เรื่อง : มะยาเต็ง สาเมาะ
ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
วายังกูเละ หนังตะลุงมลายู
สื่อพื้นบ้าน สามจังหวัดชายแดนใต้
ค่ำคืน อันสนุกสนานบันเทิงใจ ของจังหวัดยะลา หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เต็มไปด้วยความครึกครื้น ชาวยะลา และชาวจังหวัดข้างเคียง อย่างชาวปัตตานี นราธิวาส และพี่น้องชาวมาเลเซีย ต่างตั้งตารอคอย การได้มาร่วมงาน "มลายูเดย์” ณ สนามช้างเผือกเทศบาลนครยะลา งานที่รวบรวมกิจกรรมศิลปวัฒธรรมมลายูไว้อย่างครบครัน
และในค่ำคืนแห่งการออกร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ อย่างครึกครื้นแน่นขนัดนั้น ตรงมุมเล็กๆ ที่สนามหญ้าเงียบสงบห่างไกลผู้คน มีเวทียกพื้นหลังย่อมๆจัดสร้างขึ้นอย่างลำลองไม่น่าสนใจนัก หากพลันที่ป้ายไวนิลหน้าเวทีถูกขึงกางขึ้นตึงเต็มผืน จนมองเห็นได้ชัดเจนว่ากลางเวทีเป็นจอหนังตะลุงขาวสะอาดและมีตัวหนังสือด้านบนอ่านออกได้ว่า .. หนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง .. เท่านั้น ผู้คนจำนวนมากทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ผู้ชาย ผู้หญิงในงานก็ค่อยๆ ทยอยกันมาที่หน้าเวที คราวละคนสองคน จนผ่านเวลาไปสักชั่วโมงผู้คนก็มานั่งรอกันจนใกล้เต็มพื้นที่สนามหญ้ากว้างขวางหน้าเวที ที่เคยว่างเปล่ากันแล้ว
และพลันสิ้นเสียงละหมาดภาคกลางคืนที่ลอยลมมาไกลๆ ภาพหนังตะลุงมลายูภาพแรก ภาพฆูนุง ก็ปรากฏขึ้นกลางจอหนังเป็นสัญญานบอกผู้คนที่มาเฝ้ารอชมว่า การแสดงใกล้จะเริ่มต้นแล้วอย่างแน่นอน ผู้คนจากหลายๆ เวทีการแสดง จึงค่อยๆ ย้ายตัวเองมานั่งรอที่สนามหญ้าจนมากมายเต็มพื้นที่ และแล้วเสียงดนตรีปี่กลองก็เริ่มประโคมในจังหวะและท่วงทำนองอันกระตือรือร้นน่าสนใจ เป็นสัญญานแห่งการโหมโรง เพื่อบอกกับทุกผู้คนว่า ณ บัดนี้ การแสดงหนังตะลุงมลายู วายังกูเละ คณะหนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง ขวัญใจของชาวเมืองยะลา จะเริ่มต้นการแสดงขึ้นแล้ว
หนังตะลุง วายังกูเละ คืออะไร
วายังกูเละ คือ หนังตะลุงของชาวไทยมุสลิม เป็นศิลปะการเล่นเงาของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า วายังกูเละ ได้รับแบบอย่างมาจากอินโดนีเซียโดยผ่านทางคาบสมุทรมลายู ส่วนอินโดนีเซียรับแบบอย่างมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง อินเดียเรียกศิลปะการแสดงประเภทนี้ว่า "ฉายนาฏกะ" และวรรณกรรมที่ใช้แสดงก็คือ มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตะ กล่าวกันว่า หนังชวาเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท รับสั่งให้อพยพครอบครัวชาวปาตานี เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณคลองมหานาค และเขตบริเวณหน้าวัดชนะสงคราม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กวีในราชสำนักได้ถ่ายทอดภาพพจน์ตัวหนังชวาออกมาเป็นอักษรครั้งแรก ดังปรากฎในหนังสือขุนช้างขุนแผน ตอนทำศพนางวันทอง ความว่า
เหล่าเจ้าพวกหนังแขกแทรกเข้ามา พิศดูหน้าตามันป๋อหลอ
รูปร่างโสมมผมหยิกงอ จมูกโด่งโก่งคอเหมือนเปรตยืน
จากบทเสภาข้างต้น เราได้รับความรู้อะไรบ้าง ข้อแรก ผู้ประพันธ์เสภาตอนนี้ คือพระสุนทรโวหาร (ภู่) ข้อต่อมา สามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า สุนทรภู่ คงนำเอาประสบการณ์จากการได้ชมหนังชวาในงานพระศพสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ มาประพันธ์ ทั้งนี้เนื่องจากพงศาวดารเมืองสงขลา กล่าวว่าในงานถวายพระเพลิงพระศพครั้งนี้ พระยาสงขลา ได้นำพระยาตานี พระยายิริง (ยะหริ่ง) พระยาสายบุรี พระยายาลอ พระยาระแงะ และพระยารามันห์ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว น่าจะมีคนใดคนหนึ่งนำหนังชวาเข้าไปแสดงถวาย หรือไม่ก็อาจจะได้ชมหลังจากที่อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นได้
ในสมัยเดียวกันนี้พระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้กล่าวถึงหนังชวาไว้ในหนังสือบทละครเรื่อง ระเด่นลันได ของท่านว่า....
นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์ ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
เจียรระบาดเสมียนละว้ามาแต่ลาว ดูราวหนังแขกเมื่อแรกมี
จากหนังสืองานวิจัย เรื่องวายังกูเละ ของอาจารย์ปองทิพย์ หนูหอม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูยะลา หรือ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยภัฏ และมีการเล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า วายังกูเละ เข้ามาในปัตตานีในยุคแรกโดยมีชาวอินโดนีเซียได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นได้แพร่หลายสืบทอดการเล่นวายังกูเละในรูปแบบของอินโดนีเซีย ที่เรียกกันว่า วายังมลายู หรือ วายังยาวอ (หนังชวา) จวบจนเวลาล่วงผ่านไปร่วม ๒๐๐ ปี การแสดงได้พัฒนารูปแบบกลายมาเป็นวายังกูเละในแบบฉบับของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้
ลักษณะและธรรมเนียม
ธรรมเนียมนิยมหรือสิ่งที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในการแสดงวายังกูเละ นั่นคือ เนื่องจากประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๘๐ % นั้นเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นเวลาในการที่จะแสดงมหรสพหรือสิ่งบันเทิงและกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ จึงต้องรอให้พ้นเวลา "ละหมาด" (นมัสการพระอัลลอฮ์) ซึ่งใน ๒๔ ซม. จะมีอยู่ ๕ วักตู (เวลา) ในภาคกลางวัน ๒ วักตู และในภาคกลางคืนนั้น ช่วงระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน จะมี ๒ วักตู (เวลา) ละหมาดไปจนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. จะไม่ให้มีกิจกรรมบันเทิงใดๆ ดังนั้นเวลาเริ่มทำการแสดงวายังกูเละ จะเริ่มการแสดงประมาณ ๒๑.๐๐ น. โดยประมาณ
ลำดับขั้นตอนในการแสดง
ปูเงาะห์ อาเจาะ (แตกแผง) คือ การรื้อรูปหนังจากแผงมาปักจัดเตรียมใว้เพื่อสะดวกเวลาโต๊ะดาแล (นายหนัง) ต้องการนำออกมาแสดง แล้วจะปักรูป ฆูนุง ไว้กลางจอ เพื่อให้ผู้ชมได้รู้ว่าใกล้ถึงเวลาทำการแสดงแล้ว
บูกอปาโงง (เบิกโรง) การทำพิธีระลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยจะประกอบไปด้วย ๑. หมากพลู ๓ คำ ๒. ข้าวสาร (ข้าวเจ้า) ๑ กำ ๓. ด้ายดิบ ๑ เส้น ๔. เทียน ๗ เล่ม ๕. เงิน ๑๒ บาท (ปัจจุบัน ๓๕๐ บาท) ๖. น้ำเย็น ๑ แก้ว
โหมโรง บรรเลงเครื่องดนตรีเป็นการ "ตาโบ๊ะห์" (โหมโรง) โดยการเล่นเครื่องดนตรีล้วนๆ จะใช้เพลงทุกเพลงที่จะใช้ในการแสดงวายังกูเละในแต่ละคืน อยู่ระยะหนึ่งประมาณ ๓๐ นาที เพื่อเรียกคนดู สำหรับจอหนังจะไม่ปล่อยให้ว่าง โต๊ะดาแลสมัยก่อน จะคงรูป ฆูนุง (ภูเขา) ปักใว้กลางจอเสมอ
เริ่มต้นการแสดง การแสดงจะเริ่มเชิดด้วยการออกฤาษี จากนั้นสมัยก่อนจะเชิด "แดวอ ปาเนาะห์" คือเอารูปเทวดาฝ่ายธรรมะ และเทวดาฝ่ายอธรรม ออกมารบกัน แต่ขั้นตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา และในช่วง หลังจากนั้น จะเป็นการออกฤาษี แล้วออก "อาเนาะกือรอแบและห์" (ลูกลิง) มารบกัน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ย้อนหลังไปประมาณ ๔๐ กว่าปี จะมีแต่การออกฤาษี กับนายพราน หรือ "ฆอแด เมาะรีมา" (ตีเสือ)
จากนั้นจะออกตัว "มหาราชาวนอ" (ทศกัณฐ์) ออกมาชมเมือง ต่อด้วย "ศรีรามอ" และตามด้วยเหล่า "เสนา" (ตัวตลก) แล้วดำเนินเรื่องต่อไป ในช่วงที่กล่าวมาตั้งแต่ ตาโบ๊ะห์ จนกระทั่งตัวตลกออกมาเจรจากันนั้นเป็นหน้าที่ของ "ดาแล มูดอ" (ลูกศิษย์ของโต๊ะดาแลคณะนั้นๆ)
ต่อจากนั้นจึงจะเป็นหน้าที่ของดาแลทูวอ (นายโรง) แสดงเรื่องต่อไปเรื่อยๆ จนจบ โดยการออกรูปฤาษีอีกครั้งหนึ่งพร้อมบอกจบการแสดง
องค์ประกอบที่ใช้ในการแสดงวายังกูเละ
ส่วนประกอบต่างๆ สำหรับการแสดง วายังกูเละ ได้แก่ ดาแล นายหนังจะเป็นผู้เชิดรูปตัววายังกูเละ พร้อมทั้งเล่าเรื่องกำกับระหว่างการบรรเลงเครื่องดนตรี ประกอบด้วย ตัวนายโรง ดาแล ทูวอ และผู้ช่วย หรือลูกศิษย์นายโรง ดาแล มูดอ
รูปวายัง (ตัวหนังตะลุง) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดง ซึ่งพอจะแบ่งรูปหนังออกเป็น ๔ ประเภท คือ ๑. รูปที่ได้รับอิทธิพลจากตัวหนังชวา เช่น รูปเทวดา ๒. รูปที่เขียนขึ้นเพื่อใช้แสดงเรื่องโบราณ เช่น รูปศรีรามอ หนุแม มหาราชาวนอ (ทศกัณฐ์) เป็นต้น ๓. รูปที่มาจากตัวหนังตะลุงไทย และ ๔. รูปตัวละครพื้นบ้าน
เครื่องดนตรี ที่ใช้ในการแสดงวายังกูเละ จะมี ๑. ซูแน (ปี่) ๑ เลา ๒. ฆือแน (กลองแขก) ๑ คู่ ๓. ฆือดุ (กลองสองหน้า) ๑ คู่ ๔. ฆือดอเมาะ(ทับ) ๑ คู่ ๕. ตาเวาะ(ฆ้อง) ๑ คู่ ๖. จาแน (โหม่ง) ๑ คู่ ๗. อาเนาะอาแย (ฉิ่งหรือฉาบ) ๑ คู่ ๘. ลือโพะ (ไม้เคาะจังหวะ) ๑ อัน
ซูแน หรือ ซูนา ตามภาษาถิ่น หรือปี่ ในภาษาไทย ปี่ที่ใช้แสดงวายังกูเละ จะใช้ปี่ชวา ซึ่งการแสดงส่วนใหญ่จังหวัดชายแดนใต้จะใช้ปี่ชวา อย่างเช่น การแสดง ซีละ มะโย่ง เป็นต้น
ฆือแน (กลองแขก) เป็นเครื่องดนตรี ที่ใช้ในการแสดงพื้นบ้านอีกหลายๆ แขนงในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่า ซีละ มะโย่ง มโนราแขก ร็องเง็ง มะตือรี และใช้ตีประกอบเพลง การแสดง ลือบาดีเก (ใช้แทนรำมะนาหรือบานอ) ฆือแน จะใช้เป็นคู่ ลูกหนึ่งเสียงสูงและอีกลูกหนึ่งเสียงต่ำ ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้าง แต่ถ้าใช้เป็นครื่องดนตรีประกอบการแสดง ซีละ จะตีด้วยไม้ข้างที่กว้างและตีด้วยฝ่ามือข้างที่แคบ ฆือแน เป็นกลอง ๒ หน้า หน้าหนึ่งกว้าง อีกหน้าหนึ่งแคบ ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หน้ากลองขึงด้วยหนังวัวข้างที่กว้าง และขึงด้วยหนังแกะหรือแพะในหน้าอีกข้างหนึ่ง ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่างๆ แต่ต่อมาใช้สายเอ็นแทนหวาย
ฆือดู (กลองสองหน้า) ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขึ้นด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ทั้งสองหน้า ตีด้วยไม้ตีคู่ สำหรับการแสดงวายังกูเละจะใช้เป็นคู่ กลองชนิดนี้มีใช้ในหนังตะลุงไทย และในการแสดงโนราในภาคใต้ของไทยเรียกว่า กลองตุ๊ก ฆือดอเมาะ (ทับ) เป็นกลองหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากหนังถึงคอทับและมีส่วนท้ายยื่นออกไปเป็นรูปปลายแบนเป็นดอกลำโพง มี ๒ ใบ เสียงสูงต่ำ ใช้ตีสอดสลับกัน
ตาเวาะ (ฆ้องคู่) เป็นโลหะผสม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๐-๗๕ ซม. หน้าฆ้องเป็นปุ่มสำหรับตี สูงประมาณ ๕ ซม. ฆ้องแต่ละใบมีรู ๒ รู สำหรับร้อยเชือกใว้ผูกกับราวไม้ไขว้ให้หันหน้าฆ้องเข้าหากัน ห่างกันพอจะเหวี่ยงไม้ตีซ้ายขวาได้
จาแน (โหม่ง) เป็นโลหะผสม มีสองใบ ใบหนึ่งเสียงสูง ใบหนึ่งเสียงต่ำ ใช้ตีด้วยไม้หุ้มนวม อาเนาะอาแย (ฉิ่งฉาบ) ในด้านภาษา จะใช้ภาษามาลายูในการแสดง จังหวะเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง สำหรับรูปหนังจะใช้รูปหน้าข้าง ซึ่งหนังตะลุงใต้จะใช้รูปหน้าเต็ม จะมีเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของวายังกูเละในปลีกย่อยต่างๆ
ความผูกพันของการแสดงวายังกูเละกับวิถีชีวิตคนใต้
วายังกูเละเป็นการแสดงที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนมลายูในพื้นที่เป็นอย่างมาก เฉกเช่นเดียวกับหนังตะลุงของชาวภาคใต้ในพุทธศาสนา เพราะวายังกูเละ ก็คือ หนังตะลุง เป็นการแสดงที่เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก วัฒนธรรมพื้นถิ่น แนบชิดสนิทสนมไปกับความเป็นพื้นบ้าน เข้าไปอยู่ในจิตใจของชาวบ้านยิ่งกว่าการแสดงชนิดใดๆ ความแตกต่างกันระหว่าง หนังตะลุง กับวายังกูเละ มีเพียงไม่กี่ประการ คือ ภาษาที่ใช้เป็นสื่อ วายังกูเละ ใช้ภาษามลายูในการแสดง จังหวะ และ ท่วงทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงจะหนักไปในทางเพลงมลายูมากกว่า และตัวหนังของวายังกูเละมีตัวหนังชวา ซึ่งเป็นตัวหนังที่ใช้รูปหน้าด้านข้าง ไม่หันหน้าตรงแบบตัวหนังไทย และหน้าตาดูไม่เหมือนหน้าตาของมนุษย์อันเป็นไปตามหลักศาสนา
วายังกูเละ จึงถูกใช้เป็นเป็นสื่อในการเผยแพร่คุณธรรมและจริยธรรม ให้กับสังคมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เพราะว่าวายังกูเละ เข้าถึงและเป็นที่ยอมรับของประชาชน ด้วยบุคลิกของตัวตลกทุกตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนธรรมดาๆ และมีความเป็นบ้านๆ เรื่องตลกแต่ละเรื่องที่ถูกนำมาใช้แสดงเป็นเหตุการณ์กลางๆ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นกับทุกครอบครัวในสังคม มีการพูดโกหก อวดเก่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่รู้จริง ซึ่งคนในชุมชนก็จะล้อเลียนเป็น สามะ หรือเรียก แบมะ ซึ่งเป็นตัวตลกที่มีนิสัยและบุคลิกดังที่กล่าวมาข้างต้น
เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง ที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและ เศรษฐกิจทุกวันนี้ มีส่วนทำให้คณะวายังกูเละ ลดจำนวนลงไปเป็นอันมาก จนเหลืออยู่เพียงสองคณะในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ วายังกูเละ ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การที่วายังกูเละ ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นับเป็นกำลังใจสำคัญให้กับคณะนักแสดง ยังคงมุ่งมั่นสานต่อการแสดงพื้นบ้านมลายูของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ในยุคที่สื่อออนไลน์ โอบล้อมสื่อพื้นบ้านอย่างประชิด