กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.สร้างความเข้าใจเครือข่ายวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ในแนวทางการดำเนินการจัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในกรุงเทพมหานคร เข้ามาขับเคลื่อน

วันที่ 24 เม.ย. 2567

     (เมื่อวันพุธที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายอิสระ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม นายภัทร วงศ์ทองเหลือ ผู้อำนวยการกลุ่มนิติการ และนายจตุพล หน่อแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายสภาวัฒนธรรมส่วนภูมิภาคและสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดสาระสำคัญ สร้างความรู้ความเข้าใจ และให้แนวทางในการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมระดับพื้นที่รวมถึงระดับประเทศให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวัฒนธรรม การจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม การขอข้อมูลองค์กรเครือข่าย โดยมีประธานสภาวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร ๕๐ เขต ประธานองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า ๔๐๐ คน เข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
 
     นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางสังคมของประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกระดับ เพราะประชาชนในพื้นที่ถือเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมในระดับต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ผลักดันให้เกิดการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้เกิดความยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีสาระสำคัญ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรภาคเอกชน ซึ่งการจัดตั้งสภาวัฒนธรรม ในมาตรา ๑๔ ให้เป็นองค์กรเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยให้สมาชิกเครือข่ายวัฒนธรรมในทุกระดับปรึกษาหารือและคัดเลือกกันเองให้ได้จำนวนและสัดส่วนกรรมการตามที่ได้มีมติร่วมกัน
 
     นายโกวิท กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้เครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในครั้งนี้ เป็นการปรึกษาหารือที่กำหนดให้สมาชิกสภาวัฒนธรรมในแต่ละระดับดำเนินการเอง เพื่อให้เกิดจากแนวนโยบายของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง อันจะเกิดการบูรณาการร่วมกันของคนในชุมชน และสามารถสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้เครือข่ายวัฒนธรรมที่เข้าร่วมในวันนี้ สามารถนำแนวทางการดำเนินการนี้ นำไปใช้ร่วมกันจัดตั้งสภาวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างเต็มศักยภาพและเกิดการบูรณาการในการการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมจากทุก ๆ ฝ่าย เพื่อร่วมกันผลักดันงานวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างสรรค์ ต่อไป
 
     ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ชี้แจงว่า ตามที่สภาวัฒนธรรมแขวง และสภาวัฒนธรรมเขต ทยอยครบวาระการดำรงตำแหน่งในปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๗) โดยกฎกระทรวงกำหนดที่มา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา จำนวนกรรมการ และสมาชิก วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม การบริหารจัดการและการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามข้อ ๗ ให้สมาชิกสภาวัฒนธรรมตำบลปรึกษาหารือและคัดเลือกกันเองให้ได้จำนวนและสัดส่วนกรรมการตามที่ได้มีมติร่วมกันและข้อ ๒๑ สภาวัฒนธรรมเขต ให้นำความในข้อ ๗ มาบังคับใช้ นั้น เพื่อให้การดำเนินการปรึกษาหารือฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวัฒนธรรมแขวง และสภาวัฒนธรรมเขต เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งมุ่งเน้นให้ภาคประชาสังคมและประชาชนจัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อประโยน์ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นของชาติ และประสานการดำเนินงาน จึงได้มีการจัดประชุมในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการประชุมปรึกษาหารือให้กับเครือข่ายวัฒนธรรมอันจะเป็นการได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีความพร้อมและร่วมกันขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมทั้งในระดับพื้นที่และในระดับชาติให้เป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน
 
     และเครือข่ายวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปและได้รับความชัดเจน ต่อประเด็นปัญหาสถานภาพการเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม ที่เข้าใจว่าต้องเป็นมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ก่อนวันดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า ประเด็นระยะเวลาสถานภาพนี้ มีที่มาจากฉันทามติของที่ประชุมสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ ที่ต้องการให้ผู้แทนองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลาย ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้การทำงานร่วมกันก่อน อันอาจจะส่งผลให้การบริหารจัดการสภาวัฒนธรรมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล แต่ถ้าสภาวัฒนธรรมใดมีข้อตกลงร่วมกันว่า ประเด็นระยะเวลาสถานภาพก่อนวันดำเนินการนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการสภาวัฒนธรรม ก็สามารถดำเนินจัดการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตามความประสงค์ของสมาชิก ได้เช่นกัน และที่สำคัญกฎกระทรวง ก็ไม่ได้ระบุระยะเวลาของสถานภาพเครือข่ายวัฒนธรรมด้วย ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำการยกเลิกประกาศ (เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๗) ที่ให้ระงับการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมเขต เป็นการปลดล๊อคให้องค์กรเครือข่ายทางวัฒนธรรม สามารถดำเนินการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมเขต ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)