
นี้คือหนึ่งในแนวคิดของ ประภากร วทานยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พุทธศักราช ๒๕๖๓ ที่วันนี้ ท่านมีอายุครบ ๖๘ ปี เต็มแล้ว แต่ยังคงอุทิศตนให้กับอาชีพสถาปนิกที่เขารัก และได้แสดงเจตจำนงไว้ว่า "จะทำงานในวิชาชีพนี้ จนกว่าร่างกายจะไม่อำนวยหรือจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต”
นายประภากร วทานยกุล เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จาก The Catholic University of America, Washington D.C., สหรัฐอเมริกา ท่านมีผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือ โครงการมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม และโครงการโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน "เพื่อน ช่วยเพื่อน” ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ยังมีผลงานในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน เป็นต้น
ถือได้ว่าท่านเป็นสถาปนิก ที่สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมได้โดดเด่น จนได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลเกียรติยศจากหลายสถาบัน อาทิ ได้รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากการประกวดออกแบบอาคารที่ทำการ กระทรวงต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา และรางวัลอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ โครงการ "บ้านสวนสงบ” โครงการ "บียู ไดมอนด์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคม สถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับนานาชาติ The ARCASIA Awards for Architecture จากสมาคมสถาปนิกเอเชีย และได้รับยกย่องให้เป็นสถาปนิกดีเด่น ด้านวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พุทธศักราช ๒๕๖๓
นอกจากงานออกแบบในฐานะสถาปนิกแล้ว ประภากร วทานยกุล ยังได้อุทิศตนช่วยงานด้านการศึกษา และงานที่เกี่ยวข้องในสายวิชาชีพ โดยเป็นอาจารย์สอนหนังสือและบรรยายพิเศษ เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์ให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยริเริ่มให้มีการจัดสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปนิกในระดับสามัญสถาปนิกเป็นคณะกรรมการร่วมออกข้อสอบ ในการจัดทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของสภาสถาปนิกอันเป็นหน้าที่สำคัญ ที่มีผลต่อวงการวิชาชีพ