กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
๘๓ ปี “แมน ซิตี้ ไลอ้อน”

วันที่ 24 ต.ค. 2565
 

 
     ด้วยลีลาการร้องที่แปลก แหวกแนวไม่เหมือนใคร ในยุคเดียวกัน ไม่มีใครไม่รู้จัก นักร้องเพลงลูกทุ่งผู้ได้รับฉายาว่า แมน ซิตี้ ไลอ้อน หรือ ชาย เมืองสิงห์ จากฉายาเดิมที่เคยได้รับ คือ "อเลน เดอลอง เมืองไทย” ด้วยลีลาความสามารถในการแสดงหน้าเวทีและรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาระดับพระเอกภาพยนตร์ แต่กว่าจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังหนึ่งในตำนานเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย นั้น ชีวิตต้องฝ่าฝันต่อสู้กับอุปสรรค ขวากหนาม ด้วยหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
 
     ชาย เมืองสิงห์ หรือชื่อจริงว่า สมเศียร พานทอง เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรของนายสี พานทอง กับ นางป่วน พานทอง จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปลายจากโรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสิงห์บุรี) และเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ได้เพียงชั้นปีที่ ๔ ด้วยทางบ้านประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากนาล่ม จึงตัดสินใจเข้ามาสู่ชีวิตในเมืองกรุง ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างตากผัก เพื่อนำมาทำเป็นผักกาดกระป๋อง , รับจ้างเขียนป้าย วาดรูป รวมถึงเป็นกรรมกรตอกเสาเข็ม ต่อมาได้รับการอุปถัมภ์จากผู้กว้างขวางผ่านตลาดพลู ที่คอยช่วยเหลือและผลักดันให้ชาย เมืองสิงห์ เข้าประกวดร้องเพลงตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องเชียร์รำวง หรือร้องตาม ผับ สถานบันเทิงต่าง ๆ เช่น ตามถนนราชดำเนิน หรือ ซอยบุปผาสวรรค์ เป็นต้น
 
     เมื่อโอกาสมาถึง คืนวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๐๔ วงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่มีมาตรฐานที่สุดในยุคมาเปิดวิกแสดงที่วิกศรีตลาดพลู จึงได้ขอสมัครเข้าเป็นนักร้องในวง แต่ครูมงคล ต้องการพิสูจน์ความสามารถก่อนจึงไม่ยอมรับ แต่ได้ท้าทายให้ขึ้นเวทีร้องเพลงแหล่ตอบโต้สดๆ กับ พร ภิรมย์ นักร้องลูกทุ่งแถวหน้าของประเทศในขณะนั้น จึงได้พิสูจน์ความสามารถด้วยลีลาและน้ำเสียงอันแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร ครูมงคล จึงยอมรับเข้าวงและตั้งชื่อสำหรับใช้เป็นนักร้องว่า "ชาย เมืองสิงห์” เป็นต้นมา ด้วยความสามารถทางการแสดงหน้าเวที น้ำเสียง ลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับความนิยม มีแฟนเพลงคลั่งไคล้ไปทั่วประเทศ และด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา จนมีคนตั้งฉายาให้ว่า "อเลน เดอลองก์ ออฟ ไทยแลนด์” ต่อมาวงการตลกเมืองไทยก็ตั้งฉายาให้ว่า "แมน ซิตี้ ไลออน” แปลตรงตัวมาจากชื่อ ชาย เมืองสิงห์ เป็นฉายาที่ได้รับการชื่นชอบจากแฟนเพลงทั้งประเทศ นั่นเอง
 
     ไม่เพียงแต่ความสามารถด้านการแสดง ลีลาการร้อง แล้ว ยังมีความอัจฉริยะด้านการแต่งเพลง ทั้งเนื้อร้องและทำนอง อีกด้วย ชาย เมืองสิงห์ ได้แต่งเพลงไว้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เพลง มีทั้งที่แต่งเองร้องเอง และแต่งให้นักร้องคนอื่นร้องจนมีชื่อเสียงหลายคน เพลงที่แต่งนับเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งในยุคนั้น ทำให้ติดอันดับยอดนิยมมากมายหลายเพลง ได้แก่ ทำบุญร่วมชาติ มาลัยน้ำใจ เพลงชมสวน พ่อลูกอ่อน เสน่ห์นางไพร ลูกสาวใครหนอ มาลัยดอกรัก แก่นแก้ว คิดถึงพี่หน่อย หยิกแกมหยอก พระรถเมรี มนต์เมืองสิงห์ สิบห้าหยก ๆ เรือล่มในหนอง แม่ขนตางอน จุ๋มจิ๋ม เมียพี่มีชู้ กอดแก้กลุ้ม มันยกร่อง จ่ำม่ำ แม่ยอดยาหยี ฯลฯ
 
     ปี ๒๕๐๔ - ๒๕๑๖ เป็นช่วงประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการเพลงของ ชาย เมืองสิงห์ ปี ๒๕๑๐ ได้ออกจากวงจุฬารัตน์ มารับงานร้องเพลงเอง และได้ตั้งวงดนตรีคือ "วงหลังเขาประยุกต์ " ต่อมาขยายวงและเปลี่ยนชื่อเป็น " จุฬาทิพย์ " เพื่อรำลึกถึงวงดนตรีของครูมงคล ที่ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ในช่วงที่ทำวงดนตรีของตนเอง ได้ปั้นให้ลูกวงให้เป็นนักร้อง นักแสดงตลกที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น โชคดี พักภู่ , เพชร โพธิ์ทอง , ระพิน ภูไท , ดี๋ ดอกมะดัน , ดู๋ ดอกกระโดน , สีหนุ่ม เชิญยิ้ม , หนุ่ม เมืองไพร , ดาวไทย ยืนยง , ถนอม จันทรเกตุ เป็นต้น ทำวงดนตรีอยู่ 10 ปี จึงมีเหตุต้องยุบวง เพราะมรสุมชีวิต ทั้งปัญหาครอบครัว และพ่อแม่เสียชีวิต ทำให้ห่างหายจากวงการเพลงไปหลายปี ผันตัวไปเป็นเกษตรกรทำไร่นาสวนผสมที่บ้านเกิดนาน จนได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดสิงห์บุรี
 
     หวนคืนสู่วงการเพลงอีกครั้งเมื่อ มีการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ ๑ ในปี ๒๕๓๒ ชาย เมืองสิงห์ ได้รับโล่พระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง ๔ รางวัล และอีก ๒ รางวัล จากกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๓๔ และในปีเดียวกันยังได้รับรางวัลพระราชทานฯ ในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น ของมหาวิทยาลัย มหิดลร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน ได้รับการยกย่องเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นทาง ด้านวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๓๕ และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๓๘
 
     จึงได้กลับมาโลดแล่นในวงการเพลงลูกทุ่งไทยอีกครั้ง โดยมีการนำเอาเพลงเก่าและเพลงใหม่มาบันทึกเสียง และปลายปี ๒๕๕๗ ได้สร้างความฮือฮาด้วย The Man City Lion Project นำเพลงที่โด่งดังของตนเอง เช่น "เมียพี่มีชู้” มาทำใหม่ในแบบลูกทุ่งร่วมสมัย โดยมีนักร้องสาวลูกทุ่งยอดนิยมในยุคปัจจุบัน คือ จ๊ะ อาร์สยาม และใบเตย อาร์สยาม มาร่วมร้องทำให้ได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
 
     ศึกษาประวัติและผลงานของ สมเศียร พานทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ได้ทาง http://book.culture.go.th/artist/artist2538/mobile/index.html#p=74  
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)