กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
๑ จังหวัด ๑ เมนู ชูอาหารไทย

วันที่ 15 ส.ค. 2566

     อัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย ใช่เพียงแค่ภาษาไทย แต่งชุดไทย แต่ "อาหารไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ทั่วโลกยอมรับ อาหารไทยเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษไทยได้รังสรรขึ้นมา แล้วส่งทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น พอมาถึง ณ เวลานี้ คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องตั้งคำถามที่ท้าทายให้กับตัวเองว่า "แล้วเราจะนำพาอาหารไทยให้คงคู่อยู่กับแผ่นดินไทย และใช้เป็น ซ็อฟต์พาวเวอร์ในการพัฒนาชาติได้อย่างไร?”
 
     ถ้าเรายอมรับกับคำว่า "อาหารไทยเป็นได้มากกว่าอาหาร”แล้วเราต้องมาคิดต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรที่จะนำคำว่า”มากกว่าอาหาร” มาคลี่และขยายเพื่อเกิดแนวคิดและทิศทางที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติ อาหารไทยคืออาหารที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาคนไทยในมิติสุขภาพและโภชนาการ สำรับหรือเมนูอาหารไทยส่วนมากจะมีคุณค่าทางโภชนาการครบ ๕ หมู่ อาหารไทยอุดมไปด้วยสมุนไพรหลากชนิด
 
     อาหารไทยมีรสกลมกล่อมพองาม ไม่หวานมันเค็มแบบสุดขั้ว อาหารไทยส่วนมากออกแนวแพล้นเบส(plant based) เพราะมีพืชผักเป็นองค์ประกอบหลักเน้นปลาเป็นหลัก ผักเป็นพื้น มีแคลอรี่ไม่สูง ความสมดุลของสารอาหารที่ลงตัว เกือบทุกเมนูอาหารไทยเป็นอาหารที่ก่อเกิดจากธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ กินตามฤดูกาล มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนั้นๆ วิถีแห่งการปรุง การประกอบ การตกแต่ง และการกินอาหารไทย เป็นอัตลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง
 
     ต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่จัดทำโครงการ "๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ขึ้นมาในปีนี้ และผลักดันให้เป็นนโยบายหลักของกระทรวงได้ ด้วยตั้งวัตถุประสงค์ที่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมาก กล่าวคือ เพื่อเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย แล้วนำมาสร้างคุณค่าและมูลค่า รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นอาหารไทย อยู่บนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
 
     ขณะนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กำลังขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด ให้คัดสรรเมนูอาหารไทยพื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดตนเอง ส่งเข้ามาให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯได้พิจารณาเป็นเมนูอาหารไทยพื้นถิ่น ให้ได้จังหวัดละ ๑ เมนู จนถึงวันนี้ได้ทยอยส่งกันเข้ามาเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว
 
     เมื่อได้ ๑ เมนู ต่อ ๑ จังหวัดรวม ๗๖ เมนูแล้ว ขั้นต่อไปทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมต้องไปจับมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สถาบันทางการศึกษา สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร ภาคีสื่อสารมวลชน และภาคีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมพลังต่อยอด ๗๖ เมนูสู่ ๒ เป้าหมายหลักที่สำคัญคือ หนึ่ง การรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักรู้มีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยแล้วได้กินอาหารไทย อาหารแห่งชาติ และสอง จะนำ ๗๖ เมนูมาเป็นซ็อตฟ์พาวเวอร์ในเชิงการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างไร
 
     ทั้งหมดคือความท้าทายที่คนไทยทั้งมวลจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายแห่งความเป็นจริงให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
 
     ขอขอบคุณ ดร. สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลัษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best local Food) "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)