กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
“ไพรัช สังวริบุตร “ปูชนียบุคคลของวงการละครไทย และศิลปินแห่งชาติ

วันที่ 27 ก.ย. 2565
 

     นายไพรัช สังวริบุตร ศิลปินแห่งชาติ และ หัวเรือใหญ่ของบริษัทสามเศียร, ดาราวิดีโอ, ดีด้าฯ และจ๊ะทิงจา ผู้เป็นปูชนียบุคคลคนสำคัญในวงการละครโทรทัศน์ ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลิตงานให้สถานีโทรทัศน์สีช่อง ๗ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึงปัจจุบัน มากกว่า ๑๐๐ เรื่อง
 
     นายไพรัช สังวริบุตร เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๔๗ หรือที่คนในวงการเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า "อาหรั่ง-พ่อหรั่ง” เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๔ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายคุ้ม และนางจำรัส สังวริบุตร มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน นายไพรัชเป็นคนที่ ๓ และพี่ชายคนโตชื่อ คารม (พ่อของไพโรจน์ สังวริบุตรและจิรภา ปัญจศิลป์ เจ้าของคณะละครวิทยุชื่อดังมาก่อน) พี่สาวคนรองชื่อ คมคาย ส่วนน้องๆ ในลำดับ ๔ ,๕ และ ๖ เรียงกันดังนี้ คือ ประชุม, ภุมรี (สังวริบุตร) กมลดิลก และดารา (อดีตดาราหนังจักรวงศ์) อาหรั่ง สมรสกับผุสดี ยมาภัย (เสียชีวิต) มีลูกชายด้วยกัน ๒ คนคือ สยาม (หลุยส์) และ สยม (ลอร์ด) สังวริบุตร โดยคุณพ่อมีอาชีพเป็นทนายความและยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น โรงงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เจ้าของหนังเร่โดยทางเรือก่อนจะมาทำธุรกิจด้านภาพยนตร์ในนาม "บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์” โดยทำภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "รอยไถ” ของ ไม้เมืองเดิม ส่วนคุณแม่นั้นมีอาชีพขับร้องเพลงไทยเดิมในวงเครื่องสายของสถานีวิทยุศาลาแดง กรมไปรษณีย์โทรเลข นายไพรัช สังวริบุตร จบประถมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในช่วงเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๕ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลมีคำสั่งประกาศให้นักเรียนที่เรียนในปีนั้นจบการศึกษายกชั้นทั่วประเทศ โดยไม่ต้องสอบประจำภาคปีการศึกษา หลังสงครามยุติ นายไพรัช สังวริบุตร ตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ โดยเริ่มทำงานกับบริษัทของพ่อคุ้ม เริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่ง "ฝ่ายงานสร้าง” ของโรงงานแบตเตอรี่ซึ่งตั้งอยู่ที่บางบัวทอง ปากคลองสามวัง จังหวัดนนทบุรี หลังเลิกงานและในช่วงวันหยุดจะใช้เวลาว่างส่วใหญ่มาคลุกคลีช่วยทำงานในบริษัทกรุงเทพภาพยนตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจของพ่ออีกอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่จิปาถะตั้งแต่ช่วยงานช่างภาพ และพากย์หนัง จนต่อมาพ่อให้มารับหน้าที่เป็น "ช่างภาพภาพยนตร์”
 
     เส้นทางเริ่มต้นสู่วงการภาพยนตร์และโทรทัศน์จึงเริ่มขึ้น ณ บัดนั้น โดยนายไพรัช ได้ถ่ายภาพ ภาพยนตร์เรื่องแรกเอง คือ เรื่อง "รอยไถ”เป็นภาพยนตร์ในระบบ ๑๖ มม. ซึ่งความชำนาญส่วนหนึ่งมาจากการแนะนำของ สดศรี บูรพารมย์ (อาของฉลอง ภักดีวิจิตร), เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ), วิจิตร คุณาวุฒิ และผลิตผลงานออกสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องพร้อมกับได้รับการตอบรับอย่างน่าชื่นชม จนสามารถคว้ารางวัลจากการสร้างสรรค์ผลงาน นับตั้งแต่รางวัลตุ๊กตาทองในฐานะผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่อง "แสงสูรย์” จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รางวัลตุ๊กตาทองในฐานะถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง "นางสาวโพระดก” "ทับสมิงคลา”และ"เสน่ห์บางกอก” จากนั้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ นายไพรัช ได้ก้าวสู่วงการโทรทัศน์ โดยการชักชวนของคุณสุวรรณา มุกดาประกร และคุณถาวร สุวรรณ สร้างทีมผลิตละครโทรทัศน์ด้วยการเช่าเวลาจากทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ ในการแพร่ภาพ และ พ.ศ. ๒๕๑๐ได้ก่อตั้งบริษัทดาราฟิล์มขึ้น ด้วยเงินลงทุน ๘๐,๐๐๐ บาท ผลิตละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ เรื่อง ปลาบู่ทอง ซึ่งเป็นเรื่องวรรรคดีพื้นบ้าน นำแสดงโดย พัลลภ พรพิรุณ กับ เยาวเรศ นิสากร การทำละครพื้นบ้านโบราณก็เพื่อมาอุดช่องว่างกับหนังญี่ปุ่นที่ฮิตมากในหมู่เยาวชนในสมัยนั้น เพื่อให้เยาวชนได้รู้เรื่องต่างๆของไทยทั้งศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานไว้ให้คงอยู่สืบไป โดยเนื้อหาละครพื้นบ้านส่วนใหญ่ นำมาจาก นิยายวัดเกาะ ซึ่งเป็นหนังสือนิยายเล็มเล็กๆกว่า ๓๐๐ เรื่อง ที่ถูกนำมาเย็บเป็นเล่มใหญ่ โดยเสด็จพระองค์ชายเล็ก (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) ส่วนที่เพิ่มเติมคำว่า เทพ จนกลายเป็น เทพนิยายวัดเกาะ นั้น เป็นเพราะผู้แต่งนิยายวัดเกาะแต่ละท่านล้วนแต่ล่วงลับไปเป็นเทพบนสวรรค์หมดแล้ว จึงเรียกผลงานชั้นครูเหล่านี้ได้ว่าเป็น "เทพนิยาย” เพราะงานเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลไว้ไม่ให้สูญหาย นายไพรัช สังวริบุตร ได้สร้างสรรค์ละครพื้นบ้านยาวนานกว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบนและได้ส่งไม้ต่อให้กับบุตรชายคือคุณ ลอร์ดและคุณสยม สังวริบุตร สืบสานละครพื้นบ้านต่อไป เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ในการนำเอาเนื้อเรื่องในวรรณคดีพื้นมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ จักร ๆวงศ์ๆ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาโดยใช้สื่อสมัยใหม่ มีการพัฒนาบทละครให้ประณีตขึ้น และงานด้านศิลปะการแสดง ได้มีการใช้เทคนิคการถ่ายทำใหม่ ๆ มีการออกแบบเครื่องแต่งกาย และการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้วงการธุรกิจด้านละครโทรทัศน์ยั่งยืน
 
     นอกจากผลิตละครแนวจักรๆวงศ์ๆแล้ว ก็มีการผลิตละครโทรทัศน์อื่นๆอีกมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง อาทิ แม่นาคพระโขนง, แผลเก่า, หลวงตา, ไผ่แดง, คู่กรรม, สายโลหิต, รัตนโกสินทร์, ขุนเดช, เปรตวัดสุทัศน์, ปู่โสมเฝ้าทรัพย์,ฟ้าใหม่, คือหัตถาครองพิภพ, ดั่งดวงหฤทัย, พันหนึ่งราตรี ฯลฯ ซึ่งล้วนได้รับความนิยมและชื่นชมจากแฟนๆละครอย่างอบอุ่น โดยมีรางวัลการันตรีมากมาย อาทิ รางวัลเพลงพื้นบ้าน ฐานผู้ประพันธ์เพลงดีเด่น จากละครโทรทัศน์เรื่อง พิกุลทอง พ.ศ. ๒๕๓๑ รางวัลเมขลา จากละครโทรทัศน์ เรื่อง แผลเก่า พ.ศ. ๒๕๕๓รางวัลเมขลาและโทรทัศน์ทองคำ ฐานะผู้กำกับการแสดงดีเด่น ละครโทรทัศน์เรื่อง คู่กรรม เป็นต้น นอกจากท่านยังนี้ยังได้รับรางวัลอื่นๆอีก อาทิ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ ๕ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๔๒ พ่อตัวอย่างแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเข็มกาชาดสมทบชั้น ๑ รางวัล ดาราทอง จาก สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และ ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม และ พ.ศ. ๒๕๔๔ ศิลปินดีเด่นจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
 
     ชีวิตปัจจุบันของนายไพรัช สังวริบุตร ยังคงมีความสุขภายในอาณาจักรละครของครอบครัว "ดาราวิดีโอ” ค่ายละครสุดคลาสสิกแห่งช่อง ๗ สี ทั้ง ดาราวิดีโอ, ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น และสามเศียร ที่รังสรรค์ผลงานมากมายเพื่อมอบความสุขให้กับแฟนๆละครจอแก้วมาว่าครึ่งศตวรรษ ทั้ง ดาวพระศุกร์, บ้านทรายทอง, สายโลหิต, มนต์รักลูกทุ่ง, ทัดดาวบุษยา, ทวิภพ, นางทาส, น้ำใสใจจริง, คือหัตถาครองพิภพ หรือ เบญจา คีตา ความรัก รวมไปถึงละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง สี่ยอดกุมาร, พิกุล ทอง, ปลาบู่ทอง, สิงหไกรภพ, ขวานฟ้าหน้าดำ และ สังข์ทอง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนกวาดเรตติ้งถล่มทลาย จนหลายคนยกให้เป็นเบอร์ ๑ ของวงการ และเนื่องในโอกาสวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๙๑ ปี ของนายไพรัช สังวริบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช ๒๕๔๗ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ผู้เปรียบดั่งครูและญาตผู้ใหญ่ที่เคารพรักของลูกหลานคนบันเทิงและศิลปินแห่งชาติผู้สร้างสรรค์งานเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของไทยผ่านละครพื้นบ้านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
 
..............................................
 
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๕, http://art.culture.go.th/art01.php?nid=167 , https://mgronline.com/drama/detail/9540000149674 , https://readthecloud.co/dara-video/  
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)