กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> ICH
“นวดไทย” มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๖)

วันที่ 6 ธ.ค. 2562
 
"นวดไทย”
มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๖)
 
>>>องค์ความรู้ที่ใช้ในการนวดไทย

ตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕
 
     องค์ความรู้ที่นำมาใช้ในการนวดไทย นอกจากจะอ้างอิงคัมภีร์แพทย์ดั้งเดิมซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญามาแต่ครั้งพุทธกาลและตำราดั้งเดิมของการแพทย์แผนไทย ที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ในวงการนวดไทยยังมีการเชื่อมโยงและนำทฤษฎีพื้นฐานที่สามารถอธิบายความเจ็บป่วยและกำหนดหลักการและวิธีการบำบัดด้วยการนวดไทย มีด้วยกัน ๒ ทฤษฎี คือ
     ๑.ทฤษฎีธาตุ คือ ทฤษฎีว่าด้วยธาตุ ๔ เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายองค์ประกอบพื้นฐานของสรรพสิ่ง ตามหลักพุทธศาสตร์ แม้ว่าธาตุที่เป็นเหตุของความเจ็บป่วยที่ใช้การนวดมากที่สุด คือ ธาตุลม แต่การนวด ยังเกี่ยวข้องกับธาตุอื่น ๆ ที่เหลือ คือ ดิน น้ำ และไฟ ด้วย
     ๒.ทฤษฎีเส้นประธาน คือ ทฤษฎีที่อธิบายทางเดินหลักของลมในร่างกาย เชื่อกันว่าร่างกายคนเรามีเส้นอยู่ทั้งหมด ๗๒,๐๐๐ เส้น แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง ๑๐ เส้น ซึ่งเส้นเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นออกมาจากบริเวณโดยรอบสะดือ มีทางเดินของเส้นที่แน่นอนทอดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นทางเดินของลมที่แล่นภายในร่างกาย ซึ่งสามารถรับรู้ได้เมื่อกดจุดที่สัมพันธ์กับเส้นประธานนั้น ๆ นอกจากเส้นและลมแล้ว ยังมีจุดที่เป็นตำแหน่งบนร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับเส้น เมื่อกดหรือกระตุ้นถูกจุดจะเกิดกระแสความรู้สึกแล่นของลมไปตามแนวเส้นนั้นได้ เส้นประธานทั้ง ๑๐ ได้แก่
     ๑) เส้นอิทา เป็นเส้นประธานที่เริ่มจากบริเวณสะดือ แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า ลงไปตามต้นขาข้างซ้าย จนถึงหัวเข่า แล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านซ้าย แล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะ แล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านซ้าย
     ๒) เส้นปิงคลา เป็นเส้นประธานที่มีทางเดินเริ่มจากบริเวณสะดือ แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า ลงไปตามต้นขาข้างขวาจนถึงหัวเข่า แล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านขวา แล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะ แล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านขวา
     ๓) เส้นสุมนา เริ่มจากบริเวณสะดือ แล้วแล่นตรงขึ้นไปในทรวงอก ขั้วหัวใจ ขึ้นไปตามลำคอ สิ้นสุดที่โคนลิ้น
     ๔) เส้นกาลทารี เริ่มจากบริเวณสะดือ แล้วแยกออกเป็น ๔ เส้น โดย ๒ เส้นขึ้นไปตามสีข้าง ต้นแขน ต้นคอ ศีรษะ แล้ววกกลับลงมาตามแนวหลังแขนทั้ง ๒ ข้าง จากนั้นแยกออกไปตามนิ้วมือทั้ง ๒ ข้าง อีก ๒ เส้น ลงไปตามหน้าแข้งจนถึงข้อเท้า แล้วแตกออกไปตามนิ้วเท้าทั้ง ๒ ข้าง
     ๕) เส้นสหัศรังสี เริ่มจากบริเวณสะดือ ลงไปต้นขาและแข้งด้านใน ตลอดไปจนถึงฝ่าเท้า ผ่านต้นนิ้วเท้าซ้ายทั้ง ๕ นิ้ว แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างซ้าย ไปเต้านมซ้าย เข้าไปใต้คาง ลอดขากรรไกรข้างซ้าย ไปสิ้นสุดที่ตาข้างซ้าย
     ๖) เส้นทวารี เริ่มจากบริเวณสะดือ ลงไปต้นขาและแข้งด้านใน ตลอดไปจนถึงฝ่าเท้า ผ่านต้นนิ้วเท้าขวาทั้ง ๕ นิ้ว แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างขวา ไปเต้านมขวา เข้าไปใต้คาง ลอดขากรรไกรข้างขวา ไปสิ้นสุดที่ตาข้างขวา
     ๗) เส้นจันทะภูสัง เริ่มจากบริเวณสะดือ ขึ้นไปราวนมข้างซ้าย ผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูข้างซ้าย
     ๘) เส้นรุชำ ที่เริ่มจากบริเวณสะดือ ขึ้นไปราวนมข้างขวา ผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูขวา
     ๙) เส้นสุขุมัง เริ่มจากบริเวณสะดือ ไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก
     ๑๐) เส้นสิกขินี เริ่มจากบริเวณสะดือ ไปที่หัวเหน่า ทวารเบา และสิ้นสุดที่อวัยวะเพศ
     โดยสรุป องค์ความรู้ของการนวดไทย จะประกอบไปด้วย
๑.ความรู้จากประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่อยู่ในตัวหมอ
๒.ความรู้ที่มาจากการถอดบทเรียนประสบการณ์แล้วถ่ายทอดให้คนรุ่นถัดไป
๓.ความรู้ในคัมภีร์ตำราที่มีการบันทึกไว้
๔.ความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามการแพทย์และข้ามวัฒนธรรม และ
๕.ความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตผู้รู้ ซึ่งเข้าถึงสภาวะต่างๆ ตามที่เป็นจริง นั่นเอง
 
 
ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๑
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)