
ครูทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์ ) พุทธศักราช ๒๕๕๕ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๐ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ของนายฉาย ขุนทอง และ นางแม้นเขียน ขุนทอง สำหรับการขับร้องเพลงไทย ท่านได้รับการศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิ ลป กรมศิลปากร ศึกษาการขับร้องเพลงไทยอย่างจริงจังกับครูท้วม ประสิทธิกุล จนนับเป็น ศิษย์เอกคนหนึ่งของครูท้วมและศึกษากลวิธีการขับร้องต่างๆ เพิ่มเติมจากครูดนตรีสำคัญหลายท่าน อาทิ ครูมนตรี ตราโมท ครูอุษา สุคันธมาลัย ครูศรีนาฏ เสริมศิริ นางมหาเทพกษัตริย์สมุห (บรรเลง สาคริก) คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ครูประเวช กุมุท ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน เป็นต้น จากนั้นได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต (ภาษาไทย) วิทยาลัยครูจันทรเกษม และศึกษาศาสตร์บัณฑิต (คีตศิลป์ไทย) วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชมงคล)
ครูทัศนีย์ ขุนทอง เริ่มต้นชีวิตการทำงานคือ เป็นนักร้องโดยได้รับการบรรจุเป็นศิลปินสำรองของกรมศิลปากร ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี เรื่อยมาจนตอนเข้าบรรจุในตำแหน่งครูชั้นตรีและประจำอยู่ที่วิทยาลัยศิลป จนเกษียณอายุราชการ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้กับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง ถ่ายทอดความรู้และสร้างนักร้องเพลงไทยรุ่นใหม่ขึ้นมามากมาย ร่วมกับกรมศิลปากรในการเดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เขียนตำราวิชาการ เช่น เรื่องเสภา หุ่นกระบอก เพลงกล่อมเด็ก หลักการขับร้องเพลงไทย เป็นต้น มีผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทยจำนวนนับร้อยๆ ขึ้น ตั้งแต่ยุคแผ่นเสียงลองเพลย์มาจนแถบบันทึกเสียงและซีดี งานบันทึกเด่นๆ เช่น แผ่นเสียงกรมศิลปากร แผ่นเสียงห้างต. เง็กชวน แถบบันทึกเสียงประสิทธิ์ ถาวร บันทึกเพลงระบำทุกเพลงของครูมนตรี ตราโมท งานบันทึกวีดีทัศน์ของ กรมศิลปากร เกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น นอกจากงานในด้านการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาด้านคีตศิลป์แล้ว ยังได้สร้างสรรค์ผลงานไว้หลายชิ้น เช่น ประพันธ์บทร้องและทำนองทางร้องเพลงโยสลัม เถา ทางร้องเพลงตุ๊กตา เถาทางร้องเพลงระบำชุดไทยพระราชนิยม เพลงชุดวันสงกรานต์ นอกจากนั้ยังเป็นผู้บรรจุเพลงและอำนวยการ ฝึกซ้อมการขับร้องประกอบการแสดงโขนพระราชทานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้คิดให้มีการร้องต้นบทลูกคู่ชายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คีตศิลป์ไทย ได้ฟื้นฟูเพลงขับร้องโบราณต่างๆ ที่กำลังจะสูญหายให้มีบทบาทในการขับร้องขึ้นอีกครั้ง เช่น เพลงโคมเวียนทางหม่อมมาลัยตำรับวังสวนกุหลาบ เพลงเขาวง ลมหวน ฝรั่งแดง เป็นต้น ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านภาษาไทย กรมสามัญศึกษา จากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่หลากหลาย ได้เป็นที่ประจักษ์ในวงการศิลศิลป์ไทย ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย ประกอบกับการสร้างสรรค์ผลงานอยู่เป็นเนืองนิตย์ภายใต้รากฐานทางวัฒนธรรมของไทย ทั้งเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม อุทิศตนเพื่อประโยชน์ ทางการศึกษาและสังคมอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลามากกว่า ๖๐ ปี
ครูทัศนีย์ ขุนทอง ได้ชื่อว่ารอบรู้หลักการคีตศิลป์ไทยทุกแขนง และเป็นผู้พัฒนาร่างหลักสูตรรายวิชาคีตศิลป์ไทย และดุริยางคศิลป์ เป็นหนึ่งในแม่แบบสำคัญที่ยังคงทำงานที่รัก โดยไม่ปล่อยให้อายุเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงาน ถึงแม้ปัจจุบันวัยล่วงเลยกว่า 70 ปี แต่ท่านยังคงใช้ชีวิตหลังเกษียณในการถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรี คีตศิลป์ ให้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอ และจะสอนต่อไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว นอกจากนี้ท่านยังเป็นหนึ่งในผู้ขับร้องเพลงในการแสดงดนตรีไทย โดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ ที่กำหนดจะจัดแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพ ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเนื่องในโอกาสวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๘๓ ปี ของครูทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์ ) พุทธศักราช ๒๕๕๕ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติผู้เป็นแม่พิมพ์ของชาติด้านคีตศิลป์
..............................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๕