กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เปิดตำรายาโบราณหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 7 พ.ย. 2562
 
เรื่อง : วิกรม ฉันทรางกูร
ภาพ : กองบรรณาธิการ
 
เปิดตำรายาโบราณหลวงปู่ศุข
วัดปากคลองมะขามเฒ่า อริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 

  
   สุดยอดอมตะเถราจารย์ หมอยาสมุนไพรพื้นบ้าน แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
 
     วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยโบราณ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน ชาวบ้านจะเสาะหาสมุนไพรพื้นบ้านเท่าที่พอจะหาได้ มาบรรเทาอาการต่างๆ เหล่านั้น เมื่อไม่หายก็ต้องไปพึ่งหมอยา หรือที่ปัจุจบันเราเรียกกันว่า "แพทย์แผนไทย” ผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการปรุงยาสมุนไพร ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งสูตรยาบางตัวในยุคนั้นยังต้องใช้คาถากำกับยาในการรักษาโรคอีกด้วย
 
     วัดปากคลองมะขามเฒ่า หรือเดิมชื่อ วัดอู่ทอง ในสมัยนั้น มีความรุ่งเรืองความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยเป็นแหล่งศึกษาพุทธาคม ตำรายามีพระธรรมกรรมฐาน และการเล่นแร่แปรธาตุ อีกทั้งมีทำเลตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ไปมาสะดวก จึงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รักษาผู้ป่วยด้านการแพทย์พื้นบ้าน มีการต้มสมุนไพร เป่าพ่น จับเส้น ต่างๆ นาๆ จึงมีผู้รู้และผู้อยากศึกษา ได้เข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิชากันมาโดยตลอด ซึ่งหลวงปู่ศุข ท่านได้ถ่ายทอดการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคให้กับลูกศิษย์และบุคคลทั่วไป แต่ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน มีเพียงตำรับตำรายาจากผู้สืบทอดที่ได้เล่าเรียนจากหลวงปู่ศุข ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยหลวงปู่บอกกล่าวให้จดบ้าง จากตำราที่ท่านเขียนด้วยลายมือเองบ้าง ตำรายาหลวงปู่ศุข มีสรรพคุณแก้โรคได้หลายขนาน อาทิ ยาแก้โรคมะเร็ง โรคเก๊าท์ โรคเบาหวาน ยาแก้สารพัดพิษ ยาแก้ลมอัมพาตเหน็บชา อายุวัฒนะ เป็นต้น
 
 
     บรรพชนไทยฉลาด รู้จักใช้ธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า
     ตำรับยาของหลวงปู่ศุขมีหลายขนาน บางตำรับก็สูญหายไป บางตำรับก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาที่ได้สืบทอดภูมิปัญญาของท่านมีมากมาย ส่วนมากเป็นผู้ที่เข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา โดยมีหลวงปู่ศุขเป็นพระอุปัชฌาย์ อาทิ หลวงพ่อบุญญัง (อุปสมบทที่วัดหนองพญา ตำบลมะขามเฒ่า ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองน้อย ซึ่งท่านได้สงเคราะห์รักษาญาติโยมมิได้ขาด) อาจารย์กลับ แสงเขียว (อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาล เป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ในสมัยนั้น หลังหลวงปู่ศุขมรณภาพ หลายท่านได้ลาสิกขาบทมาใช้ชีวิตฆราวาสเป็นหมอยา) อาจารย์พร แสงเขียว (ลาสิกขาบทมาใช้ชีวิตฆราวาสเป็นหมอยา) อาจารย์เสร็จ ฉิมดี (ปัจจุบันนางมาลัย ฉิมดี บุตรสาว ได้นำตำราของพ่อไปปรุงยารักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กับชาวบ้าน) อาจารย์เนตร เพ่งกลิ่น อาจารย์ดำ ปรีชาจารย์ ขุนเธียรแพทย์เชื้ออภัย เป็นต้น ลูกศิษย์ที่ครอบครองตำราที่ได้จดบันทึกเป็นเอกสาร ที่เหลืออยู่นับได้มีทั้งสิ้นมีประมาณ ๑๑ ราย ผู้สืบทอดโดยตรงเสียชีวิตไปหมดแล้ว เป็นเพียงทายาทที่ครอบครองไว้เท่านั้น
 
     ส่วนศิษย์เอกหลวงปู่ศุข ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "หมอเทวดา” นั่นคือ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เจ้าฟ้าที่สืบทอดวิทยาคุณและคัมภีร์ยาในพระนาม "หมอพร” ที่ทรงใช้ชีวิตบั้นปลายดำเนินรอยตามหลวงปู่ศุข โดยเป็น "หมอ” ที่มีพระอัจฉริยภาพด้านสมุนไพรอย่างเอนกอนันต์ จนได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระบิดาแพทย์แผนไทย” หมอพรยังทรงรวบรวมและบันทึกสูตรยาต่างๆ ทั้งตำรายาแผนโบราณและแผนปัจจุบันที่ได้ทรงศึกษา เพิ่มเติมไว้ในสมุดข่อยฝีพระหัตถ์ ทรงตั้งชื่อตำราเล่มนี้ว่า "พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณะกรรม และปัจจุบันนะกรรม” ความผูกพันระหว่างอาจารย์กับศิษย์คู่นี้นั้นเป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว และเป็นที่น่าสังเกตุว่าหลวงปู่ศุขได้มรณภาพโดยโรคชรา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ (สิริอายุได้ ๗๖ ปี) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์อีกด้วย
 
 
     ปัจจุบันจังหวัดชัยนาท ได้อนุรักษ์สืบสานตำรายาสมุนไพรหลวงปู่ศุข โดยรวบรวมติดตามสูตรตำรับตำราเหล่านี้ จากบรรดาลูกศิษย์หลวงปู่ศุข ที่มีตำรายาสมุนไพรครอบครองอยู่ ทั้งใบข่อย ใบลาน สมุดตำรายาโดยได้อ่านและแปลตำรายาสมุนไพรจากภาษาขอม (หลวงปู่ศุขรอบรู้เรื่องภาษาขอมโบราณ) ภาษาไทยโบราณ ให้เป็นภาษาไทยปัจจุบันที่เข้าใจง่าย นำมารวบรวมไว้ในอาคารแสดงตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข ที่ทางจังหวัดจัดสร้างขึ้นพร้อมกับอาคารบริการนวดไทย ซึ่งได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้เข้าชม เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตำรายาสมุนไพร เป็นคลังปัญญาให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาอนุรักษ์ เรียนรู้และดูแลสุขภาพตนเอง โดยหันมาใช้ภูมิปัญญาไทย และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตพื้นถิ่น ซยังได้จัดงานมหกรรมตำรายาหลวงปู่ศุข และการนวดแผนไทยจังหวัดชัยนาท ขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
 
     หากใครได้ไปเยือนวัดมะขามเฒ่าแห่งนี้ ต้องไปศึกษาหาความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ได้ที่อาคารแสดงตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข และอย่าลืมแวะไปชมภาพเขียนสีน้ำมันเป็นรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มตัวถือไม้เท้า พร้อมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของกรมหลวงชุมพรฯ อันเป็นภาพเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์ ที่ทรงตั้งใจวาดถวายแด่หลวงปู่ศุข ในวาระที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าสร้างอุโบสถหลังใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นภาพที่หาชมได้ยาก เพราะในแต่ละปี ทางวัดจะเปิดให้ชมเพียงไม่กี่ครั้งเฉพาะในโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น
 
     จะหายหรือไม่ให้ทุกคนจงพึงระลึกอยู่เสมอว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฏแห่งกรรมไปได้
     ตัวอย่างบางส่วนจากตํารายาสมุนไพรหลวงปู่ศุข ที่รวบรวมสูตรยาสมุนไพรโบราณต่าง ๆ คัดมาพอเป็นสังเขปให้ได้พอเห็นภาพ ใครมีเวลาให้ไปลองหาอ่านได้ พิสูจน์แล้วว่าสัมฤทธิ์ผล มีแม้กระทั่งสูตรลดความอ้วนที่ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อยาราคาแพงมาใช้ ซึ่งท่านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง โดยปรับให้เข้ากับยุคสมัย อย่างในสูตรที่ให้นำบอระเพ็ดที่ตากจนแห้งดีแล้วมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งแท้ ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุทรา ใช้รับประทานครั้งละ ๓ เม็ด เวลาก่อนอาหารเช้า ทุกวันติดต่อกันประมาณ ๑ เดือน ความอ้วนจะค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ โดยไม่เสื่อมเสียสุขภาพและไม่เป็นการทรมานสังขารอีกด้วย มีสรรพคุณชะงัดนักแลฯ ในยุคสมัยนี้ท่านสามารถจะซื้อแบบผงที่บดละเอียดมาแล้ว หรือซื้อแบบที่เป็นแคปซูลมาใช้แทนก็ได้ สูตรยากัดฝ้าก็มี ท่านว่าเอาใบขี้เหล็กอ่อน ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ข้าวบูด ๑ เกลือเล็กน้อย ๑ ตำพอก กัดฝ้า เป็นต้น
 
• ยาแก้โรคมะเร็ง
     ขนานที่ ๑ แสมทั้ง ๒ แก่นขี้เหล็ก ขันทองพยาบาทกำแพงเจ็ด รากพุงดอ รากสะแก รากขนุนสําปะลอ รากสาเก รากกรวย กำมะถันทั้ง ๒ ชุมเห็ดเทศ ทุกอย่างที่กล่าวมาหนักสิ่งละ ๒ บาท รวมกับ ทองพันชั่งหนักสิ่งละ ๑๒ บาท ยา ๑๒ สิ่งนี้ ต้มกินก่อนอาหารเช้า เย็น ๗ วันหาย
 
• ยาแก้ความดันสูงความดันต่ำ
     ต้นเหงือกปลาหมอ ๑ โด่ไม่รู้ล้ม ๑ ต้นงวงช้าง ๑ กาฝากมะม่วงกะล่อน ๑ ยา ๔ อย่างนี้รวมกันต้มกินเช้า เย็น หายแล
 
• ยาแก้ลมอัมพาตเหน็บชา
     เอาการบูร ๑ ตำลึง เอาหัวไพล ๑๐ บาท ว่านนางคำ ๑๐ ตําลึง ยางวงช้างทั้ง ๕ กำมือ ๑ รวมตำคั้นเอาน้ำได้เท่าใด เอาน้ำส้มสายชูใส่เท่านั้น เมื่อทารินใส่ถ้วยแล้วเอาดินประสิวใส่หยิบ ๑ แล้วทาหายแล
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)