เรื่อง : พริมา อ่วมเจริญ
ภาพ : อดุล ตัณฑโกศัย, ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์
เล่าขานตำนานไทลื้อ เมืองเชียงคำ

นานเนิ่นเกินกว่าร้อยปี...
ไกลออกไปถึงแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มชนชาติพันธุ์หนึ่งได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน บ้างก็ถูกกวาดต้อนบุกป่าฝ่าดง ลัดเลาะข้ามขุนเขาและสายน้ำมาลงหลักปักฐานบนแดนดินถิ่นเหนือของไทย ไล่เลยตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน รวมถึงอำเภอเชียงม่วนและเชียงคำ จังหวัดพะเยา พวกเขาหยั่งรากตัวตนกลมกลืนอยู่บนผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่หลังใหม่ของพวกเขา...ชาวไทลื้อ
ไทลื้อคือใคร
ถนนราบเรียบทอดตัวยาวคดโค้งไปตามขุนเขา มันลากยาวพาดผ่านท้องทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ลัดเลยมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ สงบงามแห่งหนึ่งที่ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา หญิงสาวเคียนผ้าโพกหัวสีชมพูอ่อน สวมใส่เสื้อปั๊ด (เสื้อป้ายข้าง) นุ่งซิ่นลายน้ำไหลผืนสวย เธอยิ้มรื่นขณะหยิบยกน้ำดื่มชื่นเย็นมาให้คนไกลได้คลายความร้อน
"ชุมชนของเราแบ่งออกเป็นสี่หมู่บ้าน หมู่ ๑ บ้านธาตุสบแวน หมู่ ๒ บ้านธาตุ หมู่ ๓ บ้านหย่วน และหมู่ ๔ บ้านมาง เรียกว่าเป็นชุมชนที่มีเชื้อสายไทลื้ออย่างแน่นแฟ้นเลยค่ะ” คุณนงลักษณ์ จินะราช เล่าพร้อมรอยยิ้ม
"ไทลื้อ” หรือ "ไตลื้อ” คือกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไต หรือไท ที่พูดภาษาตระกูลไต พวกเขามีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาษาพูด ตัวอักษร อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายในแบบฉบับของตัวเอง
"บรรพบุรุษเราเป็นชาวไทลื้อ ดั้นด้นอพยพมาจากเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน ที่สิบสองปันนาโน่นแน่ะ พอมาอยู่ในประเทศไทย เราก็เอาชื่อบ้านเก่าเมืองเดิมมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ญาติพี่น้องที่ตามมาทีหลังจะได้หาเราเจอ” ครูประพนธ์ วงศ์ใหญ่ เล่าย้อนถึงเรื่องราวการเดินทางไกลของคนรุ่นปู่ย่าตาชวดชาวไทลื้อให้ฟัง
หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน หลังจากชนชาติพม่าถูกไล่ต้อนให้หลบลี้หนีออกจากประเทศไทย บ้านเมืองที่เคยคลาคล่ำด้วยผู้คนกลับเสื่อมโทรมรกร้างกินเวลานานนับสิบปี จนกระทั่งถึงยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีรับสั่งให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ขึ้นไปกวาดต้อนเทครัวชาวไทลื้อจากสิบสองปันนาให้มาลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปงเมืองในแผ่นดินไทย
ครานั้นชาวไทลื้อกลุ่มหนึ่งได้มาอาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงม่วน ราว ๒๕ ปี ทว่าการทำนาทำไร่ที่ไม่ให้ผลิตผลที่ดีนักได้ผลักพาให้พวกเขาอพยพอีกครั้ง ก่อนจะมาปักหลักบนพื้นที่ดินดำน้ำชุ่มในบริเวณลุ่มน้ำแม่ลาว ซึ่งก็คืออำเภอเชียงคำในปัจจุบัน จากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาได้ล่วงผ่านไปเป็นร้อยปี ชีวิตลูกหลานชาวไทลื้อได้เติบโตอย่างมั่นคงบนผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษได้เลือกสรรไว้ให้
เรื่องเล่าหลากหลายถูกถ่ายทอดขณะที่แดดสายฉายจับวิหารหลังใหญ่ของวัดแสนเมืองมา ลำแสงสีทองค่อยๆ อาบไล้รายละเอียดอันวิจิตรงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมไทลื้อ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะไทลื้อ เหนือเพดานระโยงระยางด้วยตุงหลากสีสันหลายลาย ฝาผนัง แต้มแต่งภาพจิตรกรรมสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ
ด้านข้างวิหารคือศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดแสนเมืองมา จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการไทลื้อเชียงคำ ประเพณี ความเชื่อ และข้าวของเครื่องใช้ของชาวไทลื้อ
ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทลื้ออีกแห่งอยู่ที่วัดพระธาตุสบแวน วัดเก่าแก่คู่ชุมชนบ้านธาตุ องค์เจดีย์ศิลปะล้านนา ฉาบทาสีขาวมีอายุยืนยาวกว่า ๘๐๐ ปี ภายในบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนคางของพระพุทธเจ้า
"แรกเริ่มคนไทลื้อนับถือผีบรรพบุรุษ ก่อนที่จะหันมานับถือพุทธศาสนา เรียกว่าใหม่เอา เก่าไม่ทิ้ง” พี่จรัส สมฤทธิ์ เล่าว่าคนไทลื้อนั้นมีศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา พวกเขายึดมั่นในหลักกฏแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และถึงแม้จะเปิดรับศาสนาเข้ามาในชีวิต ทว่าก็ยังไม่ละทิ้งรากเหง้าทางความเชื่อดั้งเดิมอย่างเรื่องผีบรรพบุรุษ ในหมู่บ้านจะต้องมีหอเทวดาหลวงที่ผู้คนเคารพศรัทธา และต้องจัดพิธีกรรมบวงสรวงเทวดาหลวงทุกปี
เส้นสายลายชีวิต
เฮินไตลื้อหลังเก่าคร่ำคร่าอายุราว ๗๐ ปี วางตัวสงบเงียบอยู่ริมทางสายเล็ก มันสะท้อนฉากชีวิตของคนไทลื้อผ่านแง่งามของงานสถาปัตยกรรมโบราณ
ที่ใต้ถุนเรือนโปร่งโล่ง หญิงชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่กำลังง่วนกับการงานตรงหน้า เสียงฟืมกระแทกกระทบเข้ากับเส้นด้ายแว่วดังเป็นจังหวะน่าฟัง ขณะที่กระสวยไม้ถูกใส่สอดลอดพุ่งผ่านเส้นใยอย่างว่องไวด้วยความชำนาญ
"สมัยก่อนผู้หญิงลื้อทอผ้าเป็นกันทุกคนล่ะ ใครทอผ้าไม่เป็นจะไม่ได้ออกเรือน” แม่อุ๊ยแสงดา สมฤทธิ์ หญิงชราหัวเราะร่าขณะที่สองมือยับย่นกรำงานผ่านร้อนหนาวมายาวนานกำลังหยิบยกเครื่องมือหน้าตาคล้ายคันธนูเล็กๆ ดีดก้อนฝ้ายซ้ำๆ จนเส้นใยฝ้ายฟูฟ่องเป็นก้อนใหญ่ก่อนนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย
"ไทลื้อเชียงคำนุ่งซิ่นลายเกาะผักแว่น หรือที่เขาเรียกกันว่าซิ่นลายน้ำไหล นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเราเลย” ครูน้อง-หทัยทิพย์ เชื้อสะอาด ผู้ชำนาญเรื่องผ้าทอไทลื้อชี้ชวนให้ดูลายผ้าซิ่นผืนเก่าที่จัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน) ลวดลายโบราณยังคงได้รับการสืบทอดไม่ให้สูญหาย
"ผู้หญิงไทลื้อจะสวมเสื้อปั๊ดป้ายข้าง นุ่งซิ่น เคียนหัวด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู คาดสายฮั้ง (เข็มขัดเงิน) ห้อยสร้อยดอกปีบ ส่วนผู้ชายถ้าเป็นคนธรรมดาก็ใส่เสื้อปั๊ด นุ่งเตี่ยวเปาโย้ง หรือเตี่ยวสามดูก เคียนหัวด้วยผ้าเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็นนักรบ จะสวมเสื้อแขนยาว แล้วสวมเสื้อปา หรือเสื้อกั๊กทับอีกชั้น พร้อมสะพายดาบคู่ใจ ที่สำคัญขาดไม่ได้เลยคือถุงย่ามหมากแดงใบเล็กไว้ใช้ใส่ข้าวของ” ครูน้องบอกเล่าวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้อที่เปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์อย่างละเอียด
ไม่เพียงแต่ทอผ้า ชาวไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน ยังมีฝีมือในการย้อมผ้าให้เป็นสีสวยด้วยวัสดุธรรมชาติ
"ต้นห้อมให้สีน้ำเงินเข้มสวย แก่นขนุนให้สีเหลืองสด ครั่งให้สีชมพู ประดู่ให้สีน้ำตาล ใบตะเคียนหนูให้สีเทา” ป้ามาลี วงศ์ใหญ่ ประธานกลุ่มผ้าทอแปรรูปสีธรรมชาติเล่าขณะขะมักเขม้นกับการย้อมเส้นใยด้ายฝ้ายด้วยน้ำห้อม หรือคราม ที่เราต่างเคยคุ้น
บนผืนผ้าทอชั้นดี ลวดลายแห่งชีวิตของคนไทลื้อยังคงถูกถักทอต่อเนื่องราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด
เปิดสำรับตำรับไทลื้อ
"อาหารไทลื้อบางอย่างก็คล้ายกับอาหารของคนเมือง (ล้านนา) นั่นแหละ เรากินถั่วเน่า กินข้าวแคบ น้ำพริกน้ำผักไม่ต่างกัน” ใครสักคนเล่าให้ฟังขณะที่เราดุ่มเดินดูภาพวิถีชีวิตยามเช้าที่กาดเช้าเชียงคำ
"ครัวของคนไทลื้อเรียกว่าเฮินไฟ สมัยก่อนเตาไฟสร้างจากกระบะไม้ดาดด้วยดินเหนียว มีก้อนเส้าวางอยู่สามก้อน เหนือเตาจะทำเป็นชั้นวางของ” หลากเรื่องเล่าของเตาไฟดำเนินไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการทำความรู้จักสำรับตำรับไทลื้อ
"ข้าวแคบ” ข้าวเกรียบทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่งา ของกินเล่นรสเค็มๆ มันๆ กินกับ "ขนมปาด” สีน้ำตาลสวย หน้าตาคล้ายขนมเปียกปูน หวานหอมน้ำอ้อย เรียกน้ำย่อยให้ทำงาน
"ถั่วเน่านี่ขาดไม่ได้เลย ถือว่าเป็นเครื่องปรุงหลักประจำครัว คนไทลื้อเรียกว่าโถ่โอ่ ทำจากถั่วเหลืองที่ต้มจนเปื่อย หมักทิ้งไว้สักสามวัน แล้วโขลกพริกแห้ง กระเทียม ขิง ข่า เกลือใส่ลงไป จากนั้นเอามาตีเป็นแผ่นกลม ตากแดดให้แห้ง เก็บไว้ได้นาน จะปิ้งหรือทอดกินก็ได้” ลุงสาโรจน์ วงศ์ใหญ่ เล่าอย่างออกรส
ในสำรับไทลื้อยังมี "จิ้นซ่ำพริก” หน้าตาคล้ายคั่วกลิ้ง ทำจากเนื้อหมูตากแห้งฉีกเป็นเส้นๆ โขลกกับเครื่องแกง "แอ่งแถะ” วุ้นสีเขียวทำจากใบหมาน้อย ปรุงรสด้วยพริกป่น ถั่วป่น ปลาแห้งป่น และมะกอก
"ปลาปิ้งอบ” เนื้อปลาดุกแล่ใส่พริกแห้ง ตะไคร้ กระเทียม หอมแดงโขลก มัดด้วยตอกแล้วเอาไปปิ้ง "ปลาปิ้งอบใช้ปลาน้ำจืดทำได้หมด เดี๋ยวลองไปดูที่กาดแลงไทลื้อวัดหย่วนสิ มีอาหารไทลื้อเยอะแยะ มีการแสดงให้ดูด้วยนะ” ใครบางคนพูดถึงกาดไทลื้อวัดหย่วน ซึ่งจะจัดทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน
"กาดไทลื้อเป็นกาดวัฒนธรรมที่เราจะจัดเวียนกันจนครบทั้งสี่หมู่บ้าน พุธแรกจัดที่วัดแสนเมืองมา พุธที่สองกับสามจัดที่วัดพระธาตุสบแวน พุธสุดท้ายจัดที่วัดหย่วน แต่ไม่ว่าจะจัดที่หมู่บ้านไหน ชาวบ้านหมู่อื่นก็จะมาช่วยกันออกร้าน มาช่วยกันทำกิจกรรม” ครูน้องบอกขณะที่พ่อค้าแม่ขายเริ่มมาตั้งแผงขายของที่หน้าวิหารวัดหย่วน
สองฝั่งฟากถนนที่เงียบเชียบช่วงกลางวันก่อร่างกลายเป็นกาดวัฒนธรรมเล็กๆ น่าเที่ยวชม สินค้าชั้นดีอย่างผืนผ้าทอมือถูกจัดวางอวดลวดลายประณีตสวย เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับแบบชาวไทลื้อมีให้เลือกซื้อหลากหลาย ไล่เลยไปถึงอาหารการกินและขนมขบเคี้ยวของชาวไทลื้อก็มีให้เห็นหลายร้าน
แว่วเสียงบรรเลงจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองดังกังวาน การแสดงของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย รวมถึงลูกหลานผู้สืบเชื้อสายไทลื้อได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว พวกเขาต่างพากับขับเคลื่อนเยื้องย่างกายใจไปตามท่วงทำนองของชีวิต นานเนิ่นเกินกว่าร้อยปี... ชนชาติพันธุ์หนึ่งได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาไกลโพ้น เมื่อหยั่งรากฝากชีวิตไว้บนผืนแผ่นดินใหม่ สายเลือดแห่งชาวไทลื้อยังคงเติบโตอย่างมั่นคง บนรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม...เหมือนที่เคยเป็นมา