กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.จุดพลัง “ผ้าไทย” พลิกโฉมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ทุนวัฒนธรรมยุคดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เสริมศักยภาพทอผ้าพื้นเมือง พัฒนาให้ทันสมัยด้วยนวัตกรรม พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่สากล

วันที่ 28 พ.ค. 2568

     วันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ห้องประชุมใหญ่ชั้น ๗ อาคารแกรนด์พาลาสโซ (Grand Palazzo) โรงแรม เดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ (The Palazzo Bangkok Hotel) นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ : สืบสาน ส่งเสริม พัฒนาผ้าไทยพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยพื้นเมือง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น ๗ อาคาร Grand Palazzo โรงแรม The Palazzo Bangkok โดยมีนายอิสระ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า ๑๐๐ คน ประกอบด้วย คณะผู้บริหารและบุคลากรจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งผู้แทนจากแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมด้านผ้าไทยพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ตลอดจนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้อง
 
      นางสาวลิปิการ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในด้านการทอผ้า (weaving) ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเภทงานช่างฝีมือดั้งเดิม (traditional craftsmanship) ให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค มีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ อีกทั้งการส่งเสริม ”ผ้าไทย" ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนตอบสนองภารกิจของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเภทช่างฝีมือด้านการทอผ้า ทั้งนี้ เส้นใย (textile fiber) ที่นำมาถักทอนำไปใช้ในการนุ่งห่มซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันที่หลากหลาย เช่น กระเป๋า ผ้าม่าน ฯลฯ อันเป็นทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มเติมรายได้ของครอบครัว
 
      นางสาวลิปิการ์ กล่าวต่ออีกว่า การประชุมดังกล่าวได้จัดกิจกรรมที่ให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้าไปช่วยปรับปรุงผ้าทอพื้นเมืองให้มีคุณค่าเพิ่ม พร้อมทั้งใช้สื่อออนไลน์ (social media) เพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างตลาด ตลอดจนเผยแพร่ชื่อเสียงของแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน อันเป็นการสร้างงานและรายได้ เติมเต็มกำลังใจ (encouragement) และความภาคภูมิใจ (dignity) ของผู้ปฏิบัติงานด้านผ้าไทยพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์ผ้าไทยด้วยอีกทางหนึ่ง
 
     สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ : สืบสาน ส่งเสริม พัฒนาผ้าไทยพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยพื้นเมือง ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะในระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ โดยมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืนอย่างมั่นคง จำนวน ๕ กิจกรรมสำคัญ (highlight) ได้แก่ (๑) เสน่ห์ผ้าไทยพื้นเมืองกับวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อชุมชนทอผ้ากับการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง (๒) การใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ และการตลาดเบื้องต้น เพื่อทำให้แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมมีชีวิต (๓) การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอไทย ด้วยการประยุกต์ทุนวัฒนธรรมและเทคโนโลยีนวัตกรรม (๔) การออกแบบสิ่งทอสมัยใหม่เชื่อมโยงวัฒนธรรมพื้นบ้าน และ (๕) การบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้
 
     งนี้ คณะวิทยากรที่มาร่วมบรรยายและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้น ล้วนเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ตลอดจนสื่อดิจิทัล The Momentum
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)