กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
“นายกรัฐมนตรี” - ครม. ชื่นมื่นร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand" ชวนคนไทยทั่วประเทศรดน้ำขอพร เล่นน้ำสงกรานต์ วิถีประเพณีไทย อัตลักษณ์ที่โดดเด่น เสริมจุดแข็ง สร้างเสน่ห์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการเดินทางมาเยือน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 8 เม.ย. 2568

     (๘ เมษายน ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๓๐ น.) ณ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล – กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand” ดึงวิถีประเพณีไทย อัตลักษณ์ที่โดดเด่น เสริมจุดแข็ง สร้างเสน่ห์ ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการมาเยือน
 
     ในโอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เยี่ยมชมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand” ณ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้การต้อนรับ
 
     นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ รับชมการแสดงการเล่นของเด็กไทย จากนั้น นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอภาพรวมคุณค่าสารัตถะอันดีงามของการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ได้แก่ กิจกรรมสรงน้ำพระ การสาธิตการรดน้ำ ๔ ภาค และการสาธิตการทำน้ำอบและแป้งพวง
 
     นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่าภาพรวมการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ของกระทรวงวัฒนธรรมในปีนี้ มุ่งเน้นการจัดงานภายใต้กรอบแนวทาง ๔ มิติ ๑๗ มาตรการรณรงค์ ได้แก่ มิติด้านวัฒนธรรม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดจัดงานในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร
 
     ในส่วนของการจัดงาน ๕ เมืองอัตลักษณ์ได้แก่
     • การจัดงานประเพณี ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง จังหวัดเชียงใหม่ (๑๒ - ๑๖ เม.ย. ๖๘) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ นิทรรศการสงกรานต์ล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์
     • การจัดงานวิถีชีวิตชาวอีสาน ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น (๘ - ๑๕ เม.ย. ๒๕๖๘)กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์อีสานดั้งเดิม งานสืบสานสงกรานต์วิถีไทยบ้าน รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เทศกาลดอกคูนเสียงแคน การแสดง แสงสีเสียง การเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์
     • การจัดงาน ชลบุรี อัตลักษณ์วิถีชีวิต Pattaya Old Town (๑๗ - ๑๙ เม.ย. ๒๕๖๘)กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ รำวงย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
     • การจัดงาน จังหวัดสมุทรปราการ อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนมอญ (๑๒ - ๑๓ และ ๒๕ - ๒๗ เม.ย. ๖๘) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่สาธิตการทำธงตะขาบ การละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) ขบวนรถบุปผชาติ วิถีชีวิตชุมชนมอญ
     • การจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวในไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช (๑๑ - ๑๕ เม.ย. ๖๘) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สรงน้ำพระบรมธาตุ ประเพณีแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้า หนึ่งเดียวในไทย
    
     พร้อมด้วย ๑๒ เมืองน่าเที่ยว ที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ทั้ง ๔ ภาค ประกอบด้วย
     • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน และจังหวัดนครสวรรค์
     • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดลพบุรี
     • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดสุรินทร์
     • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดภูเก็ต
    
     และในพื้นที่ส่วนกลาง ๘ จุดหมายกรุงเทพมหานคร ได้แก่
     • สามย่านมิตรทาวน์
     • ถนนสีลม
     • ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
     • วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
     • ไอคอนสยาม
     • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
     • สยามสแควร์
     • ท้องสนามหลวง
 
     โดยเน้นบรรยากาศดั้งเดิม คำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านในการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนงานตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำทำเนียบนามศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านทุกสาขา เพื่อให้สะดวกสำหรับการจ้างงานและการประสานงาน
 
     นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า รัฐบาล และทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ โดยจัดงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สงกรานต์และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน และมีความคาดหวังผลในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ให้คนไทยทั่วโลกภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้จากงานเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๘ นี้ ได้ถึง ๒๖,๕๐๐ล้านบาท / และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานถึง ๔๗๖,๐๐๐คน / และนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม ๔,๔๑๘,๕๐๐ คน
 
     สุดท้าย นางสาวสุดาวรรณ ฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก "สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต"
 
     กระทรวงวัฒนธรรมขอเชิญชวนทุกท่านเตรียมตัวให้พร้อมกับสงกรานต์ ๒๕๖๘ ซึ่งจะเป็นเทศกาลที่มอบประสบการณ์สุดประทับใจให้แก่ทั้งคนไทยและชาวโลก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม: www.culture.go.th หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)