่ยนแปลงไป จากเกวียนจึงเปลี่ยนมาเป็นส่วนพ่วงลากที่ติดล้อแบบรถยนต์สมัยใหม่เข้าไป แต่ตัวกระบะยังคงเป็นไม้เช่นเดิม และค่อย ๆ เพิ่มความสะดวกสบายขึ้น จากอีโก่ง อีตั๊กหรืออีแต๊ก มาสู่อีแต๋น ขนาดเล็กแบบไทย
 
     รถอีแต๋นเป็นรถบรรทุกเกษตรขนาดเล็กที่ประดิษฐ์โดยช่างฝีมือท้องถิ่นของไทย เพื่อรองรับตลาดในภาคเกษตร ที่สำคัญรถอีแต๋นมีความสามารถหลากหลาย มิเพียงแต่ขับเคลื่อนขนส่งพืชผลใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังใช้ในงานในท้องทุ่งทั้งปั่นไฟ สูบน้ำ เรียกได้ว่าเป็นคู่หูที่เกษตรกรไม่อาจขาดได้ อีกทั้งยังมีความทนทานเหมาะกับสภาพพื้นที่การใช้งาน
 
     เราออกเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อไปพบกับผู้สร้างสรรค์รถอีแต๋นรายหนึ่ง คือ ประทีป เขียวปั้น เมื่อล่วงเข้าสู่เขตนครสวรรค์ในช่วงเดือนแปดทุ่งนาสองข้างทางถนนเขียวชอุ่ม พอเข้าเขตอำเภอหนองบัวเราก็พบรถอีแต๋นวิ่งสวนไปหลายคัน กล่าวได้ว่าหนองบัวนับเป็นอำเภอหนึ่งที่มีประชากรรถอีแต๋นอยู่มาก
 
     ประทีป เขียวปั้น เจ้าของอู่ประทีปริมถนนสายรองไม่ห่างจากตัวอำเภอเมืองมากนัก เดินออกมาทักทายเมื่อเรามาถึง อู่ขนาดกลางแห่งนี้มองผ่าน ๆ ด้วยสายตาเห็นได้ว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือครบทุกอย่าง
     มองดูรถอีแต๋นคันหนึ่งที่กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนเก็บงานโป้วสีตัวถัง ช่างกำลังทำงานอย่างตั้งใจ ในโรงงานนี้มีช่างหลัก ๆ อยู่เพียงสี่คนเท่านั้น
 
     ประทีปเล่าให้ฟังว่า "เป็นงานที่ค่อย ๆ ทำ เพราะเราตั้งใจจะให้ออกมาดูดีสมบูรณ์ที่สุด ที่นี่ทุกอย่างเรียกได้ว่าเป็นงานมือเกือบทั้งหมด” ประทีปเล่าถึงความผูกพันกับรถอีแต๋นว่ามีมาตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว "ตั้งแต่จำความได้ผมก็เห็นรถอีแต๋นแล้ว”
 
     แม้ว่าจะไม่ได้เริ่มอาชีพแรกกับการสร้างรถอีแต๋น แต่งานช่างฟิตในโรงกลึงที่ทำสมัยเข้ามาหาประสบการณ์ในเมืองกรุง ก็เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการลงมือออกแบบสร้างรถอีแต๋นด้วยตัวเองในเวลาต่อมา
 
     เมื่อหวนกลับบ้านเกิด ประทีปก็เริ่มงานสร้าง "สมัยแรกที่ทำคันมันไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้นะ น้ำหนักบรรทุกตอนนั้นแค่ ๓ ตัน แต่ทุกวันนี้ ๔ ตัน” ในสมัยแรกเริ่มประทีปยังไม่ได้ทำเองทุกอย่าง มีงานบางส่วนที่ส่งไปให้ช่างคนอื่นทำ ต่อมาเมื่องานเริ่มมากขึ้นและได้รับความเชื่อถือในคุณภาพของงานผลิต จึงเปิดรับช่างเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันและค่อย ๆ ขยับขยายจนทุกวันนี้ทุกขั้นตอนการทำจบที่อู่ของตนเองได้หมด
 
 
     งานสร้างรถอีแต๋นของประทีปถือเป็นงานช่างที่ทำอย่างใส่ใจ งานประกอบแต่ละส่วนเป็นงานมือทั้งหมด "ที่นี่เป็นออริจินัลทั้งหมดนะ งานแบบนี้ใช้เวลามาก แบบที่ผมทำนี่ไม่ค่อยมีใครเขาทำ” ประทีปกล่าว เราดูชิ้นงานที่อยู่ตรงหน้า เป็นส่วนของฝากระโปรงที่มีทั้งงานเชื่อม งานขัด งานเคาะ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใช้เวลาในการทำงานนานมาก ตัวชิ้นงานแสดงให้เห็นถึงความละเอียดและความตั้งใจ งานดัดเหล็กด้วยมือให้ได้รูปทรงที่ต้องการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้สร้างสรรค์งานจะแสดงออกถึงความภาคภูมิใจเมื่อได้อธิบายและอวดโฉมชิ้นงาน "เป็นความชอบส่วนตัวของผมด้วย ผมชอบงานที่สร้างด้วยมือ” เฉกเช่นนี้แล้วงานสร้างเกวียนในอดีตกับปัจจุบันที่สร้างอีแต๋น แตกต่างด้วยวัสดุที่นำมาใช้ คือ ไม้และเหล็ก แตกต่างด้วยเครื่องมือและเทคนิคในการทำงานที่ยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่า ทว่าเมื่อช่างทั้งสองยุคลงมือทำงานสร้างสรรค์พาหนะเพื่อการเกษตร สิ่งที่ถูกถ่ายทอดลงสู่ชิ้นงานคือความตั้งใจความละเอียดลออในการทำงาน ราวกับว่านี่คืองานหัตถกรรมหัตถศิลป์ชิ้นหนึ่ง
 
     เราพยายามจินตนาการถึงการพัฒนาการต่อยอด แรกเริ่มเดิมทีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่นำเข้ามาสู่แวดวงเกษตร เริ่มจากเป็นรถไถเดินตามซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นทางของการพัฒนาไปสู่รถเพื่อการเกษตรรูปแบบอื่น ๆ เพื่อสะดวกต่อการใช้งานที่นอกเหนือไปจากการไถนา จนท้ายที่สุดกลายเป็นรถอีแต๋น หรือรถบรรทุกขนาดเล็กที่มีลักษณะเฉพาะตัวมีความเป็นท้องถิ่นด้วยชั้นเชิงช่างพื้นบ้านไทย
 
     โครงรถหรือแชสซีย์เป็นโครงเหล็ก ด้านหน้าบรรจุเครื่องยนต์และเป็นห้องโดยสาร ส่วนด้านหลังเป็นกระบะบรรทุก สร้างขึ้นด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างดี ด้านหน้าตัวรถหรือบริเวณหัวเก๋งและด้านข้างตกแต่งด้วยลวดลายแบบไทยประยุกต์ เราจึงเรียกรถอีแต๋นได้อย่างเต็มปากว่ารถบรรทุกไทยประดิษฐ์
 
     เราถามประทีปว่างานหลักในกระบวนการสร้างรถอีแต๋นมีอะไรบ้าง "รถอีแต๋นคันหนึ่งจะมีงานเชื่อมเหล็ก งานสี งานเพ้นต์ งานเครื่องยนต์ ไฟฟ้า แล้วก็งานไม้ หลัก ๆ ก็เป็นพวกนี้” ช่างที่ทำงานอยู่ในกระบวนการทั้งหมดมีความเชี่ยวชาญในงานเชิงช่างของตนเอง ประทีปเป็นคนดูภาพรวมและรับผิดชอบในส่วนของเครื่องยนต์กลไก งานไฟฟ้า ลูกชายของประทีปดูในส่วนของงานเชื่อม มีช่างสีคนหนึ่ง และช่างไม้อีกคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อลงมือทำงานแล้วทุกคนต่างทำงานของตนอย่างตั้งใจ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเสมือนศิลปินที่ตั้งใจจดจ่ออยู่กับงาน เพราะที่อู่ของประทีปจะว่าไปแล้วไม่ได้ดำเนินการเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมเต็มตัว ที่นี่เป็นเสมือนโรงฝีมือของช่างแขนงต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์งาน ประทีปบอกว่าตลอดทั้งปีกำลังการผลิตที่นี่ทำได้เพียงแค่สี่คันเท่านั้น
 
     งานสร้างรถอีแต๋นที่นี่ไม่ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นงานที่ทำด้วยความชำนาญและความใส่ใจ แต่ละคันที่เสร็จออกไปจึงมีเอกลักษณ์ประจำตัว "เวลางานมันผิดไปนิดหน่อยนี่ลูกค้าเขาอาจจะไม่รู้ แต่เราที่เป็นคนลงมือทำนี่เราจะรู้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำเด็ดขาด เราจะต้องทำมันออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด” ประทีปกล่าว
 
     สำหรับรถในรูปแบบหนองบัวของช่างประทีปนั้น เป็นแบบหัวเก๋งหน้ายาว ละม้ายกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในอดีต รถอีแต๋นคันหนึ่งในส่วนตัวโครงสร้างเมื่อเสร็จจากอู่ออกไปวิ่งใช้งานแล้วแทบไม่เคยต้องกลับมาซ่อมแซมเลย ที่ต้องทำส่วนมากเป็นเรื่องเครื่องยนต์ซึ่งเป็นไปตามอายุการใช้งาน แสดงให้เห็นถึงงานเชิงช่างที่มีคุณภาพของประทีป
 
     เราเดินสำรวจลึกเข้าไปด้านในของอู่ ซึ่งเป็นส่วนของงานไม้สำหรับกระบะบรรทุกหลังตัวรถ รับผิดชอบโดยช่างไม้เพียงหนึ่งคน หากจะหาความเชื่อมโยงของอดีตพาหนะจากเกวียนสู่รถอีแต๋น ช่างไม้ดูเหมือนจะเป็นความเชื่อมโยงที่จับต้องได้มากที่สุด
 
     เสียงกบไสไม้ไฟฟ้าดังกังวานอยู่ทั่วพื้นที่ ช่างไม้กำลังมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานเบื้องหน้า ไม้ที่ถูกไสอย่างประณีตจะติดตั้งอยู่ด้านหลังทั้งในส่วนของตัวพื้นและด้านข้าง ช่างบอกว่า "ใช้ไม้นี่ทนที่สุดแล้ว ทนแล้วก็ยังสวยงามด้วย” ไม้เนื้อแข็งถูกไสอย่างดี ตัดให้ได้ขนาด ผ่านกระบวนการลงน้ำยาเคลือบเนื้อไม้ ตากจนแห้ง จากนั้นจึงนำไปติดตั้งเป็นโครงกระบะท้าย เมื่อทำเสร็จใหม่ ๆ เนื้อไม้ที่ถูกเคลือบจะเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเงาสวยงาม ครั้นพอใช้งานไปนานวัน ลุยฝนลุยแดดสีจะค่อย ๆ ซีดจาง ก็จะสวยไปอีกแบบ ที่หนองบัวส่วนใหญ่จะมีลวดลายเฉพาะบริเวณหัวเก๋ง ในส่วนกระบะด้านท้ายจะปล่อยโชว์เนื้อไม้
 
     ทุกวันนี้มีผู้สร้างรถอีแต๋นอยู่หลายรายตั้งอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ผู้ผลิตแต่ละรายก็มีเทคโนโลยีมีความชำนาญแตกต่างกันไป ประทีปบอกว่าบางที่ทำเป็นอีแต๋นซิ่ง โดยนำช่วงล่างของรถกระบะมาปรับทำเป็นรถอีแต๋นก็มี แต่สำหรับอู่ของประทีปนับได้ว่าเป็นสายอนุรักษ์ ชอบความประณีต ชอบความดั้งเดิม งานทุกชิ้นคิดค้นด้วยตัวเอง ลงมือทำด้วยฝีมือของช่างในทีมงานอย่างตั้งใจ
 
     เราเชื่อว่าช่างทุกคนในทีมงานของประทีปการช่างไม่ได้คิดว่าตนเองกำลังทำงานศิลปะชิ้นหนึ่งอยู่ ทุกคนเพียงแต่ใส่ความความตั้งใจใส่หัวใจลงไปในชิ้นงาน และทำให้ดีที่สุดสมกับที่เจ้าของรถอีแต๋นคันงามเชื่อใจมอบหมายให้ลงมือสร้างขึ้น เมื่ออีแต๋นหนึ่งคันเสร็จสมบูรณ์ มันจึงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ สำหรับเรารถอีแต๋นคืองานศิลปหัตถกรรมเชิงช่างพื้นบ้านชิ้นหนึ่ง ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นไทยที่ผูกพันกับท้องทุ่งกสิกรรมอย่างแนบแน่น
 
 
     อีโก่ง อีแต๊ก และอีแต๋น
     "อีโก่ง” หรือ "อีโก้ง” เป็นชื่อเรียกตามลักษณะเด่นของรถไถนาเดินตามที่มีคันบังคับยาวและโก่งงอลงถึงมือคนบังคับขับไถ เมื่อนำรถอีโก่งมาพ่วงท้ายลากเกวียนแล่นไปมาจากบ้านสู่ไร่นา จะได้ยินเครื่องยนต์ส่งเสียง แต๊ก ๆ ๆ มาแต่ไกล จึงพากันเรียกรถไถนาพ่วงเกวียนว่า "อีแต๊ก” หรือ "อีตั๊ก”
 
     กระทั่งมีการพัฒนารถเกษตรฝีมือพื้นบ้านไปจนถึงขั้นมีโครงสร้างคล้ายรถยนต์ไม่ใช่รถพ่วง มีพวงมาลัย ระบบเบรก ระบบเกียร์ มีหลังคา และสีสันสวยงาม สามารถแล่นด้วยความเร็วมากขึ้น ด้วยความเลิศเลอกว่าใครในท้องทุ่งยุคแรก ซึ่งพ้องกับคำว่า "สะแหล๋นแต๋น” อันเป็นคำที่มีความหมายว่า เลิศเลอ ในสมัยนั้น จึงเป็นที่มาของนาม "อีแต๋น”
 
     รถอีแต๋นสามารถขับขี่บนท้องถนนเช่นเดียวกับรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ได้โดยจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกและเสียภาษีประจำปี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๕ ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่าต้องใช้เครื่องยนต์ที่มิได้ใช้สำหรับรถยนต์โดยเฉพาะมาติดตั้ง น้ำหนักตัวรถไม่เกิน ๑,๖๐๐ กิโลกรัม เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน ๑,๒๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร ความกว้างตัวรถไม่เกิน ๒ เมตร และความยาวไม่เกิน ๖ เมตร มีลักษณะเป็นรถสี่ล้อหรือรถสามล้อก็ได้ มีระบบไฟฟ้า ได้แก่ ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว แตรที่ดังพอสมควร และมีกระจกมองข้างเช่นเดียวกับรถประเภทอื่น ๆ
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๔ ปี ๒๕๖๐
http://magazine.culture.go.th/2017/4/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)