เรื่อง : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพ : สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ และ ยอด เนตรสุวรรณ
แพรวา...เส้นสายลายผ้าสะท้อนตัวตน
สีสันในเลื่อมลายของผ้าไหมผืนสวยค่อยเผยความงดงามปรากฏตรงหน้า มันถูกห่มเป็นผ้าเบี่ยงผืนสวยขณะแม่เฒ่านบประณมสองมือขึ้นไหว้พระ เธอและลูกหลานล้วนยึดถือเชื่อมั่นกันว่าผ้าทอที่บรรจงจกลายขึ้นอย่างประณีตนั้น ยามที่ได้ใช้สวมใส่ในงานบุญประเพณีหรือเทศกาลต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ความงดงามเป็นเอกลักษณ์ หากแต่ยังเปี่ยมไปด้วยความหมายและคุณค่าที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ
สำหรับชนชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าผู้ไท พวกเขารอนแรมข้ามลำน้ำโขงเข้ามาปักหลักหยัดยืนในผืนแผ่นดินอีสานของไทย
ยามเมื่อหญิงสาวรุ่นต่อรุ่นได้จกเส้นไหมลงบนผ้าทอสักผืนจึงอาจเต็มไปด้วยความหมายอันหลากหลาย เป็นคุณค่าอันสั่งสมยาวนานในลวดลายวิจิตร เล่าย้อนถึงที่มาที่ไป และดำรงอยู่ซึ่งทิศทางแห่งวัฒนธรรมอันพร้อมเสมอที่จะนำพาลูกหลานก้าวไกลไปในวันข้างหน้าอย่างมั่นคง
สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปี่ยมไปด้วยความงดงามทางวัฒนธรรมอย่างผู้ไท ดูเหมือนการเคลื่อนผ่านจากถิ่นฐานเดิมแถบแคว้นสิบสองจุไทย (ดินแดนส่วนหนึ่งของลาว เวียดนาม และภาคใต้ของจีน) ข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ไทยนั้น เวลาหลายร้อยปีด้วยเหตุผลทางศึกสงครามนั้นไม่อาจลบเลือนวัฒนธรรมหลากหลายที่พวกเขาสั่งสม ภาษาที่ฟังหวานหู ความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ครรลองของชีวิตอันเรียบง่าย เหล่านี้ล้วนติดอยู่ในสายเลือดและเติบโตตามแผ่นดินที่พวกเขาเลือกปักหลัก
โดยเฉพาะเรื่องราวของ "ผ้าแพรวา” งานหัตถศิลป์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของพวกเขาอย่างเด่นชัด
ผ้าแพรวานั้นคนผู้ไทให้ความหมายรวมถึงผ้าทอเป็นผืนที่มีความยาว ๑ วา หรือราวหนึ่งช่วงแขน ลวดลายโบราณถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ พวกเขามักเลือกใช้ในงานบุญและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ โดยเชื่อกันว่าหญิงผู้ไทนั้นจำเป็นต้องตัดเย็บผ้าทอได้ ๓ อย่าง เสื้อดำ ตำแพร และซิ่นไหม ซึ่งคำว่า "ตำแพร” นั้นบ่งบอกชัดเจนถึงการทอผ้าแพรวา
เด็กหญิงผู้ไทจะถูกแม่เฒ่าสั่งสอนให้รู้จักทั้งการทอและลวดลายโบราณตั้งแต่เด็ก ๆ พวกเธอเริ่มต้นที่ "ผ้าแซ่ว” ผ้าไหมทอพื้นสีขาวที่มีลวดลายดั้งเดิมทอไว้เป็นแม่แบบอันส่งต่อมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ว่ากันว่าลวดลายบางชนิดเป็นมรดก บ่งบอกได้ถึงเอกลักษณ์ของแต่ละครอบครัว หรือแต่ละกลุ่มผู้ไทที่แยกย่อยไปตามการลงหลักปักฐาน
จากการสืบสานลายโบราณที่สั่งสอนกันผ่านผ้าแซ่ว หญิงผู้ไทเต็มไปด้วยจินตนาการ พวกเธอรู้จักการเลือกสีและย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ อย่างครั่ง ขี้เถ้า ดิน หรือเปลือกไม้
ลวดลายผ้าแพรวาที่ตกทอดเป็นเอกลักษณ์นั้น แยกออกเป็น ๓ ส่วน คือ ลายหลัก ลายคั่น และลายช่อปลายเชิง
ลายหลัก คือ ลายขนาดใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในผืนผ้าทอ เช่น ลายนาค ลานพันธุ์มหา ลายดอกสา โดยแยกย่อยออกไปเป็นลายนอก ลายใน และลายเครือ คล้ายเป็นการกำหนดโครงร่างและขอบเขตของลายในผ้าแต่ละผืน
จากลายหลัก ต่อยอดมาสู่ส่วนขอลายคั่น หรือที่เรียกกันว่าลายแถบ เป็นลายขนาดเล็กที่อยู่ในแนวขวางของผืนผ้า มีหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วง ๆ โดยผู้ทอมักทอลายตาไก่ ลายงูลอย ลายขาเข ลงเป็นลายคั่น
ส่วนที่เป็นเชิงผ้านั้นคืออีกส่วนที่งดงามอยู่ด้วยทักษะการทอผ้าของหญิงแต่ละคน เรียกว่า ลายช่อปลายเชิง นอกจากความงดงามอันสื่อถึงจินตนาการ ลายช่อปลายเชิงยังทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้าแต่ละลาย โดยมีลายย่อยหลากหลาย เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายใบบุ่นน้อย
ผ้าแพรวาเต็มไปด้วยการผสมผสานทั้งลายโบราณและลายประยุกต์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามการเรียนรู้ของหญิงผู้ไท ผสมผสานระหว่างลายขิดและการจกผืนผ้าขึ้นอย่างประณีต กระบวนการขิดผ้าของคนผู้ไทสะท้อนออกมางดงามในขิดดอกเล็กและขิดดอกใหญ่ โดยใช้ไม้ลายขิดสานเพื่อเก็บลาย ส่วนการจกลายนั้นหญิงผู้ไทที่ถือว่าเชี่ยวชาญงานทอผ้าแพรวาของผู้ไทแท้จะไม่ใช้อุปกรณ์อย่างเข็ม ไม้ หรือขนเม่นเป็นตัวช่วย แต่จะใช้นิ้วก้อยจกเกาะเกี่ยวสอดสานเส้นไหมพุ่งที่เป็นเส้นสีอย่างชำนิชำนาญ การเกาะลายด้วยนิ้วก้อยจากริมผ้าข้างหนึ่งไปสู่ข้างหนึ่งสะท้อนความเก่งของหญิงแต่ละคนออกมาได้อย่างจริงแท้
จากลวดลายดั้งเดิมที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือดและวัฒนธรรมของหญิงผู้ไท ผ้าแพรวาค่อยฝังรากเติบโตเคียงข้างผู้คนชาติพันธุ์อื่น ๆ ในผืนแผ่นดินอีสาน โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่ากันว่าเมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรในแดนดินอีสาน โดยเฉพาะที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาาฬสินธุ์ ครั้งปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นชาวผู้ไทบ้านโพนแต่งตัวโดยใช้ผ้าผ้าเบี่ยงหลากสีสันเหนือชุดสีดำทึบ ทรงสนพระทัยและโปรดให้มีการสนับสนุน และได้มีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อนำไปใช้เป็นผ้าผืนสำหรับตัดเสื้อผ้าได้ อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้มีการพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด
ผ้าแพรวาค่อยแตกยอดเติบโตพร้อม ๆ กับความเป็นอยู่อันสุขสมบูรณ์ขึ้นของคนผู้ไทหลากหลายถิ่นในอีสาน พวกเขารวมตัวกันพัฒนาผ้าทอที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ในสีสันอันสดใส ละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยความมีระเบียบ โดยพัฒนาไปสู่การตัดเย็บเป็นผ้าห่มตัว ใช้ในงานหัตถศิลป์หลากรูปแบบ ปรับเลี่ยนเป็นลายประดับกระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ลวดลายโบราณที่ตกทอดกันมาในผ้าแซ่ว ถูกสอดสานขึ้นเป็นผ้าทอผืนสวย ว่ากันว่าในผ้าแพรวาผืนหนึ่งนั้น หญิงผู้ไทสามารถสร้างสรรค์ลายผ้าราว ๑๐ หรือ ๑๒ ลายลงไปอยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามลงตัว
จากชนชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่แรมรอนผ่านเหตุผลทั้งศึกสงครามและความยากไร้ พวกเขาค่อย ๆ พาความความคิดความเชื่อ รวมไปถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันงดงาม ผ่านพ้นแดนดินขุนเขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้ามพรมแดนธรรมชาติอย่างสายน้ำโขง เลือกปักหลักลงแถบเชิงเขาภูพาน ตามผืนดินไร่นาแถบจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และกระจายไปตามพื้นที่เล็กน้อยในแผ่นดินไทย
ไม่เพียงผ้าแพรวาอันงดงามของหญิงผู้ไทที่แตกยอดเติบโตขึ้นในนามของความงดงาม แต่รากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ติดตัวพวกเขามาล้วนถูกผสมผสาน พัฒนาเติบโต รวมถึงเป็นสิ่งรังสรรค์ให้ผืนแผ่นดินอีสานเต็มไปด้วยความหลากหลายอันแสนรื่นรมย์ ลวดลายเปี่ยมสีสันในผืนผ้าแพรวา บอกย้อนไปถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ นอกจากผ้าผืนงามที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยการถักทอของเส้นไหมสีต่าง ๆ จนเกิดเป็นเครื่องนุ่งห่มแห่งภูมิปัญญาแล้ว ผ้าแพรวายังเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูไทดั่งคำกล่าวขาน "แพรวา ราชินีแห่งไหมไทย”