กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ศิลปินแห่งชาติ ผู้พัฒนาและวางแนวทางในสร้างภาพยนตร์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

วันที่ 29 พ.ย. 2565
 

     หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ " ท่านมุ้ย ” ผู้มีบทบาทในวงการหนังไทย ฝีมือการทำหนังของท่านมุ้ยนั้นเป็นที่ยอมรับเชื่อถือและได้สร้างผลงานเด่นๆมาแล้วหลายเรื่องในอดีต อาทิ เขาชื่อกานต์ เสียดาย สุริโยไท ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น ท่านมุ้ยประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบท ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
 
     หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์-ผู้กำกับการแสดง) พุทธศักราช ๒๕๔๔ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นโอรสของ พลโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทละโว้ภาพยนตร์ จำกัด ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างภาพยนตร์ไทยมานานกว่า ๔๐ ปี ดังนั้น จึงทรงเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งในด้านการกำกับและการเป็นช่างภาพ ทรงศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา วิชาเอกด้านธรณีวิทยาและวิชาโทด้านภาพยนตร์ด้วยความสนใจศาสตร์แขนงนี้ที่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในเรื่องภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น
 
     หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงริเริ่มเขียนบทและกำกับภาพยนตร์โทรทัศน์ ครั้งแรกเรื่อง " ผู้หญิงก็มีหัวใจ ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี ๒๕๑๕ เรื่อง "มันมากับความมืด” เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟ ซึ่งผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของท่านได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกและหลายเรื่องก็สามารถคว้ารางวัลสำคัญระดับประเทศ อาทิ รางวัลสุพรรณหงส์ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เสียดาย ๒ (๒๕๓๙) รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก อุกาฟ้าเหลือง (๒๕๒๓) ครูสมศรี (๒๕๒๙) และ คนเลี้ยงช้าง (๒๕๓๔) รางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยม งานมหกรรมภาพยนตร์อาเซียน จาก กาม(๒๕๒๑) หลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จด้านรายได้อีกด้วย เช่น เสียดาย ที่กวาดรายได้ถึง ๕๐ ล้านบาท
 
     หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงใช้เทคนิคทางด้านภาพยนตร์สร้างสรรค์งาน เพื่อให้ผลงานออกมาเป็นภาพที่สมบูรณ์อย่างมีศิลปะ วางแนวทางในการพัฒนาภาพยนตร์ไทยเพื่อให้ได้มาตราฐานทัดเทียมต่างประเทศมาโดยตลอด ผลงานการสร้างภาพยนตร์ทุกเรื่อง ส่วนใหญ่มีลักษณะในแนวสร้างสรรค์สังคมและสะท้อนปัญหาของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำออกจำหน่ายในตลาดภาพยนตร์ทั่วโลก ผลงานของท่านนับได้ว่ามีส่วนเผยแพร่คุณค่าของศิลปะการแสดงประเภทสื่อภาพยนตร์ไทยที่แสดงถึงความเป็นไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักมายิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยโดยรวม หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ปัจจุบันประสบความสำเร็จทางด้านวิชาชีพ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ ในสาขาการกำกับการแสดงยอดเยี่ยม ภาพถ่ายยอดเยี่ยม บทประพันธ์ยอดเยี่ยม กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม รวมทั้งสิ้น ๒๒ รางวัล อาทิ เขาชื่อกานต์, อิสรภาพของทองพูน โคกโพ, มือปืน ๒ สาละวิน ,เสียดาย, เสียดาย ๒ และสุริโยไท เป็นต้น
 
     หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ ทรงมีความพยายามในการเปลี่ยนมาตรฐานด้านงานสร้างแก่วงการอยู่เสมอ เห็นได้ชัดถึงความใส่ใจในการถ่ายทำหนังทุกเรื่องของท่านด้วยระบบเสียงในฟิล์ม (sound on film) ต่างจากหนังไทยส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐–๒๕๓๐ ที่ยังเป็นหนังพากษ์เสียส่วนใหญ่ รวมถึงเทคนิคการถ่ายทำทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ การกำกับภาพ งานกำกับศิล์ป และตัดต่อ เพื่อให้ถึงพร้อมซึ่งความเป็นศิลปะของศาสตร์แขนงนี้ และสามารถนำออกจำหน่ายในตลาดภาพยนตร์ทั่วโลก และเนื่องในโอกาสวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๘๐ ปี ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์-ผู้กำกับการแสดง) พุทธศักราช ๒๕๔๔ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้ได้สร้างผลงานภาพยนตร์หลากหลายแนว ที่สะท้อนปัญหาสังคมไทยในแนวสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งมีการพัฒนามาตรฐานการสร้างภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 
......................................................................
 
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๔ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , http://art.culture.go.th/art01.php?nid=163,https://shorturl.asia/j6Avp,วิกิพีเดีย
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)