กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
โบตั๋น ดอกไม้งามแห่งวงการวรรณกรรม

วันที่ 13 ส.ค. 2565
 

     "โบตั๋น” คือ ราชินีแห่งดอกไม้อันหอมหวนในฐานะนักประพันธ์ ซึ่งเป็นเจ้าของบทประพันธ์นวนิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า อาทิ ทองเนื้อเก้า บัวแล้งน้ำ กว่าจะรู้เดียงสา ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด กลิ่นดอกส้ม สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ผลงานอันคมคายเหล่านี้เป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่า ให้ทั้งสาระความบันเทิง และสะท้อนสภาพปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการส่งเสริมศีลธรรมอันดี
 
     "โบตั๋น” เป็นนามปากกาของ นางสุภา (ลือศิริ) สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๒ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ตำบลบางจาก อำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมรสกับนายวิริยะ สิริสิงห มีบุตรธิดา ๒ คน คือ คุณสุวีริยา และคุณภาวสุ สิริสิงห นางสุภาเริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะไปทำงานเป็นเลขานุการในหน่วยงานราชการของรัฐเกือบ ๒ ปี หลังจากนั้นเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็ก ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ยุคที่ อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ ทำได้เพียง 3 ปีก็ลาออกไปทำงานแปลกับบริษัทกับบริษัทประชาสัมพันธ์ของชาวต่างประเทศพักหนึ่ง ก่อนจะมาร่วมงานกับคุณ นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการหนังสือสตรีสาร ทำสตรีสารภาคพิเศษสำหรับเด็ก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๕ -๒๕๒๐พร้อมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจแบบเรียนของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๙ ไปด้วย จากนั้นลาออกมาตั้ง สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งจัดพิมพ์เฉพาะหนังสือเด็ก ต่อมาได้ตั้ง สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น ขึ้นมาแทน ชมรมเด็ก ที่เปลี่ยนบทบาทเป็นบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือเด็กโดยมี นายวิริยะ สิริสิงห สามีของเธอเป็นผู้บริหาร ส่วนนางสุภาทำหน้าที่คัดเลือกต้นฉบับและใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนนวนิยายและเรื่องสำหรับเด็ก
 
     นางสุภา หรือ โบตั๋น เริ่มเส้นทางนักเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ ขณะที่ยังเรียนหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยผลงานเขียนเรื่องสั้นชื่อ "ไอ้ดำ” ลงในนิตยสารขวัญจิต ใช้นามปากกาว่า "ทิพเกสร” แต่ใช้นามปากกานี้เพียงครั้งเดียวต่อมาใช้นามปากกา "โบตั๋น” เขียนนวนิยายขนาดสั้นชื่อ น้ำใจ ตีพิมพ์ในสตรีสาร เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๐๘ จากนั้นจึงใช้นามปากกานี้เรื่อยมาและเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดจากเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารระหว่างปี ๒๕๑๑-๒๕๑๒ นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและประสบความสำเร็จได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่น จากองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกกันว่า "รางวัลซีโต้” หรือ รางวัล "ส.ป.อ.” ประจำปี ๒๕๑๒ จากนั้นมาประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๔๐ ชื่อเสียงก็เริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เรื่องที่ชาวบ้านชอบที่สุดคือเรื่อง ทองเนื้อเก้า กับ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ช่วงนั้นดังสุดๆ ตามมาด้วยอีกหลายเรื่อง อาทิ บัวแล้งน้ำ เกิดแต่ตม ตะวันชิงพลบ กว่าจะรู้เดียงสา เป็นต้น ระยะหลังได้หันไปเขียนหนังสือเด็ก และแปลหนังสือจากภาษาต่างประเทศ สำหรับงานเขียนของโบตั๋นแต่ละเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่มากระทบจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจที่อยากจะเขียน เวลาเห็นอะไรนิดหนึ่งที่มากระทบ เราจะรู้สึกตรงนั้นได้ทันที ก็จะนำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเขียนโดยเกิดมาจากจินตนาการของตัวเราเอง เช่น เรื่อง "ทองเนื้อเก้า” ที่นางสุภาเห็นชีวิตเด็กที่แม่เขาใช้ชีวิตเละเทะ ในสวนที่บางแวกใกล้บ้านจะมีเพื่อนบ้านคนหนึ่ง เขาเป็นลูกชาวสวนเก่า มีสามีมามากไม่รู้กี่คนต่อกี่คน หายออกจากบ้านไปพักหนึ่งก็ท้องกลับมา เอาลูกมาให้ยายเลี้ยงคนแล้วคนเล่าเรียกว่ามีลูกเป็นพรวน อึ ฉี่ เรี่ยราด แต่บังเอิญลูกชายคนโตของเขาเป็นคนดี ขยันขันแข็ง ผิดกับแม่เหมือนไม่ใช่แม่ลูกกัน วันหนึ่งเด็กคนนี้ก็ไปบวช แล้วกลับมาบิณฑบาต เห็นความแตกต่างเหมือนฟ้ากับเหว การที่เขาได้เป็นพระ เป็นเณร ทำให้เขางดงามมาก เลยเอามาเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้ส่งผลให้ คุณแก้ว อภิรดี ภวภูตานนท์ ซึ่งเข้ามาเล่นละครในยุคแรกๆ รับบทเป็น ลำยอง โด่งดังเป็นพลุแตก
 
     นอกจากนี้มีผลงานการประพันธ์ที่รวมเล่มและได้รับความนิยมอีกหลายเรื่อง ได้แก่ กลิ่นดอกส้ม กัณหา ชาลี เกิดแต่ตม ซุ้มสะบันงา ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก ด้วยสายใยรัก ดอกกระถินริมรั้ว ดอกไม้ริมทางดั่งสายน้ำไหล ดาวแต้มดิน เดนมนุษย์ ตราไว้ในดวงจิต ตะวันชิงพลบ ถนนสายสุดท้าย ทิพย์ดุริยางค์ นะหน้าทอง นวลนางข้างเขียง น้ำใจ (นวนิยาย) บัวแล้งน้ำ บ้านสอยดาว ปลาหลงน้ำ ปลายฝนต้นหนาว ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ฯลฯ โดยมีรางวัลกันตีมากมามาย อาทิ นวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นปี ๒๕๑๒ ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ได้รับการแปลมาแล้ว ๑๐ ภาษา ไผ่ต้องลม ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๓ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๔ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทองเนื้อเก้า ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๒๙ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก่อนสายหมอกเลือน ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี ๒๕๓๐ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ลูกไก่แสนสวย ได้รับรางวัลดีเด่นหนังสือเด็กเริ่มอ่าน ประจำปี ๒๕๑๖ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ นกบินไม่ได้ ได้รับรางวัลชมเชยสารคดีสำหรับเด็กประจำปี ๒๕๒๒ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และสวนสวรรค์ ได้รับรางวัลชมเชยหนังสืออ่านสำหรับเด็ก อายุ ๓-๖ ขวบ ประจำปี ๒๕๓๑ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นต้น และเนื่องในโอกาสวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๗๗ ปี ของ นางสุภา (ลือศิริ) สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์ที่งดงาม สะท้อนวิถีชีวิตของคนในสังคมหลากหลายรสชาติ ผ่านตัวตัวละครที่สร้างขึ้นในจินตนาการให้มีน้ำหนัก จังหวะความรู้สึก มีเลือดเนื้อ มีตัวตน มีจิตวิญญาณ และซาบซึ้งกินใจคุณผู้อ่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 
...............................................
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)