เรื่อง : กัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ
ภาพ : กองบรรณาธิการ
ศิลปินนักถ่ายภาพอันดับ ๑ ของโลก
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
เกียรติยศแห่งชีวิตหลังเลนส์
อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การภาพถ่าย) พุทธศักราช ๒๕๕๒ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ ที่ปรึกษาสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ และที่ปรึกษาสมาพันธ์การถ่ายภาพไทย
หนึ่งในศิลปินของชาติ ผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นด้านการถ่ายภาพ ซึ่งมีคุณค่าต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ผู้คว้ารางวัลสุดยอดนักถ่ายภาพอันดับ ๑ ของโลก ประเภทภาพท่องเที่ยว และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกมากกว่า ๑,๐๐๐ รางวัล ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลกมาตลอด ๒๒ ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๗-๒๐๐๙ ได้รางวัลจากสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา (P.S.A.) ถึง ๑๗ ปี ด้วยกัน เฉพาะรางวัลเหรียญทองได้ถึง ๘๙ รางวัล (BEST OF SHOW: P.S.A. GOLD MEDAL) รางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ๙๕ รางวัล (FIAP GOLD, SILVER, BRONZE, MEDAL, H.M.) นับเป็นศิลปินต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ศึกษาวิชาการถ่ายภาพศิลปะได้อย่างดียิ่ง โดยเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มานานกว่า ๓๐ ปี และยังเป็นผู้ตัดสินรางวัลการถ่ายภาพให้กับสมาคมนักถ่ายภาพแห่งประเทศไทย นักศึกษาและประชาชนที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายคน
นอกจากนั้นอาจารย์ยังมีผลงานการถ่ายภาพในหนังสือชีวิตเด็กและเยาวชนไทย, มรดกโลกอยุธยา เฉลิมกาญจนาภิเษก, ราชอาณาจักรไทย ๕๐ ช่างภาพ, บันทึกแผ่นดินทองฉลองกาญจนาภิเษก, ทฤษฎีใหม่ : ในหลวงชีวิตที่พอเพียง, อลังการแผ่นดินวัฒนธรรม, ในฝัน, สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๒๐ ปี, สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๒๒ ปี, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง, สุขสนุกกับการถ่ายภาพ, Golden Jubilee, The Royal Barge, Siam in Focus, Unseen In Thailand, The Sacred Buddha Image of Thailand, Singapore Today, Images of Shanghai, Cores de Macau เป็นต้น และยังได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายทั้งในและต่างประเทศในหลายๆ รายการอีกด้วย
ท่านเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพถ่ายได้โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เน้นการถ่ายภาพแสงธรรมชาติ โดยสามารถถ่ายทอดและนำเสนอศิลปะการถ่ายภาพในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างงดงาม จนทำให้ผู้พบเห็นอยากไปเยือนสถานที่นั้น ถือได้ว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักอีกทางหนึ่ง
เส้นทางการเป็นช่างภาพของอาจารย์วรนันทน์นั้น ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ท่านต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ผ่านงาน มาหลายอย่าง และยังต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อเก็บภาพ ท่านต้องใช้ความอุตสาหะพยายามเป็นอย่างมาก กว่าจะมาถึงวันนี้
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗ ที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋ว เป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้อง ๗ คน มีน้องชาย ๔ คน น้องสาว ๒ คน จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนโกศลวิทยาและจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ จากโรงเรียนวัดราชสิงขร แถวเจริญกรุง ชีวิตในวัยเยาว์ลำบาก เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๕ ปี เกิดไฟไหม้บ้าน จึงไม่ได้เข้าเรียนต่อ ต้องไปเป็นพนักงานส่งขายเสื้อผ้าตามต่างจังหวัด ต้องเดินทางทั่วประเทศอยู่ ๔ ปี แต่การเดินทางในครั้งนั้น เป็นการจุดประกายให้ท่านอยากเป็นนักถ่ายภาพ ด้วยพบเห็นทัศนียภาพอันงดงามในแต่ละเส้นทางเหนือจรดใต้ พบสิ่งแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เลยมีความคิดที่อยากจะหัดถ่ายภาพ เพื่อที่จะเก็บสะสมความทรงจำที่น่าประทับใจเหล่านั้นไว้

หลังจากนั้นจึงมองหาโรงเรียนที่สอนถ่ายภาพ และได้เห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า มีการอบรมการถ่ายภาพของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ จึงเข้ามาสมัครเรียน และได้เรียนกับ อาจารย์พูน เกษจำรัส (ศิลปินแห่งชาติด้านภาพถ่ายท่านแรก พุทธศักราช ๒๕๓๑) รวมถึง อาจารย์อาภรณ์ ประยูรศุข อาจารย์สุมิตรา ขันตยาลงกต และอาจารย์อีกหลายๆ ท่าน ต่อมาจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และได้เป็นสมาชิกของสมาคมสยามคัลเลอร์สไลด์ และสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพในเวลาถัดมา ได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง ๓ สมาคม เข้าอบรมการถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอมากว่า ๔๐ ปี
ความสำเร็จมีอยู่ในทุกความพยายาม
อาจารย์วรนันทน์ ในวัย ๖๕ ปีเล่าให้เราฟังว่า "...อายุ ๑๕ ผมต้องวิ่งขายผ้าตามต่างจังหวัด เลยทำให้เป็นคนชอบเที่ยว ชอบเดินทางไปตามต่างจังหวัดเป็นชีวิตจิตใจ เลยอยากเรียนถ่ายภาพ ก็เลยออกมาทำงานเป็นเสมียนที่โรงสีข้าว อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี แล้วมาขายเครื่องเหล็กที่ร้านคุณลุงและคุณป้าที่อยู่แถวบางบัวทอง เพราะต้องการไปเรียนที่เทคนิคกรุงเทพ สมัยก่อนเดินทางโดยเรือ ต้องลงเรือจากบางบัวทอง เพื่อไปเรียนถ่ายภาพที่เทคนิคกรุงเทพฯ ทำงานไปเรียนไป การเดินทางลำบากมาก ต้องนั่งรถเมล์ตั้งแต่ตี ๕ มาเรียนกับอาจารย์พูน (ศิลปินแห่งชาติด้านการถ่ายภาพท่านแรก) เรียนในวันเสาร์อาทิตย์จนจบ๔ คอร์ส คือเรียนพื้นฐานเบื้องต้น ขั้นสูง ภาพสี และภาพโฆษณา ได้วุฒิบัตรของคอร์สสั้น กลางวันขายเครื่องเหล็ก กลางคืนหลังจากเลิกงานก็ฝึกถ่ายรูปล้างฟิล์มตรงห้องใต้บันได สมัยก่อนค่าฟิล์มค่าล้างมันแพง ใช้ฟิล์มขาวดำซื้อมาที ๑๐๐ ฟุต มาตัดแบ่งจะได้ฟิล์ม ๒๐ ม้วน ตกม้วนละ ๒๐ บาท ถ้าซื้อที่เขาตัดแล้วราคาเป็นร้อย สนามซ้อมแรกๆ ก็คือบางปู ไปถ่ายนกนางนวล
การประกวดถ่ายภาพในระยะแรก แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่อาศัยความขยันอดทน จนสามารถเข้าสู่ขั้นแนวหน้าของทั้ง ๓ สมาคมคือ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสยามคัลเลอร์สไลด์ และสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ
จากนั้นได้มาเลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ คือขายอุปกรณ์การถ่ายรูปที่ร้าน AV CAMERA แล้วมาเป็นผู้จัดการร้าน PHOTO HOBBY จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จากนั้นก็ออกเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพมาตลอด
ผมได้เริ่มส่งภาพประกวดเฉพาะรายการใหญ่ๆ ที่ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริการับรอง ซึ่งได้รับการแนะนำชี้แนะจากคุณลุงชวนะ จามรมาน คุณลุงไพบูลย์ มุสิกโปดก คุณไพบูลย์ ศิลปงามเลิศ คุณจีเส่ง แซ่หว่อง คุณยรรยง โอฬาระชิน คุณอัมพร เกียรติกำจรขจาย คุณเดโช บูรณบรรพต และอีกหลายท่าน ทำให้ได้พัฒนาฝีมือ ได้เห็นภาพถ่ายจากนักถ่ายภาพฝีมือดีๆ ทั่วโลก เริ่มมีมิตรถ่ายภาพต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น รวมทั้งได้มีโอกาสได้เผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ ชีวิตวัฒนธรรมของเมืองไทย ให้เพื่อนต่างชาติได้พบเห็นด้วย ซึ่งทุกคนที่มาเยือนประทับใจมาก
เมื่อก่อนเวลาที่ส่งไปประกวดต่างชาติ ถ้าส่งภาพวิวทิวทัศน์หรือ Portrait ไป ผมสังเกตุว่ามักจะไม่ได้รางวัล เพราะทิวทัศน์บ้านเราก็ยังไม่ค่อยน่าสนใจ ผมมาจับทางได้ว่าต้องส่งงานแนววัฒนธรรมประเพณีและศาสนาไปสู้เขา ซึ่งเป็นอะไรที่ต่างชาติไม่เคยเห็น เลยได้รางวัลตลอด เราต้องรู้แต่ละแนวว่าประเทศไหนควรส่งอะไร อย่างส่งไปประกวดที่อินเดียนี่ ถ้าส่งภาพวิ่งควายชลบุรีไปเนี่ยตกรอบแรกเลย มีการตีควายไม่ได้เลย เพราะเขานับถือวัวควายมาก

ในสมัยก่อนการส่งภาพประกวด เราจะได้แคตตาล็อกหรือสูจิบัตรที่รวมภาพที่ส่งเข้าประกวด ต้องจ่ายค่าสมัคร ถึงจะได้สูจิบัตรมา เราจะได้เห็นภาพจากทั่วโลกที่เขาส่งเข้าประกวด ได้เรียนรู้มุมกล้อง เมื่อก่อนการส่งภาพต้องล้างออกมาเป็นรูปขนาด ๓๐ x ๔๐ ซม. แล้วติดการ์ด ต่อมาส่งเป็นสไลด์ต้องห่อให้ดี สมัยก่อนการ copy สไลด์เพื่อส่งประกวดมันทำยาก ใบหนึ่งราคา ๑๕-๒๐ บาท และความคมชัดจะหายไป ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ผมเลยใช้วิธีดูว่าถ้ารูปนี้ดี เราจะถ่ายมุมละ ๑ ม้วนเลยไม่ต้องมา copy อีก ภาพจะคมชัดกว่าและถูกกว่า เพราะปีนึงต้องส่งเป็นร้อยแห่ง การจะให้ติดท็อปเท็นมันไม่ได้ส่งแค่แห่งเดียว คุณจะต้องมีรูปใหม่ๆ แต่ละปีไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป ๑ รูปต้องมี ๔ ภาพเป็นอย่างต่ำ เพราะบางทีส่งไปแล้วได้คืนกลับมาบ้าง หายบ้าง หรือทางกองประกวดส่งกลับเสียหายเป็นรอยก็มี บางทีก็หายเพราะไปรษณีย์ก็มี เพราะสมัยก่อนต้องสอดเงินค่าสมัครไปด้วย และต้องส่งล่วงหน้าหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ส่งไปที่ยุโรปอเมริกา เราไม่มีทางรู้หรอกว่า รูปเราส่งถึงหรือเปล่า เพราะทางผู้จัดไม่ได้แจ้งให้เราทราบ ต้องรอจนแคตตาล็อกออก ถ้าไม่มีชื่อไทยแลนด์ ก็แปลว่าหาย ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะมันไม่สามารถจะแก้ตัวได้ ไม่เหมือนเช่นปัจจุบัน กว่าจะได้เป็น Galaxy ที่ ๙ กับ Traveler ๑๑ คือสูงสุด ผมใช้รูปไปหลายพันใบ สมัยนี้ง่ายอัพโหลดรูปขึ้นไปก็ถึงเขาแล้ว เช็คทางอินเทอร์เน็ตได้เลย ...”
อาจารย์วรนันทน์ เล่าถึงผลงานประกวดที่ประทับใจไม่ลืมว่า "...ผมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในนามอาเซียนที่ฮ่องกง เขาให้เวลาวันครึ่ง ให้ฟิล์มคนละ ๑๐ ม้วน ถ่ายคนละ ๒ หัวข้อ ถ่ายภาพ ส่งฟิลม์ล้าง เลือกรูปประกวด แล้วตัดสินเลย เป็นงานที่ตื่นเต้น เพราะว่าได้ไปถ่ายของจริง ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เวลาเท่ากัน ฟิล์มเท่ากัน วัดกันที่ประสบการณ์และความนึกคิดของช่างภาพแต่ละคน โดยกรรมการเป็นช่างภาพอาชีพชาวฮ่องกงเกือบทั้งหมด ผมได้รางวัลชนะเลิศ แล้วได้ไปออกรายการโทรทัศน์ที่ฮ่องกงด้วย ผมพูดจีนได้ เพราะคุณพ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองจีนแท้ๆ มาขึ้นที่วัดยานนาวาที่มีเรือสำเภา ตอนเด็กๆ ผมได้เข้าเรียนโรงเรียนภาษาจีนด้วย เลยชอบไปถ่ายรูปที่เมืองจีน ไปตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่า
สมัยนั้นเดินทางลำบากมาก ไปมาประมาณ ๔๐ ครั้ง เห็นจะได้ สมัยนั้นคนเล่นกล้อง คนจีนเค้าเรียกลูกล้างผลาญ เพราะค่าอุปกรณ์มันแพง แต่ผมไม่เคยไปขอเงินพ่อแม่ซื้อกล้องแม้แต่บาทนึง พอเริ่มส่งประกวด ผมก็มาทำงานที่ AV Camera โรบินสันบางรัก ทำอยู่ ๔ ปี คุณเดโช คุณมานะ คุณสมชาย รวมกันตั้งบริษัทโฟโต้ฮอบบี้ ก็ชวนผมมาเป็นผู้จัดการร้านขายกล้องที่โฟโต้ฮอบบี้ที่สยามเซ็นเตอร์ เงินเดือนเริ่มที่ ๗-๘ พัน ก็พอมีค่าส่งประกวด เล่นแบบทรหดมา ๒๕ ปี โดยใช้กล้องเก่ามาตลอด จนได้รางวัลก็มาซื้อกล้อง สมัยก่อนได้รางวัลเยอะนะ พ.ศ. ๒๕๓๓ เคยได้รางวัลตั๋วเครื่องบินไปกลับรอบโลก แต่เกิดสงครามอิรักก็เลยไม่ไป ขอรับเป็นเงินเอาไปซื้อกล้องแทน มูลค่าสมัยนั้น ๓๐ ปีที่แล้ว คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ตอนนั้นผมเป็นกรรมการสมาคมแล้ว ที่โฟโต้ฮอบบี้ เราจะมีการสอนให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเรื่องภาพถ่ายโดยไม่เก็บเงิน และมีการแสดงภาพในร้านด้วย
ผมใช้กล้องอยู่ทั้งหมด ๓ แบบ คือกล้องฟิล์ม กล้องดิจิตอล และกล้องดิจิตอลที่นำมาแปลงเป็นถ่ายอินฟาเรด (โดยไม่ต้องไปล้างฟิล์ม) รูปสมัยก่อนจะถ่ายจะเป็นฟิล์มขาวดำ สี และสไลด์สีทั้งหมด ช่างภาพจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการวัดแสงวัดมุม จัดองค์ประกอบ รูปที่ถ่ายมาถ้าเป็นสไลด์สี จะผิดพลาดในการวัดแสงไม่ได้ มุมกล้องจะต้องเป๊ะ การวัดแสงต้องแม่น ถ่ายเสร็จแล้วจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเป็นภาพขาวดำหรือสี เรายังสามารถแก้ไขในห้องมืดได้ ยุคแรกๆ ต้องล้างฟิล์มเอง ซึ่งมีเทคนิคการซ้อนภาพซึ่งต้องทำในห้องมืด แต่ปัจจุบันนี้อะไรๆ มันง่าย พอมีกล้องดิจิตอลก็สะดวกขึ้นมาก และก็ยังสามารถมาปรับแต่งแก้ไขในคอมพิวเตอร์ได้อีก กล้องในโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้ก็มีคุณภาพดีไม่น้อย ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจควรให้ถ่ายเก็บไว้ ช่วยกันเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังต่อไป ภาพที่สำคัญผมอยากให้ถ่ายเป็นฟิล์มขาวดำเก็บไว้ ผมได้เห็นกับตาตัวเองแล้วว่า มันทนทานแค่ไหน ตอนน้ำท่วมใหญ่ขนของหนีน้ำไม่ทัน หนังสือเสียไปเกือบ ๓ คันรถ น้ำท่วมเดือนกว่า มีฟิล์มที่จมน้ำอยู่ลังหนึ่ง ในนั้นมีทั้งฟิล์มขาวดำ สี และสไลด์ พอเอามาล้างทำความสะอาด ตอนนั้นใช้ซันไลต์ผสมน้ำลูบขี้ตะไคร่ออกแล้วเอาไปตาก ฟิล์มสีนี่ละลายใช้ไม่ได้เลย สไลด์นี่ภาพยังใช้ได้จะเสียเฉพาะขอบรูปด้านนอก แต่ฟิล์มขาวดำนี่ไม่เป็นไรเลย ตอนนั้นใช้ฟิล์มโกดักโครม
สิ่งประทับใจผมมากที่สุด คือ การภาพถ่ายวันพ่อ ๕ ธันวา ที่ท้องสนามหลวง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ถ่ายให้กับกรมประชาสัมพันธ์ ตอนอยู่ข้างล่างเราไม่รู้หรอกว่าคนจุดเทียนมันจะดูสวย พอรถดับเพลิงยกเราขึ้นไปกลางสนามหลวง มองลงมามันตื่นเต้นมาก ดวงเทียนที่จุดถวายพระพรเป็นหมื่นดวง ฉากหลังเป็นวัดพระแก้วกับพระบรมมหาราชวังซึ่งสวยมาก สมัยนั้นไม่มีกล้องดิจิตอล ใช้สไลด์ ๔๐๐ ASA ซึ่งถ่ายยากนิดนึง แต่ก็ได้ภาพที่ประทับใจมาก...”
ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการถ่ายภาพส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ อีกทั้งภาพที่ได้เผยแพร่ออกไปทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักอาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร จึงสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)
ปัจจุบันท่านยังมีสุขภาพที่แข็งแรงและยังคงเดินทางไปถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาติดตามท่านไปถ่ายภาพตามที่ต่างๆ เป็นคณะ ท่านไม่เคยหวงวิชาแม้แต่น้อย จะให้แนะนำอย่างเป็นกันเอง ซึ่งในการเดินทางแต่ละทริปท่านจะรับคณะหนึ่งไม่เกิน ๑๐ คนเท่านั้น เพื่อสะดวกในการเดินทาง ท่านใดที่ชื่นชมผลงานของท่านหรืออยากได้คำแนะนำดีๆ ลองหาเวลาติดตามท่านไป สามารถติดตามข้อมูลได้หลายทาง จากเว็บไซด์ของสมาคมหรือชมรมถ่ายภาพ หรือสามารถพบท่านได้ที่งานการประกวดภาพถ่ายต่างๆ เพราะท่านมักจะไปทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินงานประกวดภาพถ่ายอยู่เสมอ
ท่านยังแนะว่า "ถ้าอยากเป็นช่างภาพที่ดี ต้องมีใจรัก ต้องหาความรู้ หากล้องและอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นต้องแพงมาก แต่ต้องศึกษาแต่ละจุดว่ามันใช้งานอย่างไร อ่านคู่มือให้ละเอียด ต้องหาเวลาและโอกาสที่จะออกไปถ่ายรูป สิ่งสำคัญที่สุด คือรูปที่ถ่ายมาอย่าเก็บไว้ดูคนเดียว ให้ผู้รู้ช่วยชี้แนะและวิจารณ์ว่ารูปนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้าถ่ายแสงธรรมชาติ ควรใช้ขาตั้งกล้อง ต้องขยันตื่นและไปเผื่อเวลา เพราะแสงช่วงเช้าและเย็นจะดีที่สุด เตรียมตัวและศึกษาสถานที่ที่จะไปถ่ายภาพว่าไปช่วงเวลาไหนดีที่สุด ต้องฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาสควรส่งภาพเข้าประกวดบ้าง เพราะรางวัลที่ได้มาจะเป็นกำลังใจให้ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ต่อไปอีก ทำให้การถ่ายภาพของเราจะสนุกขึ้นและได้แข่งขันกับตัวเองมากขึ้น...”