
๗๘ ปี ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิก ผู้มีถิ่นกำเนิดและภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด "ล้านนา” ด้วยการยึดมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ถ่ายทอดมรดกศิลป์ของล้านนา จนมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องในวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ท่านคือ นายจุลทัศน์ กิติบุตร เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗ ที่จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาได้กลับไปทำงานในถิ่นกำเนิด ซึ่งมีความงดงามรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้าในการที่จะดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ ผลงานชิ้นเอกที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมเปลี่ยนรูปลักษณ์และวิธีการ โดยการนำรูปแบบของพื้นถิ่นล้านนามาใช้เป็นปัจจัยหลักในการออกแบบ คือ โรงแรมเดอรีเจนท์ (โฟร์ชีชั่น) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การออกแบบอาคารทางศาสนาที่ วัดอนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยา และผลงานอื่น ๆ อีกมากว่า ๕๐ แห่ง
อาจารย์จุลทัศน์ ท่านได้รับรางวัลเกียรติคุณ สถาปนิกผู้มีผลงานดีเด่น ด้านอนุรักษ์เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้รับการประกาศเป็นนิสิตเก่าผู้สมควรได้รับการเชิดชูจากสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นสถาปนิกดีเด่นประจำปี ด้านวิชาชีพ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบัน อาจารย์จุลทัศน์ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี และที่สุดของความสำเร็จ ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) พุทธศักราช ๒๕๔๗
นอกจากนี้ ท่านยังทุ่มเทถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมในแนวทางประยุกต์ให้แก่นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และมีผลงานออกแบบได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งสิ่งพิมพ์ภายในประเทศและต่างประเทศ ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมของท่าน แม้ว่าจะอยู่บนรากฐานของศิลปะกลิ่นอายสถาปัตยกรรมล้านนา แต่ก็มีความก้าวหน้า มีชีวิตชีวา ร่วมสมัยและมีพัฒนาการ ท่านได้รับการยกย่องจากแวดวงสถาปนิกทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์และสืบทอดภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยให้เป็นมรดกของชาติต่อไป