เรื่อง : ฉมาร์ กีปรีชา
ภาพ : ยอด เนตรสุวรรณ และ กองบรรณาธิการ
สุธน มโนราห์ หนทางพิสูจน์รัก
กาลเวลาพิสูจน์คุณค่า
หนทางสู่ป่าหิมพานต์ยากลำบากแสน แต่เพื่อนางอันเป็นที่รักจักต้องไปให้ถึง กาลเวลานับร้อย ๆ ปี เรื่องราวของทั้งสองเป็นที่จดจำเล่าต่อ พิสูจน์คุณค่าของวรรณกรรมเช่นเดียวกับความรักที่พิสูจน์ด้วยหนทางยาวไกลและแสนลำบากที่พระสุธนจะต้องเดินทางไปตามนางมโนราห์ที่สวมปีกบินหนีกลับบ้านไป เพราะถูกคนแกล้ง
ต้นเค้าเรื่องจนถึงเมืองไทย งอกงามเป็นหลากวัฒนธรรม
เรื่องพระสุธนกับนางมโนราห์นี้ไม่ได้มีเพียงแค่เป็นนิทาน ยังมีอีกหลายรูปแบบและหลายสำนวน เดิมทีเข้าใจกันว่าเรื่องสุธนชาดกในหนังสือปัญญาสชาดกของพระภิกษุชาวเชียงใหม่ที่นำนิทานชาวบ้านขึ้นมาผูกขึ้นเป็นนิทานชาดกนั้น เป็นต้นเค้าของเรื่องพระสุธน-นางมโนราห์ฉบับต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่ วินัย ภู่ระหงษ์ ผู้ศึกษาเปรียบเทียบพระสุธน-นางมโนราห์ฉบับต่าง ๆ พบว่าฉบับในประเทศไทยมีเนื้อความเหมือนกับเรื่องพระสุธน-นางมโนราห์ที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย บางสำนวนคล้ายคลึงกันจนเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่ผิดเพี้ยนกันเลย จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีต้นเค้าอยู่ในประเทศอินเดีย โดยน่าจะได้มาจากกินนรีชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุ หรือสุธนกุมาราวทานในคัมภีร์ทิพยาวทาน ฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับ แล้วแพร่มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทางทะเล เป็นการถ่ายทอดโดยวิธีจำ ๆ กันต่อมา และตกแต่งเพิ่มเติมให้พิสดารออกไป น่าจะเข้ามาเมืองไทยในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ผ่านทางภาคใต้ซึ่งมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง๑ แล้วจึงแพร่ไปยังภาคเหนือซึ่งมีศูนย์กลางคือเมืองเชียงใหม่ พระภิกษุชาวเชียงใหม่จึงได้นำเรื่องมาผูกเป็นชาดกคือ สุธนชาดก ซึ่งผิดเพี้ยนกันเฉพาะส่วนที่เป็นรายละเอียดที่ไม่สำคัญต่อการดำเนินเรื่อง นอกจากเล่าสู่กันฟังอย่างนิทานชาวบ้านแล้ว ภาคเหนือมีบทค่าวซอ๒ เรื่องสุธน ขณะที่ภาคใต้นำมาแต่งเป็นบทช้าน้องหรือเพลงร้องเรือ (เพลงกล่อมเด็ก) รวมถึงขยายกลายเป็นวัฒนธรรมการแสดงและอื่น ๆ เช่น การรำโนรา หนังตะลุง เพลงบอก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
นิทานพื้นบ้านเรื่องพระสุธนมโนราห์-ภาคใต้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีทั้งประเภทมุขปาฐะและลายลักษณ์ (หนังสือบุด) ที่แต่งเป็นคำกาพย์มีหลายสำนวน เช่น มโนราหรานิบาต วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา ส่วนทางภาคเหนือคือเรื่องพระสุธนชาดก ที่รวมอยู่ในปัญญาสชาดก ซึ่งจากการวิเคราะห์เห็นว่าน่าจะเป็นสำนวนที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏว่ามีบทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง "นางมโนราห์” ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นวรรณกรรมอีกหลายรูปแบบ เช่น พระสุธนคำฉันท์ ของพระยาอิศรานุภาพ (อ้น) พระสุธนคำกลอนของนายพลอย และพระสุธนฉบับร้อยแก้วของหลวงศรีอมรญาณ เป็นต้น แต่ละสำนวนส่วนใหญ่มีโครงเรื่องจากพระสุธนชาดกในปัญญาสชาดกดังกล่าว ขณะที่ภาคอีสานก็ได้รับไปเช่นกันเรียกชื่อพระสุธนว่า ท้าวสีธน
ติดตรึงใจด้วยรักข้ามภพ
เหตุที่น่าจะทำให้นิทานหรือวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นที่นิยมและติดตรึงใจผู้คน อาจเป็นเพราะเรื่องของความรักที่ต้องลุ้นว่าพระสุธนจะผ่านด่านพ่อตาแม่ยายที่ให้พิสูจน์หานางมโนราห์ให้เจอ หรือจะเป็นการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นกว่าจะถึงบ้านของนางมโนราห์ที่ป่าหิมพานต์ ที่ต้องเดินทางยาวนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน โดยได้ผู้ช่วยอย่างพระฤษีกับของวิเศษทั้งหลาย หรือจะเป็นเพราะการที่วรรณกรรมเรื่องนี้เสมือนหนึ่งภาคต่อของเรื่อง "นางสิบสอง” หรือ พระรถ เมรี ซึ่งในตอนท้ายเรื่องเมื่อพระรถเสนรู้ความจริงว่านางเมรีเป็นธิดายักษ์จึงหนีกลับบ้าน นางเมรีติดตามมาและขอร้องให้กลับไปอยู่ด้วยกัน แต่พระรถเสนไม่ยอม นางเมรีจึงตัดพ้อพระรถเสนก่อนจะกลั้นใจตายว่า "ชาตินี้น้องตามพี่มา ชาติหน้าขอให้พี่ตามน้องบ้าง” เรื่องราวต่าง ๆ จึงบังเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสองพระนางกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นพระสุธนและนางมโนราห์ การผูกเรื่องเชื่อมโยงตามวิถีวัฒนธรรมที่มีความเชื่อเรื่องชาติภพนี้จึงทำให้เข้าถึงใจคนหมู่มากและเป็นที่จดจำยาวนาน
เปรียบเทียบเรื่องราวหลากสำนวน
พระสุธน-มโนราห์แต่ละสำนวนมีชื่อตัวละคร ชื่อเมือง และรายละเอียดเหตุการณ์ปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป เช่น พระสุธน-มโนราห์สำนวนภาคใต้ ตรงกับสุธนชาดกของภาคเหนือ คือ นางมโนราห์เป็นพี่องค์โต สำนวนอื่น ๆ มักเป็นน้องสุดท้อง ส่วนพรานบุญ สำนวนภาคใต้ใช้ชื่อ พรานบุญทฤกษา ส่วนสุธนชาดกใช้ชื่อ พรานบุณฑริก และชื่อเมืองปัญจาในสำนวนภาคใต้คือ เมืองปัญจาละในสุธนชาดก เป็นต้น
ตัวอย่างสำนวนจาก มโนราหรานิบาต ฉบับวัดมิชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา เริ่มที่ท้าวอาทิตย์วงศ์และนางจันทาเทวีแห่งเมืองปัญจา มีพระโอรสคือพระสุธน เมืองนี้มีความสุขร่มเย็นเพราะสักการะพญานาคท้าวชมพูจิตรเป็นประจำ ต่างกับเพื่อนบ้านคือเมืองมหาปัญจาที่มีแต่ความเดือดร้อน เจ้าเมืองมหาปัญจาอิจฉาจึงคิดฆ่าพญานาคท้าวชมพูจิตรโดยให้พราหมณ์ร่ายเวทมนตร์ แต่มิสำเร็จเพราะพรานบุญขัดขวางไว้ พญานาคจึงตอบแทนพรานบุญ บอกเรื่องนางมโนราห์ และให้พรานบุญยืมนาคบาศไปคล้องนางมโนราห์เพื่อไปถวายให้พระสุธน
ส่วนสุธนชาดกเริ่มความว่า ท้าวอาทิจจวงศ์แห่งอุดรปัญจาล มีมเหสีนามว่า จันทเทวี ต่อมาพระโพธิสัตว์จุติลงมาสู่ครรภ์นางจันทเทวี เมื่อประสูติปรากฏมีขุมทองผุดขึ้นทั้งสี่ทิศ จึงให้นามว่า สุธน และภายในเมืองมีสระใหญ่ใต้สระนั้นเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อ ชมพูจิตร ซึ่งคอยบันดาลให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์
ถ้าไปฟังสำนวนภาคอีสานเรื่องท้าวสีธน อาจพบคำผู้เฒ่าเพิ่นว่า ธนมโนราห์ สีธามโนรน แล้วจึงเล่าเข้าเรื่องท้าวอาทิตย์ครองเมืองปัญจา มีมเหสีชื่อ จันทรา ราชกุมารชื่อ สีธน (พระสุธน) คนเก่งกล้าวิชา ราษฎรอยู่ดีกินดี พืชผลบริบูรณ์มิได้คลาดแคลน อยู่มาวันหนึ่งพรานบุญ ชาวเมืองปัญจาได้เข้าไปหาล่าสัตว์ในป่าแถบสระอโนดาต ได้พบกินรีพี่น้อง ๗ นางกำลังเล่นน้ำอยู่จึงใช้บ่วงคล้องจับมาได้หนึ่งนางเป็นน้องนุชสุดท้อง คือ นางมโนราห์ นั่นเอง ฝ่ายพี่ ๆ ตกใจกลัวบินหนีกระเจิงให้วุ่น หน้าตาของนางสวยสดงดงามหาใดเทียบทานได้ พรานบุญจึงไปนำถวายท้าวสีธน...
ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการดำเนินเรื่องหลักไม่แตกต่างกันมากนัก ตอนกลางเรื่องและตอนท้ายมีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในสำนวนต่าง ๆ เช่น มโนราหรานิบาต ฉบับของสงขลาว่า พระสุธนกับนางมโนราห์แต่งงานอยู่กินกันมีความสุข จนกระทั่งพระสุธนต้องออกรบ พราหมณ์ปุโรหิตของเมืองระแวงว่าพระสุธนจะถอดยศตนจึงแอบไปสมคบกับข้าศึกให้ยกทัพมาตีเมืองปัญจา ช่วงนั้นนางจันทาเทวีฝันร้าย พราหมณ์ปุโรหิตทูลให้นางทำพิธีสะเดาเคราะห์ด้วยการบูชายัญนางมโนราห์ นางมโนราห์จึงหาทางรอดด้วยการขอปีกและหางเพื่อรำถวายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วบินหนีไปพร้อมกับฝากแหวนและตำรายาแก้พิษต่าง ๆ ไว้กับพระกัสสปฤษีเพื่อมอบแก่พระสุธน เมื่อพระสุธนชนะศึกกลับมารู้เรื่องจึงออกเดินทางไปตามนางมโนราห์กลับ ใช้เวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน จึงประสบความสำเร็จ
ขณะที่ในสุธนชาดก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสุธนกุมาราวทาน ดำเนินความเหตุที่มโนราห์ต้องบินหนีกลับบ้านไม่ต่างกันว่า พระสุธนได้สัญญาแก่พราหมณ์ที่รับใช้ว่าจะให้เป็นปุโรหิตเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทำให้ปุโรหิตที่ดำรงตำแหน่งอยู่โกรธและคิดพยาบาทพระสุธน จึงไปทูลยุยงท้าวอาทิจจวงศ์ว่าพระสุธนเป็นกบฏ แต่ไม่เป็นผล บังเอิญมีศึกมาตีนครอุดรปัญจาล จึงแกล้งทูลแนะนำให้ส่งพระสุธนไปรบ และในวันที่พระสุธนชนะศึกท้าวอาทิจจวงศ์ก็ทรงสุบิน ปุโรหิตจึงอาศัยเป็นเหตุที่จะฆ่านางมโนราห์เพื่อให้พระสุธนเศร้าโศกเสียพระทัยจนสิ้นพระชนม์ ปุโรหิตแกล้งทูลพยากรณ์ว่าเคราะห์ร้ายนั้นต้องทำพิธีบูชายัญ และต้องใช้นางมโนราห์มาบูชายัญด้วย เมื่อนางมโนราห์รู้ก็ไปทูลขอความช่วยเหลือจากนางจันทเทวีแต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ จึงใช้อุบายขอปีกหางจากนางจันทเทวี แล้วสวมบินหนีไป
ส่วนเหตุการณ์ช่วงท้ายเรื่องที่พรรณนาถึงการติดตามของพระสุธนจนกว่าจะพบนางมโนราห์อีกครั้ง ในสุธนกุมาราวทานดำเนินความว่า เจ้าชายสุธนได้เดินทางติดตามไปตามทางที่นางมโนราห์บอกไว้กับพระฤษี และนำลูกวานรไปด้วยเพื่อจะได้เลือกกินผลไม้ที่ไม่เป็นพิษ ได้พบอันตรายต่าง ๆ แต่ก็สามารถรอดพ้นไปได้จนถึงเมืองกินนร และได้ใช้แหวนของนางมโนราห์ที่ฝากไว้กับพระฤษีหย่อนลงในหม้อน้ำที่นางกินนรีมาตักไปรดนางมโนราห์เพื่อล้างกลิ่นสาบมนุษย์ ทำให้นางรู้ว่าเจ้าชายติดตามมาจึงไปทูลให้ท้าวทรุมะทรงทราบ ท้าวทรุมะจึงให้นำเจ้าชายเข้ามาในวัง หลังจากที่ได้ทดลองกำลังและความเก่งกล้าสามารถ ตลอดจนความซื่อสัตย์ที่มีต่อนางมโนราห์จนเป็นที่พอใจแล้ว ท้าวทรุมะจึงจัดการอภิเษกให้ในที่สุด ซึ่งในสุธนชาดกก็ดำเนินความตามนี้ แตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดของเส้นทาง ภัยอันตรายต่าง ๆ วิธีการแก้ไข ตลอดจนรายละเอียดการทดลองความเก่งของพระสุธนเท่านั้น
ตอนปิดเรื่องของทั้งสองสำนวนดำเนินเรื่องเหมือนกัน กล่าวคือ หลังจากพระสุธนอยู่ที่เมืองกินนรระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปรารถนาจะกลับบ้านเมือง จึงบอกแก่นางมโนราห์ นางจึงขอติดตามไปด้วย และทั้งสองก็พากันกลับไปยังบ้านเมืองของพระสุธนในที่สุด แล้วจบเรื่องด้วยการประชุมชาดกคือ การแสดงกลับชาติ
ตามข้อเท็จจริงของนิทานหรือเรื่องเล่าทั้งหลายที่เล่าสู่กันฟังเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อการใดก็ตามมักเป็นไปตามลักษณะที่ว่า "...เมื่อตกไปยังพื้นถิ่นแถบใดก็มักจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของแถบนั้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าจุดของเนื้อเรื่องจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็จะแสดงลักษณะของผู้คนและของสถานที่ (แวดล้อม) ที่นิทานนั้นไปถึงนั้นประสมประสานอยู่เสมอ ความแตกต่างในรายละเอียดต่าง ๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุนี้”๒
วินัย ภู่ระหงษ์ ที่ศึกษาต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องนี้ให้ข้อสังเกตว่า เป็นที่น่าแปลกที่เนื้อหาสุธนชาดกของทางภาคเหนือซึ่งเป็นถิ่นแรกที่รับเรื่องนี้ โดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ กลับมีเนื้อความใกล้เคียงกับต้นเรื่องคือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง มากกว่าเรื่องที่มีแพร่หลายอยู่ในดินแดนใกล้เคียงนครศรีธรรมราชเสียอีก
ตลอดเวลานับศตวรรษที่เรื่องราวความรักของคู่พระนางที่อยู่ในวิถีชีวิตและความทรงจำของผู้คน จากนิทานพื้นบ้าน กลายเป็นวรรณคดีสูงค่า มีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรองประเภทต่าง ๆ บทละคร รวมถึงการแสดงที่นิยมในหมู่คนปักษ์ใต้ ที่เรียกชื่อการแสดงชนิดนี้ตามชื่อตัวเอกของเรื่องว่า "โนรา” ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นวัฒนธรรมการแสดงที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก มีพิธีกรรมความเชื่อประกอบอยู่อย่างหนักแน่น
ปัจจุบันนอกจากนิทานที่ให้เล่าต่อ วรรณคดีให้อ่าน การแสดงให้ชมแล้ว ตำนานเรื่องเล่าของสองคู่รักนี้ยังดำเนินต่อ โดยเคลื่อนไปสู่รูปแบบที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งการ์ตูน ละครทีวี ภาพยนตร์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของประจักษ์พยานที่สะท้อนให้เห็นว่า การพิสูจน์รักของพระสุธนกับนางมโนราห์ ได้ผ่านกาลเวลาพิสูจน์คุณค่าของเรื่องราว และการแพร่หลายที่เข้าถึงชีวิตผู้คนในหลากรูปแบบและจะยังคงอยู่ต่อไป