กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> ข่าวประชาสัมพันธ์
สวธ.จัดการแสดงการแสดงคอนเสิร์ต “กัลยาณิวัฒนาคารวาลัย ครั้งที่ ๑๓ ๑๐๐ปี วันประสูติ” Tribute to HRH Princess Galyani Vadhana 100th Year Concerts

วันที่ 28 พ.ค. 2566

     นางสาวลิปิการ์ กําลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดการแสดงคอนเสิร์ต "กัลยาณิวัฒนาคารวาลัย ครั้งที่ ๑๓ ๑๐๐ ปี วันประสูติ” Tribute to HRH Princess Galyani Vadhana 100th Year Concerts เนื่องในโอกาสวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนางฯ บรรเลงโดยวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Thai Youth Orchestra หรือ TYO)
 
     ซึ่งบทเพลงที่นำมาบรรเลงในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ล้วนเป็นเพลงโปรดที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เคยตรัสไว้กับ ดร.อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ (Music Director คนปัจจุบันของวง TYO) เมื่อปีพุทธศักราช 1999 ได้แก่ Boléro ประพันธ์โดย Maurice Ravel, Le Carnaval des animaux และ Introduction et Rondo Capriccioso ประพันธ์โดย Camille Saint-Saëns, La Vie en Rose และ L’Hymne à l’amour, The Firebird Suite ประพันธ์โดย Igor Stravinsky
 
     เพลง Boléro ที่ประพันธโดย Maurice Ravel เป็นเพลงขนาดย่อมสำหรับบรรเลงวงดุริยางค์วงใหญ่ออกสำเนียงสเปน แต่เดิมนั้นคือจังหวะลีลาท่วงท่าและสเต็ปเต้นรำชนิดหนึ่งของสเปนที่พัฒนาขึ้นมาในราว ปี 1750-1770 และได้รับความนิยมมากในช่วงทศวรรษ 1780s เพลง Le Carnaval des animaux และ Introduction et Rondo Capriccioso ประพันธ์โดย Camille Saint-Saëns สำหรับเพลง Le Carnaval des animaux เป็นเพลงชุดสำหรับวงดนตรีแชมเบอร์และได้รับความนิยมที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนิยมบรรเลงด้วยวงออร์-เคสตรา ขนาดใหญ่ ใช้เครื่องสายเต็มวง และนำกล็อกเคนสปีลมาใช้แทนกลาสฮาร์โมนิกา ซึ่งกลายเป็นเครื่องดนตรีหายาก เพลง Introduction et Rondo Capriccioso เหมาะสำหรับไวโอลินและวงออร์เคสตรา ซึ่งเดิมทีเพลงนี้ตั้งใจให้เป็นตอนจบที่เร้าใจของไวโอลินคอนแชร์โตเพลงแรกของ Saint-Saëns ด้วย และอีกหนึ่งบทเพลง The Firebird Suite ประพันธ์โดย Igor Stravinsky เป็นเพลงที่มีภาษาดนตรี เปลี่ยนไปมาระหว่างท่วงท่าที่มีสีแปลกใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิติที่เหนือธรรมชาติ และความเรียบง่ายในการร้องเพลงของเพลงพื้นบ้านสำหรับมนุษย์ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใครนี้ทำให้สตราวินสกีกลายเป็นคีตกวี ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อีกด้วย
 
     นอกจากบทเพลงอันไพเราะแล้ว ยังมีแขกรับเชิญสุดพิเศษ ได้แก่ ดร.อินทุอร ศรีกรานนท์ และ ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา ศิลปินนักเปียโนระดับนานาชาติ และนักเรียนทุนในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ, ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล นักร้องกิตติมศักดิ์, Anna Takeda นักไวโอลินลูกครึ่งไทย ญี่ปุ่น ที่มีผลงานมากมายในระดับนานาชาติ และคุณโบ สุรัตนาวี ภัทรานุกุล หรือ โบ Triumph Kingdom นักร้องดังในยุค Y2K ที่ให้เกียรติมาร่วมแสดงในคอนเสิร์ตด้วย
 
     ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ www.culture.go.th, เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)