
นายควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ ที่มีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด แต่เครื่องดนตรีที่ถนัดมากที่สุด คือ ปี่ โดยเฉพาะปี่หนังตะลุงกับปี่โนรา ซึ่งเป็นปี่กลางกับปี่ใน และเป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้านไว้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่นกว่างานสร้างสรรค์อื่นๆและผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมนำไปแสดงอย่างกว้างอย่างต่อเนื่องเสมอมา
นายควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน ) พุทธศักราช ๒๕๕๓ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๘๒ ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นบุตรชายของ นายคล้อย ทวนยก และนางตั้ง ทวนยก สมรสกับนางเจียม ทวนยก มีบุตรชาย 3 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดวาส จังหวัดสงขลา และศึกษาดนตรีไทยวนิลาศ ต่อมาเรียนระนาดทุ้ม ฆ้องวง กลองทัด ตะโพน และเป่าปี่ ขณะเรียนเป่าปี่ก็เกิดความรู้สึกว่าซอนนี่ จึงได้ไปเรียน ปีหนังตะลุงแบบครูพักลักจำจากนายหนังตะลุงทั่วไปด้วย ต่อมาได้หัดเป่าปี่โนราโดยมีขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่ม เทวา) ชี้แนะทางปี่ให้ นายควน ทวนยก ได้เข้ารับราชการตำแหน่งคนสวนของวิทยาลัยครูสงขลา จนเกษียณอายุราชการ นายควน ทวนยก เริ่มเป่าปีเมื่ออายุ ๑๖ ปี จนถึงปัจจุบัน เป็นนายปี่ให้คณะหนังตะลุงและโนราหลายคณะทั้งในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดอื่น ๆ ในช่วง ๑๐ ปีแรก แสดงปีละ ๒๐๐ ครั้ง เป่าปี่มวย ประมาณ ๔๐ ครั้ง และแสดงในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส กรีซ ตุรกี เป็นต้น นายควน ทวนยก เป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาดนตรี พื้นบ้าน โดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่น โดยมีผลงานเพลงที่คิดขึ้นใหม่มากกว่า ๕๐ เพลง มีทั้งเพลงคิดเองทั้งหมด นำเพลงเก่ามาสร้างสรรค์ใหม่ และเพลงที่ประสมประสานเพลงเก่ากับเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยมีเทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์คือ บรรจุทำนองเพลงตามลักษณะท่ารำ นำเพลงเก่าที่ไม่ค่อยมีผู้นำมาบรรเลงในการแสดงหนังตะลุงและโนรามาใช้บรรเลงเพลงประกอบระบำจึงเป็นการสืบทอดเพลงไม่ให้สูญหาย และคัดสรรทำนองเพลง ที่มีสำเนียงแขกมาปนอยู่เพื่อแสดงออกถึงความเป็นดนตรีท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บทเพลงต่าง ๆ มีสำเนียงที่นุ่มนวลอ่อนหวาน และมีกลิ่นอายวัฒนธรรมทางใต้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมนำไปแสดงในวงกว้างอย่างต่อเนื่องเสมอมา จากผลงานดังกล่าวจึงได้รับเชิญเป็นครูสอนการเป่าปี่หนังตะลุงและโนราแก่นักศึกษารายวิชาดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ปัจจุบัน นายทวน ทวนยก ยังไม่ละทิ้งงานที่ตนรักได้ถ่ายทอดวิชาการเป่าปี่ให้กับผู้สนใจและอนุชนรุ่นหลังทั้งนอกระบบและในระบบ อีกทั้งเป็นวิทยากรสอนภาควิชาดนตรี สาขาดนตรีพื้นบ้าน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และเนื่องในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๘๓ ปี ของนายควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) พุทธศักราช ๒๕๕๓ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้มีคุณูปการต่อการอนุรักษ์ สืบสาน ปี่หนังตะลุงและปี่โนรา ไว้ให้คงอยู่สืบไป
..................................................