๘๑ ปี แม่ครู รัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๔ ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูง จากโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เข้ารับราชการ เป็น ศิลปินจัตวา กองการสังคีต กรมศิลปากรประมาณ ๒ ปี แล้วลาออกไปประกอบอาชีพศิลปินอิสระ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงกลับเข้ารับราชการที่วิทยาลัยนาฏศิลป ตําแหน่งนาฏศิลปินจัตวา ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมจากครูอาจารย์ ทั้งในหน้าที่ ศิลปินและหน้าที่ครูสอนนาฏศิลป์ จนมีความรู้เชี่ยวชาญขึ้นโดยเฉพาะการแสดงในบทนาง ทั้งการแสดงโขน และละครทุกประเภท ถือได้ว่าเป็นนาฏศิลปินที่มีความสามารถสูงแสดงได้หลากหลายบท ตั้งแต่กระบวนรําบทนางกษัตริย์ บทเทวดานางฟ้า จนถึงบทนางทุกประเภทละคร
แม่ครูรัจนา มีความสามารถในการแสดงบทที่ต้องใช้ทักษะพิเศษ อาทิ แสดงอารมณ์ โกรธเกรี้ยว หึงหวง ตลกขบขัน แม้บทนางพิการก็สามารถตีบทได้อย่างงดงาม สื่ออารมณ์ได้สมจริง โดยเฉพาะการแสดงในบทนางเอกละครนอก ที่นับว่ายอดเยี่ยมคือ บทนางเมรีในเรื่องรถเล่น บทนางวิฬาร์ ในเรื่องไชยเชษฐ์ บทแก้วหน้าม้าตอนรําเย้ยหุ้ม บทนางยี่สุ่นในเรื่องลักษณวงศ์ นางมณฑาตอนลงกระท่อม นอกจากท่าน จะเป็นนาฏศิลปินที่มีกระบวนท่ารำงามมากแล้ว ยังเป็นครูผู้รักษาขนบประเพณีในการแสดงอย่างถูกต้องครบครันตามแบบฉบับ เป็นนางเอกรูปลักษณ์งดงามแขนอ่อนยากจะหาใครเหมือน นับเป็นศิลปินบทนางที่มีความสามารถสูงส่ง ตีบทได้สมจริง ทุกบทบาท ทั้งมีความสง่างาม สมที่เป็นแบบอย่างที่ดียิ่งแก่ศิลปินรุ่นหลัง
นอกจากนี้ แม่ครูรัจนา ยังมีความสามารถในการกำกับการแสดง การออกแบบท่ารำต่าง ๆ ที่ได้สร้างขึ้นไว้ในกรมศิลปากรหลายชุด มีผลงานการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นครูที่พร้อมด้วยความเมตตาและมีความตั้งใจจริงในการถ่ายทอดความรู้ สร้างลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จประดับวงการนาฏศิลป์การละครไทยจำนวนมาก รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ อาทิ เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้รับพระราชทานเข็มพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานแสดงโขน ตอนศึกมัยราพณ์สะกดทัพ ในฐานะศิลปินอาวุโส และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พุทธศักราช ๒๕๕๔
ปัจจุบัน ท่านยังคงเป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ในศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทย และเป็นผู้ฝึกหัดการแสดง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า ๕๐ ปี ในระยะปีหลัง จะเป็นผู้คอยดูแลและควบคุมในการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทย ในความคิดของท่าน การให้ความรู้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทําให้มีความสุขมากที่สุด ถึงแม้ในบางครั้งจะเหน็ดเหนื่อยมากก็ตาม เพราะผู้เรียนทุกคนไม่ได้มีพื้นฐานในการเรียนนาฏศิลป์ จึงทําให้การฝึกฝนท่ารําค่อนข้างยากและทําความเข้าใจไม่ชัดเจนของท่ารํา แต่ท่านยังคงมุ่งมั่นถ่ายทอดวิชาความนาฏศิลป์ไทย ด้วยจิตวิญญาณและความรับผิดชอบในหน้าที่ของ "นาฏศิลปิน”