"อัศศิริ ธรรมโชติ” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผู้สามารถนำชีวิตและประสบการณ์อันเข้มข้นของความเป็นนักหนังสือพิมพ์มาถ่ายทอดสะท้อนผ่านตัวอักษรสู่งานที่เขียนสร้างสรรค์ประเภทเรื่องสั้นและ นวนิยายได้อย่างมีคุณภาพและได้อรรถรส
นายอัศศิริ ธรรมโชติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๓ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๐ ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร แต่ไปเติบโตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธุการ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๕ ที่โรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ยังไม่ทันจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เนื่องจากบิดามารดาที่เป็นชาวประมงประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา จากนั้นตั้งใจจะสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สอบไม่ได้จึงใช้เวลาสองปีกับการทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จังหวัดสกลนคร นครพนม และเพชรบูรณ์ โดยมีหน้าที่ทำแผนที่หมู่บ้านเพื่อการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๕๑๓ และกลับมาสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ภายหลังสำเร็จการศึกษาก็ทำงานเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ในหนังสือและนิตยสารหลายฉบับ อาทิ ประชาชาติรายวัน สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มาตุภูมิ สู่อนาคต และยุติการทำงานประจำใน พ.ศ. ๒๕๔๑ หลังจากนั้นก็ใช้ความรู้ความสามารถทางการประพันธ์เขียนบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์ อาทิ เรื่อง "ขุนเดช” ของสุจิตต์ วงศ์เทศ และ "แม่นากพระโขนง”
การเป็นนักเขียนของ นายอัศศิริ ธรรมโชติ เริ่มขึ้นขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๒ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาศัยข้อมูลจากประสบการณ์และวัตถุดิบจากการทำงานที่ภาคอีสานมาเขียนเป็นเรื่องสั้น ชื่อ "สำนึกของพ่อเฒ่า” และได้รับรางวัลอันดับสาม จากการประกวดชิงรางวัล "พลับพลามาลี”จัดโดยชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ จากนั้นก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องที่สะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง และมีหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ "ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ทำให้อัศศิริได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ประจำปี ๒๕๒๔ นับเป็นนักเขียนเรื่องสั้นของไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ จากนั้นก็มีผลงานรวมเล่มอีกหลายเล่ม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน กว่า ๒๑ เล่ม โดยผลงานส่วนใหญ่มักสะท้อนความเข้าใจโลกและและชีวิตอย่างลึกซึ้ง ผ่าน มุมมอง แง่คิด และประสบการณ์ชีวิตที่ตกผลึกในฐานะนักเขียน ผสมผสานกับภาพชีวิตของคนอื่นผ่านสายตาของการเป็นนักข่าวทำให้ผลงานกลายเป็นเรื่องแต่งที่ทรงพลัง และมีการใช้ภาษาที่งดงาม สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของเรื่อง เห็นเป็นภาพ ได้ยินเป็นเสียงและมีพลังอย่างยิ่ง พร้อมทั้งได้อารมณ์ความรู้สึกเมื่อมีโอกาสได้อ่านงานเขียนของอัศศิริ จะเกิดความภาคภูมิใจในความงามและพลังของภาษาไทย นับได้ว่าเป็นแบบอย่างของการใช้สุนทรียภาษาในเรื่องที่แต่งได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างผลงานรวมเล่มที่เป็นที่รู้จักของผู้อ่านได้แก่ ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ขอบฟ้าทะเลกว้าง เหมือนทะเลมี บ้านริมทะเล โลกสีน้ำเงิน ผู้หญิง คนแก่ เด็ก แมว และผม ชีวิตคือวัยอันผ่านพ้น ทะเลร่ำลมโศก และหลายๆครั้งในชีวิต ฯลฯ
ปัจจุบัน นายอัศศิริ ธรรมโชติ เป็นนักเขียนอิสระ มีงานเขียนทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความตีพิมพ์ต่อเนื่อง เพระจนวันนี้ก็ยังมีวัตถุดิบอีกมากที่อยากเขียนและสะท้อนผ่านวรรณกรรม และเนื่องในโอกาสวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นวันครบรอบวันเกิด ๗๕ ปี ของนายอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๓ ขอร่วมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์ผลงานวรกรรมอันทรงคุณค่าที่สะท้อนออกมาผ่านงานเขียนอันหลากหลายด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่งดงาม
......................................................