
หากเอ่ยถึงช่างฟ้อนที่มีลีลาท่าที อันอ่อนช้อย งดงามแบบสาวชาวล้านนา แห่งวัดศรีทรายมูล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนางบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ เพราะท่านคือแม่ครูผู้สืบทอดวิชาความรู้ด้านการฟ้อนพื้นบ้านโดยเฉพาะการฟ้อนสาวไหมมาจากบิดา ที่เกิดจากการประยุกต์ท่ารำการฟ้อนเชิงของชาวล้านนาผสมผสานจินตนาการในกระบวนการทอผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นวิถีของชาวล้านนาในสมัยโบราณ ที่แฝงด้วยท่าฟ้อนเชิงที่เข็มแข็ง อ่อนช้อยเป็นที่รู้จักในวงการฟ้อนล้านนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พุทธศักราช ๒๕๕๙ เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๙ ณ จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายกุย และนางจันทร์ฟอง สุภาวสิทธิ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านหนองบัว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ สมรสกับ นายโสภณ รัตนมณีกรณ์ มีบุตรด้วยกัน ๓ คน ได้แก่ นางสาวสายไหม นางสาวสายชล และนางสาวสนธยา รัตนมณีกรณ์
นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ เริ่มต้นเรียนการฟ้อนจากบิดา ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ได้รับการถ่ายทอด ท่ารำต่างๆ ได้แก่ การฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง รวมทั้งท่าฟ้อนสาวไหม ซึ่งบิดาได้รับแรงบันดาลใจจากอากัปกิริยาการทอผ้าฝ้ายของคนสมัยโบราณซึ่งกระบวนการทอผ้าฝ้ายเริ่มตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย การตากดอกฝ้าย การอีดฝ้าย การดีดฝ้ายให้ฟู ปั่นออกมาเป็นเส้นจนกระทั่งนำไปทอเป็นผืนผ้า จนเป็นผู้มีความสามารถในการฟ้อนต่างๆ ได้อย่างงดงาม เมื่อได้นำออกแสดงก็มีปรับปรุงท่าฟ้อนให้เหมาะสมมากขึ้นตามแบบหญิงสาวชาวล้านนา ต่อมาได้รับการถ่ายทอดท่ารำฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน รำสีนวล ยวนรำพัด สร้อยแสงแดง ฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ จากนายโม ใจสม อดีตนักดนตรีและนาฏศิลป์ชั้นครูของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และช่วยปรับปรุงเพลงสาวไหมทางเชียงรายขึ้นต่อเนื่องจากของเดิมแปลงทำนองจากเพลงลาวสมเด็จ จนการฟ้อนสาวไหมกลายเป็นเอกลักษณ์การฟ้อนของชาวบ้านศรีทรายมูล และจังหวัดเชียงรายจวบจนปัจจุบัน และในกาลต่อมา นางพลอยศรี สรรพศรี อดีตนาฏกรในคุ้มเจ้าดารารัศมีและคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำท่าฟ้อนสาวไหมไปพัฒนาขึ้นเป็นสาวไหมอีกทางหนึ่ง ใช้ทำนองที่แตกต่างออกไป คือ เพลงปั่นฝ้าย บรรจุเป็นการฟ้อนแบบหนึ่ง ในวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นมา จากนั้นนางบัวเรียว ได้นำฟ้อนสาวไหมและฟ้อนพื้นบ้านไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญ ทั้งการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ลีลาการฟ้อนแบบดั้งเดิม และนางบัวเรียวยังได้รื้อฟื้นความรู้ในการฟ้อนพื้นบ้านหลายอย่างขึ้นมาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ ปรับปรุงการฟ้อนสาวไหมขึ้นเพิ่มเติม เรียบเรียงกระบวนการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บเชียงราย ฟ้อนเทียน ประดิษฐ์ท่ารำวงล้านนา ฟ้อนแม่หญิงล้านนา เป็นต้น รวมทั้งทำหน้าที่สอน ประกอบพิธีไหว้ครู และสาธิตการฟ้อนพื้นเมืองต่างๆ ให้แก่กลุ่มสตรี และเยาวชนในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ ได้ทำหน้าที่วิทยาการถ่ายทอดความรู้ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง นางบัวเรียวจะฟ้อนสาวไหมทุกครั้งที่มีงานสำคัญๆ ของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง กว่า ๕๐ ปี ของการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา และเป็นแหล่งข้อมูลหลักทางนาฏศิลป์แก่นักวิชาการ สื่อมวลชน ประกอบกับความรู้ความสามารถ ผลงานที่โดดเด่น จึงมีสื่อเอกสาร ตำรา วิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนสื่อออนไลน์นำไปเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการยกย่องให้เป็น"แม่ครู”ของชาวล้านนาปัจจุบันมีลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยรุ่น จำนวนหลายพันคนซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศ
ในโอกาส วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๗๖ ปี ของนางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยเราสืบไป
..............................................
ขอขอบคุณที่มา: หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๙