กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> ICH
“นวดไทย” มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๔)

วันที่ 22 พ.ย. 2562
 
"นวดไทย”
มรดกวัฒนธรรมจากพุทธกาล ต้นธารแห่งความรู้ สู่มรดกภูมิปัญญา... (ตอน ๔)
 
>>>ความเป็นมาของการนวดในประเทศไทย
 
    ตามที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้ว เชื่อได้ว่า การนวดไทย เป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ส่งพระสมณทูต เข้ามาประกาศพระธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ และจากการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่มาพร้อมกับศาสนาพุทธและพราหมณ์ จึงส่งผลต่อแบบแผนและการแพทย์ในดินแดนสุวรรณภูมิ
   

 
    หลักฐานเกี่ยวกับการนวดที่พอพบเห็นได้ในประเทศไทย ในยุคทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๕-๑๕) เช่น ที่ทับหลังของปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นภาพสลักหินนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีพระลักษมีและพระภูมีเทวีถวายการนวด และภาพสลักหินนารายณ์บรรทมสินธุ์ ข้างลำธาร บ้านแข้ด่อน อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีพระลักษมีถวายการนวด เป็นต้น แม้หลักฐานการนวดในช่วงเริ่มต้นจะมีไม่มาก แต่พบเห็นการนวดอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในระดับชาวบ้านและชนชั้นปกครองตามแว่นแคว้นในดินแดนสุวรรณภูมิ
 
 
     หลักฐานที่พบแสดงเห็นได้อย่างดีเกี่ยวกับการนวด เริ่มในยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ในทำเนียบศักดินาข้าราชการทหารและพลเรือน ที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ระบุมีกรมที่เกี่ยวข้อง คือ กรมแพทยา โรงพระโอสถ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอวรรณโรค โดยเฉพาะกรมหมอนวด ระบุว่า มีหลวงราชรักษาเป็นเจ้ากรมหมอนวดขวา หลวงราโชเป็นเจ้ากรมหมอดนวดซ้าย ทั้งยังมีปลัดกรมทั้งขวาและซ้าย และมีหมอที่มีบรรดาศักดิ์รองลงมาเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของหมอนวดที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
 
     ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบว่ามีการรวบรวมตำรายาไว้หลายขนาน มีการจัดพิมพ์และใช้ชื่อว่า "ตำราพระโอสถพระนารายณ์” มีตำรับยาที่ใช้สำหรับนวดหลายขนาด เช่น พระอังคบพระเส้น ทำให้เส้นที่ตึงหย่อนลง ยาทาพระเส้น ทาแก้เส้นที่ผิดปกติ แก้ลมอัมพาต แก้เมื่อยขบ เป็นต้น ขี้ผึ้งบี้พระเส้น แก้เส้นที่แข็งให้หย่อนลง และยังพบหลักฐานจากบันทึกของ มงซิเออร์ เดอลาลูแบร์ หรือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ มีการกล่าวถึงการนวดไว้ด้วยว่า "ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มให้ยืดเส้นยืดสาย โดยมีผู้ชำนาญในทางนี้ขึ้นไปแล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่า หญิงมีครรภ์มักใช้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย” คราถึงเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลาย ในครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ เอกสาร ตำรับตำราอย่างต่างๆ ถูกเผาทำลายและสูญหายไปจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้การสืบทอดความรู้ทางการแพทย์หยุดชะงัก

     เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สรรพวิชาวิทยาการต่างๆ จะได้รับการฟื้นฟู และมีการจารึกแสดงให้เห็นเป็นหลักฐาน เช่น การรวบรวมตำรายา การจารึกอักษรและภาพฤๅษีดัดตนบนแผ่นหิน บอกวิธีการดัดและแก้โรคตามท่าทางที่แสดง และยังมีการแสดงรูปปั้นฤๅษีดัดตน ท่าทางต่างๆ ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบัน...

 
 
 
ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๑
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)