กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 

ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.จัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติปั้นศิลปินรุ่นใหม่ พัฒนางานศิลป์ถิ่นมรดกโลก

วันที่ 6 ก.พ. 2561

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จัดกิจกรรมโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ : กิจกรรมศิลปินแห่งชาติสัญจร "สอนศิลป์ถิ่นมรดกโลก” ระหว่างวันที่ ๓๐-๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

(๓๐ ม.ค. ๖๑) นายประดิษฐ์ โปซิว รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานพิธีเปิดกล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ : กิจกรรมศิลปินแห่งชาติสัญจร มาอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ เป็นโครงการที่สำคัญที่ทุกคนจะได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็น "อัครศิลปิน” ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางศิลปะหลายสาขา ทรงให้การอุปถัมภ์งานศิลปวัฒนธรรมไทยในทุกแขนง และทรงเห็นความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมในการพัฒนาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะขององค์ "อัครศิลปิน” ให้แผ่ไพศาล ให้ประชาชนชาวไทยได้เจริญตามรอยพระยุคลบาทสืบสานพระบรมราชปณิธานในการอนุรักษ์ ถ่ายทอด สืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติฯ ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่เยาวชน และผู้ที่สนใจในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมองการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีองค์ความรู้ และนำประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมของประเทศให้รุ่งเรืองสืบไป และขอบคุณ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา บริษัทแคนนอน มาเก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ที่ร่วมกันสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จและมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ด้านว่าที่ร้อยตรี พิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่สอดคล้องตามคำขวัญประจำจังหวัด ที่ว่า "ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา” อันเป็นความภูมิใจของทุกคนในจังหวัด ซึ่งในกิจกรรมนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ศิลปินของจังหวัด รวมถึงคณะครูอาจารย์ เยาวชนและคนในพระนครศรีอยุธยา จะได้รับความรู้ และต่อยอดพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในทุกแขนง โดยท่านศิลปินแห่งชาติในทุกสาขา และเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะความสามารถในด้านศิลปะของตนให้ดียิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ และร่วมสืบสานงานศิลปะและ วัฒนธรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ยั่งยืนสืบไป

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ดร.เกษม บำรุงเวช เปิดเผยว่า โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ : ศิลปินแห่งชาติสัญจร "สอนศิลป์ถิ่นมรดกโลก” นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอด และเผยแพร่ผลงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ของศิลปินแห่งชาติ ให้กับครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนผู้สนใจ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐-๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

โครงการถ่ายทอดงานศิลป์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ ๓ สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนทั้งสิ้น ๒๕ ท่าน มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ และวัฒนธรรม โดยมีครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ในพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง สนใจเข้าร่วมกิจกรรม กว่า ๘๐๐ คน

กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ "อัครศิลปิน” พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ "วิศิษฏศิลปิน” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงผลงานของศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในวันแรกจะได้ชมการสร้างสรรค์งานศิลปะพร้อมกันของศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา ในช่วง "ศิลป์ กวี คีตา” แสดงให้เห็นถึงการสร้างงานศิลป์ที่สอดประสานกัน ในระหว่างที่ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นำโดยแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ กำลังขับร้องบทเพลงพื้นบ้านอยู่ ร่วมด้วยธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วยเสียงขลุ่ยขั้นเทพ ในขณะที่ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประกอบด้วย กมล ทัศนาญชลี ธงชัย รักปทุม ศ.วิโชค มุกดามณี ได้วาดลวดลายสร้างงานจิตรกรรมตามจินตนาการที่ได้รับจากบทเพลง และในส่วนศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประกอบด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สถาพร ศรีสัจจัง ชมัยภร บางคมบาง ไพวรินทร์ ขาวงาม ได้เขียนบทกวีและร่ายบทกลอนไปพร้อมๆ กัน ปิดท้ายด้วยการขับร้องบทเพลงรักกันไว้เถิด โดยนคร ถนอมทรัพย์ เป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจและความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี

หลังจากชื่นชมการแสดงการสร้างสรรค์งานศิลป์โดยศิลปินแห่งชาติ แล้ว ผู้เข้าอบรมจะแยกย้ายกันเข้ากลุ่มย่อยในฐานศิลปะ จำนวน ๑๑ ฐาน เพื่อเรียนรู้งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ อย่างเข้มข้น ประกอบด้วย ฐานครูศิลปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูศิลปะกับศิลปินแห่งชาติ ในส่วนนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป จะได้เข้ารับการอบรมดังนี้ ฐาน ๑ เทคนิคจิตรกรรม ฐาน ๒ เทคนิคสร้างสรรค์สื่อผสม ฐาน ๓ เทคนิคภาพพิมพ์ ฐาน ๔ เทคนิคประติมากรรม ฐาน ๕ เทคนิคศิลปะผ่านเลนส์ ฐาน ๖ การสร้างงานวรรณศิลป์ ฐานศิลปะ ๗ การสร้างงานศิลปะการแสดง เทคนิคการแต่งเพลง และการขับร้องเพลงลูกทุ่ง, ดนตรีไทยสากล ฐาน ๘ นาฏศิลป์ ฐาน ๙ การแสดงพื้นบ้าน และ ฐานศิลปะ ที่ ๑๐ สถาปัตยกรรมศิลป์

นอกจากความรู้ในงานศิลปะที่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้รับจากศิลปินแห่งชาติ ตามสาขาที่สนใจแล้ว ยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนอีกด้วย โดยในวันสุดท้ายของการอบรม ศิลปินแห่งชาติ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ จะร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผลงานศิลปะที่ดีเด่น และทำพิธีมอบเกียรติบัตรและรางวัลดีเด่น ให้แก่เยาวชนและทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมในฐานกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างกำลังใจและยกย่องเยาวชนที่ในอนาคตอาจมีโอกาสได้สร้างสรรค์งานศิลปะที่ทรงคุณค่าและเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงต่อไป

ลิขสิทธิ์ของ กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ๑๔ ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐ 
E-mail : culturalfund@culture.mail.go.th โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๗ ๐๐๑๓-๑๖ ต่อ ๑๔๐๔-๕